เซโรโทนิน (Serotonin)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 23 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ไมเกรน (Migraine)
- เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists)
- ออนดาเซทรอน (Ondasetron)
เซโรโทนิน หรือ ซีโรโทนิน (Serotonin) หรืออีกชื่อ คือ 5-hydroxytryptamine ย่อว่า 5-HT เป็นสารชีวเคมี (Biochemical substance) ที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารสื่อประสาทและเป็นฮอร์โมน ทั้งนี้พบสารเซโรโทนินได้ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย
สารเซโรโทนินเป็นสารที่ร่างกายสร้างจากโปรตีนที่เป็นกรดอะมิโนชื่อ Tryptophan โดยประมาณ 80 - 90% จะถูกสร้างและอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ที่เหลือจะสร้างที่สมอง และอาจพบสร้างได้ที่ตับและไต ส่วนเกล็ดเลือดจะสะสมเซโรโทนินในเลือดไว้ และจะปล่อยออกมาเมื่อหลอดเลือดเกิดการบาดเจ็บเพื่อช่วยให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดเพื่อช่วยหยุดการเลือดออก ทั้งนี้ตับจะมีหน้าที่เผาผลาญเปลี่ยนโครง สร้าง (Metabolite) ของเซโรโทนิน และร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะ
สารเซโรโทนินมีหน้าที่มากมาย หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมองเช่น เกี่ยวข้องกับอารมณ์ต่างๆ ความสุข ความเจ็บปวด อารมณ์ทางเพศ การอยากอาหาร การหิว การอิ่ม การคลื่นไส้ การนอนหลับ และการรับรู้ต่างๆ
หน้าที่ของเซโรโทนินที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารเช่น การเคลื่อนไหว การทำ งานของกระเพาะอาหารและลำไส้ กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยต่างๆของกระเพาะอาหารและลำไส้ และกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้
หน้าที่ของเซโรโทนินที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อเรียบที่สำคัญคือ กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อบีบตัว ส่งผลให้หัวใจบีบตัว และหลอดเลือดหดตัว จึงมีผลต่อความดันโลหิต
หน้าที่อื่นๆเช่น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ เป็นต้น การที่เซโรโทนินจะทำงาน/ออกฤทธิ์ได้ เนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นต้องมีตัวรับที่เรียกว่า ตัวรับ เซโรโทนิน (Serotonin receptor หรือ 5HT receptor) ที่จะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของเนื้อเยื่อ และให้การทำงานที่ต่างกันออกไป ซึ่งตัวรับเซเรโทนินนี้มีได้หลากหลาย เช่น 5HT 1 ถึง 5HT 7 receptor นอกจากนี้แต่ละตัวรับย่อย ยังมีตัวรับย่อยๆอีกหลากหลายที่ใช้ชื่อเป็นตัวอักษรเพิ่มเข้าไป เช่น 5HT1A, 5HT1B ฯลฯ เป็นต้น
อนึ่ง:
- การเสียสมดุลของสารเซโรโทนินในร่างกายเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดอาการโรคซึมเศร้า และอาการโรคไมเกรน ซึ่งทางการแพทย์ได้นำความรู้ในเรื่องของสารเซโรโทนินมาผลิตเป็นยารักษาโรคต่างๆเช่น ยารักษาทางจิตเวช (เช่น โรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรคซึมเศร้า เช่น ยาต้านเซโรโทนิน/Serotonin antagonists), ยาออนดาเซทรอน/Ondasetronแก้คลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา, ยาTriptans (ยาบรรเทาอาการโรคไมเกรน) เป็นต้น
- อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ชนิดต่างๆของ Serotonin receptor ได้ในเว็บ haamor.com บทความชื่อ ซีเล็คทีฟ ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Selective serotonin receptor agonists)
บรรณานุกรม
- http://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin [2018,Feb3]
- http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/serotonin [2018,Feb3]
Updated 2018, Feb3