เซโฟเพอราโซน (Cefoperazone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เซโฟเพอราโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซโฟเพอราโซนอย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซโฟเพอราโซนอย่างไร?
- เซโฟเพอราโซนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
- Disulfiram like reactions
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ
ยาเซโฟเพอราโซน (Cefoperazone หรือ Cefoperazone sodium)เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มยา เซฟาโลสปอริน/Cephalosporin รุ่นที่3 (Third-generation) มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยมีกลไกยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ยานี้สามารถรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Pseudomonas ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น และยานี้มักใช้ร่วมกับยา Sulbactam(ยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง) ทางคลินิก จะใช้ยาเซโฟเพอราโซนเพื่อรักษา การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบ ทางเดินปัสสาวะ โรค/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง โรคติดเชื้อในช่องท้อง โดยในแต่ละโรคจะมีขนาดการใช้ยานี้ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเซโฟเพอราโซน จะเป็นยาฉีด ที่มีการเตรียมยาโดยผสมตัวยานี้กับสารละลาย 5% Dextrose injection หรือกับสารละลาย Sodium chloride หรือกับน้ำกลั่น (Sterile water for injection)
สำหรับข้อห้ามใช้ของยาเซโฟเพอราโซน คือห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเซโฟเพอราโซน หรือแพ้ยากลุ่มเซฟาโรสปอริน
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเซโฟเพอราโซน อาจทำให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ใหญ่ตาย จนส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ที่ชื่อ Clostridia และทำให้มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบตามมา หากพบอาการลำไส้ใหญ่อักเสบหลังจากใช้ยานี้ ต้อง รีบให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
จากการศึกษาเรื่องการใช้ยาเซโฟเพอราโซน กับสตรีตั้งครรภ์พบว่า ยานี้ไม่ก่อให้เกิดการวิกลรูป(ความพิการ)ของทารกในครรภ์ หรือการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร พบว่า ตัวยานี้สามารถซึมผ่านน้ำนมมารดา และถูกส่งผ่านไปยังทารกได้ ดังนั้นการใช้ยา เซโฟเพอราโซนกับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในการใช้ยาเซโฟเพอราโซนกับเด็ก ซึ่งถือเป็นข้อที่ควรหลีกเลี่ยงอีกประการหนึ่ง
ยาเซโฟเพอราโซน อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย อย่างเช่น ระบบเลือด ตับ ระบบทางเดินอาหาร และไต ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคของอวัยวะต่างๆดังกล่าว
ขนาดการใช้ยาเซโฟเพอราโซนโดยทั่วไป อยู่ในช่วง 2 – 4 กรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 2 ช่วงเวลา หรือทุกๆ 12 ชั่วโมง ส่วนระยะเวลาของการใช้ยานี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของเชื้อโรค เช่น การรักษาอาการป่วยจาก เชื้อ Streptococcus pyogenes ต้องใช้เวลาของการให้ยา 10 วันเป็นอย่างต่ำ เป็นต้น
ยาเซโฟเพอราโซนสามารถเกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอื่นๆได้ เช่น ยา Aminoglycoside และถือเป็นข้อห้ามใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ผสมร่วมกันโดยตรงในขวดยาเดียวกัน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้สูตรตำรับยาเซโฟเพอราโซนกับตัวยา Sulbactam sodium บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐบาล-เอกชนได้ทั่วไป และการเลือกใช้ยานี้ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
เซโฟเพอราโซนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรียชนิด Streptococcus pneumoniae, Hemophilus influenza, Staphylococcus aureus, Streptococcus pyogenes, Pseudomonas aeruginosa, Klebsiella pneumonia, Escherichia coli, Proteus mirabilis, Enterobacter species
- รักษาการติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้องที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa, Anaerobic gram-negative bacilli, Bacteroides fragilis
- รักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Streptococcus pneumoniae, Streptococcus agalactiae, Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa, Escherichia coli, Klebsiella pneumonia, Proteus species, Clostridium species, Anaerobic gram-positive cocci
- รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนังที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Staphylococcus aureus,Streptococcus pyogenes, Pseudomonas aeruginosa
- รักษาการติดเชื้ออุ้งเชิงกราน หรืออวัยวะของระบบสืบพันธุ์ในสตรี ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae, Staphylococcus epidermidis, Streptococcus agalactiae, Clostridium species, Bacteroides species, Anaerobic gram-positive cocci, Escherichia coli, Pseudomonas aeruginosa
เซโฟเพอราโซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซน มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาเซโฟเพอราโซนจะรบกวนการสังเคราะห์สารเปปทิโดไกลแดน(Peptidoglycan) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์แบคทีเรีย จึงส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
เซโฟเพอราโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดขนาด 1 หรือ 2 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีดที่ผสมร่วมกับตัวยา Sulbactam เช่น Cefoperazone 500 มิลลิกรัม + Sulbactam 500 มิลลิกรัม/ขวด
เซโฟเพอราโซนมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซนมีขนาดบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 1 – 2 กรัม/วัน โดยแบ่งการให้ยาทุก 12 ชั่วโมง กรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง แพทย์อาจต้องใช้ยาถึง 8 – 12 กรัม/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซโฟเพอราโซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆอย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซโฟเพอราโซน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาต่างๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยา เซโฟเพอราโซน จะกระทำแต่ในสถานพยาบาลที่มีบันทึกการใช้ยาอย่างเป็นระบบมาตรฐาน การลืมฉีดยาให้ผู้ป่วยจึงเกิดขึ้นได้ยากมากๆ กรณีที่ผู้ป่วยมีข้อสงสัยว่ายังไม่ได้รับยานี้ สามารถสอบถามกับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการได้ทุกเวลา
เซโฟเพอราโซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophil ต่ำและมีฮีโมโกบิน(Hemoglobin)ลดลง
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงเพิ่มขึ้น เช่น ค่า Serum glutamic-pyruvic transaminase
- ผลต่อไต: เช่น ระดับสารครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูงขึ้น
มีข้อควรระวังการใช้เซโฟเพอราโซนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโฟเพอราโซน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Cephalosporin
- การใช้ยานี้กับเด็กต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเพนิซิลิน เพราะอาจแพ้ยานี้ได้
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไต – ตับทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคระบบทางเดินน้ำดีอุดตัน
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซโฟเพอราโซนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซโฟเพอราโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซโฟเพอราโซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซโฟเพอราโซนร่วมกับยา Amikacin ด้วยสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อไตของผู้ป่วยได้
- ห้ามใช้ยาเซโฟเพอราโซนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยเสี่ยงต่อ การเกิดภาวะ Disulfiram like reactions หรือมีอาการหัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน
- การใช้ยาเซโฟเพอราโซนร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดอย่าง Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น ห่วงยางอนามัยชาย
- การใช้ยาเซโฟเพอราโซนร่วมกับยาProbenecid อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาเซโฟเพอราโซนมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาเซโฟเพอราโซนอย่างไร?
สามารถเก็บยาเซโฟเพอราโซนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ยาที่ผสมเป็นสารละลายแล้วสามารถเก็บได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ที่ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เซโฟเพอราโซนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซโฟเพอราโซนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bacticep (แบคทิเซฟ) | M & H Manufacturing |
Cebactam (ซีแบกแทม) | L.B.S. |
Cefobid IM/IV (เซโฟบิด ไอเอ็ม/ไอวี) | Pfizer |
Cefozone (เซโฟโซน) | Atlantic Lab |
Cefpar SB (เซฟปาร์ เอสบี) | KAPL |
Cefper (เซฟเปอร์) | Biolab |
Prazone-S(พราโซน-เอส) | Venus Remedies |
Sulcef (ซัลเซฟ) | Siam Bheasach |
Sulperazon (ซัลเพอราโซน) | Pfizer |
Sulpermed (ซัลเพอรเมด) | Millimed |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cefoperazone [2016,Oct8]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/85#item-8594 [2016,Oct8]
- http://drug.pharmacy.psu.ac.th/article/file/225_CEFOPERAZONE%20SODIUM%20plus%20sulbactam.pdf [2016,Oct8]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/cefoperazone,cefobid-index.html?filter=2&generic_only= [2016,Oct8]