เซโฟตีแทน (Cefotetan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซโฟตีแทน(Cefotetan หรือ Cefotetan disodium) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม ยาเซฟามัยซิน(Cephamycin) มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบ(Gram-negative bacteria)และชนิดแกรมบวก (Gram-positive bacteria) รวมถึงกลุ่มชนิดแอนแอโรบ (Anaerobes, แบคทีเรียที่ไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต) แบคทีเรียกลุ่มเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ผิวหนัง กระดูก ไต ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินขับปัสสาวะ รวมถึงใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการผ่าตัด

ยาเซโฟตีแทน มีกลไกออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดชนิดผงที่ต้องนำมาละลายในสารละลายยาก่อนใช้ยานี้ ตัวยาเซโฟตีแทนไม่สามารถต่อต้านอาการป่วยจากเชื้อไวรัสได้ อย่างเช่น การป่วยจากไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไป ถ้าการใช้ยานี้ทำได้ถูกต้องและตรงกับเชื้อที่มีการตอบสนองกับยาเซโฟตีแทน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วันหลังได้รับยานี้ สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยจะต้องได้รับยานี้จนครบเทอมของการรักษาถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยา

ผลข้างเคียงที่พบและเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะเซโฟตีแทน คือ อาการท้องเสียที่ไม่รุนแรงมากนัก

ส่วนข้อควรระวัง ข้อห้าม ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรเรียนรู้เกี่ยวกับยาเซโฟตีแทนมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคโลหิตจาง ด้วยเกิดจากการใช้ยาเซฟาโลสปอริน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับยานี้ อาจทำให้มีน้ำตาลในปัสสาวะได้มากขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้เพื่อที่แพทย์จะได้ปรับขนาดการใช้ยารักษาเบาหวานได้อย่างเหมาะสม
  • ยาเซโฟตีแทนจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงอาจทำให้มีภาวะเลือด ออกง่าย ดังนั้นระหว่างที่ได้รับยานี้แล้วเกิดอาการมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด ต้องรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาลทันที
  • การใช้ยาเซโฟตีแทน ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือด เช่น CBC การตรวจเลือดดูการทำงานของไต ทั้งนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบและป้องกันอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)แต่เนิ่นๆจากยานี้
  • หลังได้รับยานี้ ห้ามผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการหน้าแดง เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ และหัวใจเต้นเร็ว
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคบางชนิดที่ ยาเซโฟตีแทนไม่สามารถต่อต้านได้ แพทย์จะเป็นผู้ดูแลกำกับขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาเซโฟตีแทนได้ดีที่สุด
  • *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจเกิดอาการชัก กรณีดังกล่าว ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที

อนึ่ง ด้วยยาเซโฟตีแทนเป็นยาฉีด เราจึงพบเห็นการใช้ยานี้เฉพาะแต่ในสถานพยาบาล และต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ซึ่งในต่างประเทศยาเซโฟตีแทนจะถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Cefotan”

เซโฟตีแทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซโฟตีแทน

ยาเซโฟตีแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ ต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหลายชนิด อาทิ เช่น Escherichia coli, Haemophilus influenzae, Klebsiella species, Morganella morganii, Neisseria gonorrhoeae, Proteus mirabilis, Proteus vulgaris, Providencia rettgeri, Serratia marcescens, Staphylococcus aureus, Staphylococcus epidermidis, Streptococcus agalactiae, Streptococcus pneumonia, Prevotella bivia, Prevotella disiens, Bacteroides fragilis, Prevotella melaninogenica, Bacteroides vulgates, Fusobacterium species

ทางคลินิก นำยานี้มาใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น

  • ใช้ระหว่างการผ่าท้องคลอดบุตร (Cesarean section)
  • รักษาอาการถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
  • รักษาการติดเชื้อของช่องท้อง (Intraabdominal infection เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • รักษาการติดเชื้อที่ข้อ(ข้ออักเสบติดเชื้อ /Joint infection) และกระดูกอักเสบ Osteomyelitis)
  • รักษาการอักเสบของอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
  • รักษาโรคปอดบวม (Pneumonia)
  • รักษากรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • รักษาการติดเชื้อของผิวหนัง (Skin or soft tissue infection)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อระหว่างทำหัตถการผ่าตัด (Surgical prophylaxis)
  • รักษาการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)

เซโฟตีแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซโฟตีแทน มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต หมดความสามารถของการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เซโฟตีแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซโฟตีแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วย Cefotetan ขนาด 1 และ 2 กรัม/ขวด

เซโฟตีแทนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซโฟตีแทนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. รักษาถุงน้ำดีอักเสบ และการติดเชื้อของช่องท้อง:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1–2 กรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาการใช้ยา 7–14 วัน กรณีที่โรครุนแรง แพทย์อาจให้ยา 2 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข. รักษาการติดเชื้อที่ข้อกระดูก(ข้ออักเสบติดเชื้อ):

  • - ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1–2 กรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ที่ 3–4 สัปดาห์ กรณีโรครุนแรง แพทย์อาจต้องใช้ยาขนาด 2 กรัม ฉีดเข้าหลอดเลือดดำทุก 12 ชั่วโมง และอาจต้องใช้ยานาน 6 สัปดาห์

ค. รักษาอาการกระดูกอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดfeหรือเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 1–2 กรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง โดยมีระยะเวลาการใช้ยา 4–6 สัปดาห์

ง. รักษาอาการอักเสบของอุ้งเชิงกราน(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1–2 กรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง อาจต้องใช้เวลารักษายาวนาน 14 วัน

ง. รักษาอาการปอดบวม:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1–2 กรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง และอาจต้องใช้ยานาน 7 วัน

จ. รักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 2 กรัม ทุก 24 ชั่วโมง กรณี โรครุนแรง แพทย์อาจให้ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ 2 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ที่ 14 – 21 วัน

ฉ. ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1–2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำครั้งเดียวก่อนเข้ารับการผ่าตัด 30–60 นาที

ช. รักษาการติดเชื้อในช่องทางเดินปัสสาวะ(โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ):

  • ผู้ใหญ่: กรณีที่โรคมีความรุนแรงต่ำ แพทย์อาจให้ฉีดยา 500 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 12 ชั่วโมง กรณีที่โรคมีความรุนแรงปานกลาง แพทย์อาจให้ฉีดยา 1–2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อทุก 24 ชั่วโมง กรณีที่โรคมีความรุนแรงมาก แพทย์อาจให้ฉีดยา 1–2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อทุก 12 ชั่วโมง โดยระยะเวลาการใช้ยาอยู่ที่ 3–7 วัน

อนึ่ง:

  • ในเด็ก: การใช้ยากับเด็กให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซโฟตีแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซโฟตีแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การฉีดยาเซโฟตีแทนจะกระทำในสถานพยาบาลโดยมีตารางการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ การลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

เซโฟตีแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซโฟตีแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ ชนิด Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวสูงหรือไม่ก็ต่ำ เกล็ดเลือดสูงหรือไม่ก็ ต่ำลง โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก มีเลือดออกได้ง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น การทำงานของตับผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้เซโฟตีแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโฟตีแทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Cyclosporin
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้ง แพทย์/พยาบาลทันที
  • ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ กรณีการถ่ายอุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบเทอมการรักษา ถึงแม้อาการจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันแรกรักษาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการเชื้อดื้อยา
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเฉพาะเชื้อ แบคทีเรีย ห้ามนำไปใช้รักษาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซโฟตีแทน ไม่สามารถต่อต้านได้อย่างเช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซโฟตีแทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซโฟตีแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโฟตีแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซโฟตีแทนร่วมกับยา Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเซโฟตีแทนร่วมกับวัคซีนป้องกันเชื้ออหิวาตกโรค ต้องเว้นระยะเวลา การใช้ยาเซโฟตีแทนครั้งสุดท้ายให้ห่างกัน 14 วัน ด้วยการใช้ยาร่วมกันกับวัคซีนนี้ จะทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนลดน้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซโฟตีแทนร่วมกับยาเม็ดโคุมกำเนิด เช่นยา Ethinyl estradiol ด้วยจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตั้งครรภ์ตามมา จึงควรใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเซโฟตีแทนร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซโฟตีแทน ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากยาเซโฟตีแทนตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และทำให้ไตทำงานผิดปกติ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเซโฟตีแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาเซโฟตีแทนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซโฟตีแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซโฟตีแทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
CEFOTAN (เซโฟแทน)GlaxoSmithKline

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Apatef

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/50588slr027_cefotan_lbl.pdf[2017,July15]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefotetan[2017,July15]
  3. https://www.drugs.com/cdi/cefotetan.html[2017,July15]
  4. https://www.drugs.com/dosage/cefotetan.html[2017,July15]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/cefotetan-index.html?filter=3&generic_only=[2017,July15]