เซเลโคซิบ (Celecoxib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเซเลโคซิบมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยาเซเลโคซิบออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเซเลคอซิบมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเซเลโคซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- ยาเซเลโคซิบมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาเซเลโคซิบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- มีข้อควรระวังและข้อห้ามการใช้ยาเซเลโคซิบไหม?
- ควรเก็บรักษายาเซเลโคซิบอย่างไร?
- ยาเซเลโคซิบมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โรคข้อ (Joint disease)
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS / Premenstrual syndrome)
- กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)
- ปวดประจำเดือน
บทนำ
ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มยาแก้ปวด พวกเดียวกับยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs, non- steroidal anti inflammatory drug)
ยาเซเลโคซิบมีสรรพคุณอย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเซเลโคซิบ เช่น
- บรรเทาอาการปวดกระดูก
- ปวดจากโรคข้อบางชนิด
- ปวดประจำเดือน
- และอาการปวดหลังการผ่าตัด
ยาเซเลโคซิบออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซเลโคซิบ คือ
- ยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglan din) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจ็บปวดในร่างกาย
ยาเซเลคอซิบมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซเลโคซิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแค็ปซูล ขนาด 200 และ 400 มิลลิกรัม
ยาเซเลโคซิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซเลโคซิบจัดเป็นยาอันตรายและมีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) มาก จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ขนาดของยาที่รับประทานควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
ยาเซเลโคซิบมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ของยาเซเลโคซิบ เช่น
- ผื่นคัน
- ปวดท้อง
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้
- ง่วงนอน
- อาจทำให้เกิด โรคไต โรคตับ และโรคหัวใจ ได้
ยาเซเลโคซิบมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ปฏิกิริยาระหว่างยาเซเลโคซิบกับยาตัวอื่น เช่น
- การกินยาเซเลโคซิบ ร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง จะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตน้อยลง และอาจก่อให้เกิดภาวะไตวาย ซึ่งยาลดความดันฯ เช่น ยา อะลาซีพริล (Alacepril), อีนาลาปริล (Enalapril), และ โลซาร์แทน (Losartan)
- การกินยาเซเลโคซิบ ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา วอร์ฟาริน (Warfarin sodium) เป็นต้น
- การกินยาเซเลโคซิบ ร่วมกับ ยาจิตเวช อาจเพิ่มผลอันไม่พึงประสงค์ของยาทางจิตเวชให้สูงขึ้นเช่น ยาลิเทียม (Lithium sulphate) เป็นต้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเซเลโคซิป ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซเลโคซิปอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้ อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยานั้นๆต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซเลโคซิป สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
มีข้อควรระวังและข้อห้ามในการใช้ยาเซเลโคซิบไหม?
ข้อควรระวังและข้อห้ามในการใช้ยาเซเลโคซิบ เช่น
ก. ข้อควรระวังในการใช้ยาเซเลโคซิบ คือ
- ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหาร/ กระเพาะอาหารอักเสบ และ ลำไส้อักเสบ เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะเหล่านี้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)ได้ง่าย
- ในโรคหืด (เพราะโรคอาจรุนแรงขึ้น)
- ในโรคความดันโลหิตสูง (เพราะอาจมีผลให้เกิดโรคหัวใจ หรือลดประสิทธิภาพของยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง)
- และในโรคโลหิตจาง/โรคซีด (เพราะเพิ่มโอกาสเลือดออกมากขึ้นจากแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้)
ข. ข้อห้ามใช้: ห้ามใช้ยาเซเลโคซิบใน
- ผู้ป่วยที่แพ้ยาตัวนี้ (การแพ้ยา)
- ห้ามใช้ยานี้กับยาแอสไพรินเพราะอาจลดประสิทธิภาพของยาแอสไพรินในการป้องกันโรคลิ่มเลือดของหลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดสมอง
- ห้ามใช้ในผู้ป่วย โรคตับ โรคหัวใจ โรคไต เพราะเพิ่มโอกาสให้โรคเหล่านี้อาการรุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ (เพราะอาจส่งผลให้เด็กในครรภ์เกิดความพิการหรือแท้งได้) และในหญิงให้นมบุตร (เพราะยาอาจปนออกมาในน้ำนมส่งผลอันไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้วต่อเด็กได้)
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซเลโคซิปด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาเซเลโคซิบอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเซเลโคซิบ เช่น
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด ความชื้น ความร้อน
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาเซเลโคซิบมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้า และบริษัทผู้ผลิตของยาเซเลโคซิบ เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Celebrex (เซเลเบรค) | Pfizer |
ยาเซเลโคซิบมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fcelecoxib%3fmtype%3dgeneric [2019,Dec21]
- https://www.mims.co.uk/drugs/musculoskeletal-disorders/musculoskeletal-paininflammation/celebrex[2019,Dec21]
- https://www.medsafe.govt.nz/Consumers/cmi/c/celebrex.pdf[2019,Dec21]