เซเฟม (Cephem)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เซเฟมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซเฟมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซเฟมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซเฟมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซเฟมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซเฟมอย่างไร?
- เซเฟมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซเฟมอย่างไร?
- เซเฟมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
- ยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)
- Cephamycin
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
บทนำ
ยาเซเฟม (Cephem) เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มใหญ่ของยาปฏิชีวนะกลุ่มเบต้า-แลคแทม(Beta-lactam antibiotic) ยาเซเฟมยังประกอบด้วยยาอีก 2 กลุ่มย่อย คือ ยาเซฟาโลสปอริน(Cephalosporin) และยาเซฟามัยซิน(Cephamycin) ซึ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ขอเปรียบเทียบความคล้ายและแตกต่างระหว่างยาทั้ง 2 กลุ่มย่อยดังนี้
ทั้งนี้ มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องค้นคว้าวิจัยเพิ่มจำนวนรายการของยากลุ่มนี้ ด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคมีการพัฒนาตนเองให้ทนต่อยารุ่นแรกๆทำให้การใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ/ยาปฏิชีวนะรุ่นเดิมใช้ไม่ได้ผลและด้อยประสิทธิภาพลง นอกจากนี้ยาแต่ละตัวก็ยังมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน หรือมีข้อจำกัดที่ใช้ไม่ได้กับเชื้อโรคบางกลุ่ม รวมถึงรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่มีทั้งแบบยาฉีดหรือยารับประทาน ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่ทำให้การรักษาโรคเห็นผลเร็วช้าแตกต่างกันออกไป
เซเฟมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซเฟมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น หู ผิวหนัง เนื้อเยื่ออ่อน ระบบทางเดินปัสสาวะ เยื่อหุ้มสมอง อวัยวะของระบบทางเดินหายใจ
- ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด
เซเฟมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกสำคัญในการออกฤทธิ์ของกลุ่มยาเซเฟมคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารประเภทเปบทิโดไกลแคน(Peptidoglycan,สารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลและกรดอะมีโน)ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของผนังเซลล์แบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการแบ่งตัว และไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแพร่พันธุ์อีกต่อไป
อนึ่ง ยาหลายตัวในกลุ่มยาเซเฟมยังสามารถทนต่อ เอนไซม์เบต้าแลคแทม(Beta-lactamase)ของแบคทีเรียชนิดมีฤทธิ์ต่อต้านยาเบต้า-แลคแทมกลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin) ได้อีกด้วย
เซเฟมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซเฟมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- Cephalosporin : มีทั้ง ยาฉีด ยารับประทานทั้งชนิดน้ำและแคปซูล
- Cephamycin : ส่วนมากจะพบเห็นในรูปแบบของยาฉีด
เซเฟมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซเฟมเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราได้ การใช้ยาเซเฟมตัวใดต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น สิ่งสำคัญหลังจากได้รับยากลุ่มเซเฟมภายใน 1–2 วันแล้วอาการดีขึ้น ผู้ป่วยยังคงต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษา เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค
ขนาดการใช้ยา/การบริหารยาเซเฟมในผู้ใหญ่และเด็กก็มีความแตกต่างกันออกไป แพทย์จะใช้ น้ำหนักตัว อายุ สภาพการทำงานของตับ ของไต และประวัติโรคประจำตัวผู้ป่วยมาเป็นเกณฑ์พิจารณาการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่รวมถึงขนาดยานี้ด้วย
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซเฟม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซเฟมอาจส่งผล ให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเซเฟม สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับยาเซเฟมต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา
เซเฟมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซเฟมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous colitis)
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ
- ผลต่อไต: เช่น มีCreatinineในเลือดสูง ไตวายเฉียบพลัน เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะต่างๆ เช่น Eosinophilia , Leukopenia , Granulocytopenia, Neutropenia ,Thrombocytopenia, โลหิตจางจากเม็ดเลือดแตก, และกดไขกระดูก
- ผลต่อตับ: เช่น มีระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
มีข้อควรระวังการใช้เซเฟมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซเฟม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลด่วน
- ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะ ท้องเสีย/ถ่ายเหลว/ถ่ายเป็นน้ำ กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรงต้องรีบรายงานและแจ้งแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
- ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบเทอมของการรักษาถึงแม้อาการจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันแรกก็ตาม
- ห้ามใช้ยาเซเฟมแบบฉีดที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
- ยากลุ่มเซเฟมใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส หรือ เชื้อรา
- การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ฉวยโอกาส เข้าเล่นงานร่างกาย เช่น เชื้อรา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุ บันทุกชนิด(รวมยากลุ่มเซเฟมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซเฟมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซเฟมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเซเฟมร่วมกับยาProbenecid จะทำให้การขับทิ้งของยาเซเฟมออกจากร่างกายลดลง ซึ่งอาจส่งผลเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากยานี้เช่นกัน
- การใช้ยาเซเฟมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulant) อาจทำให้ เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาเซเฟมร่วมกับกลุ่มยาAminoglycosides อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง กับไตของผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเซเฟมร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง ผู้ป่วยควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาเซเฟมอย่างไร?
ควรเก็บรักษาเซเฟมดังนี้
- เก็บยากลุ่มเซเฟมภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยาของยาแต่ละตัว ยาหลายรายการต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส (Celsius) แต่ยาหลายรายการก็สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เช่น 20–25 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามห้ามเก็บยาทุกชนิดในช่องแช่แข็งตู้เย็นเด็ดขาด
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
เซเฟมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซเฟม มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cefoxin (เซโฟซิน) | M & H Manufacturing |
Cefxitin (เซฟซิทิน) | Siam Bheasach |
CEFOTAN (เซโฟแทน) | GlaxoSmithKline |
Cedax (ซีแดกซ์) | MSD |
Cef-3 (เซฟ-3) | Siam Bheasach |
Cef-4 (เซฟ-4) | Siam Bheasach |
Cefadin (เซฟาดิน) | Atlantic Lab |
Cefamax (เซฟาแม็กซ์) | Siam Bheasach |
Cefamezin (เซฟาเมซิน) | Astellas Pharma |
Cefazillin (เซฟาซิลลิน) | T P Drug |
Cefazol (เซฟาซอล) | General Drugs House |
Cefazolin Meiji (เซฟาโซลิน เมจิ) | Meiji |
Cefclor T P (เซฟคลอร์ ทีพี) | T P Drug |
Cef-Dime (เซฟ-ไดม์) | Millimed |
Cefmandol (เซฟแมนดอล) | General Drugs House |
Cefobid IM/IV (เซโฟบิด ไอเอ็ม/ไอวี) | Pfizer |
Cefodime (เซโฟไดม์) | L. B. S. |
Cefomic (เซโฟมิก) | L. B. S. |
Ceforan (เซโฟแรน) | General Drugs House |
Cefox (เซฟอกซ์) | Utopian |
Cefoxin (เซโฟซิน) | M & H Manufacturing |
Cefozone (เซโฟโซน) | Atlantic Lab |
Cefspan (เซฟสแปน) | Astellas Pharma |
Ceftime (เซฟไทม์) | Utopian |
Ceftrex (เซฟเทร็กซ์) | Biolab |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cephem [2018,May5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/%CE%92-lactam_antibiotic [2018,May5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cephalosporin [2018,May5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cephamycin [2018,May5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cefaclor [2018,May5]