เซอร์ทินโดล (Sertindole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 สิงหาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เซอร์ทินโดลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ทินโดลอย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซอร์ทินโดลอย่างไร?
- เซอร์ทินโดลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคจิต (Psychosis)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ยารักษาทางจิตเวช ยาจิตเวช (Psychotropics drugs)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
บทนำ
ยาเซอร์ทินโดล(Sertindole)เป็นยาที่ใช้บำบัดโรคจิตเภท(Schizophrenia) ซึ่งมีลักษณะอาการต่างๆ เช่น หลงผิด ประสาทหลอน พูดน้อย เฉื่อยชา หรือชอบแยกตนเองออกจากสังคม ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ของสารสื่อประสาทในสมองและเกิดการปรับระดับของสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเภทดีขึ้น รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 75% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้โดยใช้เอนไซม์ CYP2D6 (Cytochrome P450 2D6) และ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ และจากธรรมชาติของการกระจายตัวยานี้ในร่างกายดังที่กล่าวมา ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยานี้เพียงวันละ 1 ครั้งก็เพียงพอต่อการออกฤทธิ์เพื่อควบคุมอาการทางจิตเภทได้แล้ว
ข้อจำกัดการใช้ยาเซอร์ทินโดลที่ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะโปแตสเซียมในเลือดต่ำ หรือ แมกนีเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ร่วมกับ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยากลุ่มแมคโครไลด์(Macrolides) ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน(Quinolone antibiotics) และยาลิเทียม(Lithium)
- ระหว่างการใช้ยาเซอร์ทินโดล ถ้าพบว่าผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)หลังได้รับยานี้ เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ตับทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว มีความดันโลหิตต่ำ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยามีผลทำให้ทารกในครรภ์วิกลรูป(พิการ)แต่กำเนิด
- ยานี้ถูกขับผ่านทางน้ำนมมารดาได้ จึงห้ามใช้กับสตรีในภาวะให้นมบุตรเพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านยานี้ไปยังทารก
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- *ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด ด้วยจะส่งผลเสีย/ผลข้างเคียงรุนแรงโดยตรงต่อหัวใจ และต่อความดันโลหิต อาการที่แสดงออกและสังเกตได้ชัดเจน คือ มีอาการ อาเจียน ง่วงนอนและพูดจาไม่ชัด กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรง
ระยะเวลาของการใช้ยาเซอร์ทินโดลหรือการปรับเพิ่มขนาดรับประทาน จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เพียงผู้เดียว และสำหรับผู้สูงอายุแพทย์จะกำหนดให้ใช้ยานี้ในขนาดต่ำๆเท่านั้น ด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่รุนแรงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
*อนึ่ง การใช้ยาบำบัดอาการทางจิตเภท จำเป็นต้องอาศัยญาติผู้ป่วยคอยให้ความช่วยเหลือดูแลการใช้ยานี้อย่างใกล้ชิด
กรณีที่มีข้อสงสัยของการใช้ยาเซอร์ทินโดล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป และจะพบเห็นการจัดจำหน่าย ยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Serdolect”
เซอร์ทินโดลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาและบำบัดอาการทางจิตเภท(Schizophrenia)
เซอร์ทินโดลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดล มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง แต่ยังไม่ทราบกลไกการทำงานของยานี้ที่ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่า ยานี้ส่งผลต่อสมดุลของสารสื่อประสาทต่างๆในสมองให้เป็นปกติมากขึ้น จากกลไกเหล่านี้ จึงทำให้อาการของผู้ป่วยจิตเภทดีขึ้น
เซอร์ทินโดลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Sertindole 4, 12, 16 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
เซอร์ทินโดลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: เริ่มรับประทานยา 4 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง และทุกๆ 4–5 วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 4 มิลลิกรัม โดยดูจากการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ขนาดรับประทานยาสูงสุดอยู่ที่ 24 มิลลิกรัม/วัน โดยยานี้สามารถรับประทานพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารก็ได้
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซอร์ทินโดล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซอร์ทินโดลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซอร์ทินโดล สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเซอร์ทินโดลบ่อยครั้ง จะทำให้อาการจิตเภทกลับมาเป็นใหม่ได้
เซอร์ทินโดลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจทำให้เกิดอาการชัก การควบคุมท่าทางของร่างกายผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูง อารมณ์ทางเพศถดถอย วิงเวียน ปวดศีรษะ ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น การทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ท้องผูก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น แน่น/คัดจมูก
มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ทินโดลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซอร์ทินโดล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และต้องใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ลงมา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบ อาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ และกรณีนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้น ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซอร์ทินโดลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซอร์ทินโดลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซอร์ทินโดลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเซอร์ทินโดลร่วมกับยา Fluoxetine , Paroxetine, ด้วยจะทำให้ระดับยาเซอร์ทินโดลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงต่างๆที่รุนแรงของยาเซอร์ทินโดล
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซอร์ทินโดลร่วมกับยา Valproic acid ด้วยจะทำให้ร่างกายกำจัดยาเซอร์ทินโดลออกจากร่างกายมากขึ้นจนส่งผลลดประสิทธิผลในการรักษาของยาเซอร์ทินโดลลง
ควรเก็บรักษาเซอร์ทินโดลอย่างไร?
ควรเก็บยาเซอร์ทินโดล ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เซอร์ทินโดลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซอร์ทินโดลมียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
SERDOLECT (เซอร์โดเล็ค) | H. Lundbeck |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Serlect
บรรณานุกรม
- https://www.fda.gov/downloads/advisorycommittees/committeesmeetingmaterials/drugs/psychopharmacologicdrugsadvisorycommittee/ucm161900.pdf[2017,Aug5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sertindole[2017,Aug5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/sertindole/?type=brief&mtype=generic[2017,Aug5]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB06144[2017,Aug5]