เซอร์ตาโคนาโซล (Sertaconazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- เซอร์ตาโคนาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ตาโคนาโซลอย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ตาโคนาโซลอย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซอร์ตาโคนาโซลอย่างไร?
- เซอร์ตาโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- อิมิดาโซล (Imidazole)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
- แคนดิไดอะซิส (Candidiasis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
บทนำ
ยาเซอร์ตาโคนาโซล(Sertaconazole หรือ Sertaconazole nitrate) เป็นยาต้านเชื้อรา กลุ่ม Imidazole ทางคลินิกใช้รักษาโรคเชื้อราตาม ผิวหนัง, เท้า, รวมถึงการติดเชื้อTrichomanas ของช่องคลอด(การติดเชื้อทริโคโมแนส) อีกด้วย, ตัวยามีกลไกออกฤทธิ์บริเวณเซลล์เมมเบรน/เยื้อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโต
สำหรับเชื้อราชนิดตอบสนองกับยาชนิดนี้ ได้แก่ Candida albicans, Epidermophyton floccosum, Trichophyton mentagrophytes, และ Trichophyton rubrum
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่นิยมใช้ของยาเซอร์ตาโคนาโซล ได้แก่ ยาทาผิวหนังภายนอกประเภทครีมและยาเหน็บช่องคลอด กรณียาทาอาจต้องใช้ยาต่อเนื่อง 3–6 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรคและคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร
อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาเซอร์ตาโคนาโซล ที่อาจพบได้บ่อย ได้แก่ อาการแสบคันหรือเกิดผิวหนังแห้ง
ทั้งนี้ อย.ของไทย(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ได้จัดให้ยาเซอร์ตาโคนาโซลอยู่ในกลุ่มยาอันตรายที่ต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และสามารถพบเห็นการจำหน่ายยานี้ตามร้านขายยาภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Zalain’
เซอร์ตาโคนาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาเซอร์ตาโคนาโซล:
- รักษาการติดเชื้อราตาม ผิวหนัง เท้า และช่องคลอด
เซอร์ตาโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อยาเซอร์ตาโคนาโซลสัมผัสกับเชื้อรา ตัวยาจะเข้ารบกวนบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ส่งผลปิดกั้นการสร้าง Sterol(สารสำคัญเพื่อดำรงชีวิตของเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา) ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Ergosterol การจำกัดการสร้าง Ergosterol เป็นเหตุให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อราปริแตกออก และเกิดการรั่วไหลของสารเคมีของเชื้อรา ก่อให้เกิดการสูญเสียพลังงาน(ATP) ที่เชื้อราใช้ดำรงชีวิตและทำให้เชื้อราตายลงในที่สุด
เซอร์ตาโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาเซอร์ตาโคนาโซล:
- ยาเหน็บช่องคลอด ที่ประกอบด้วยตัวยา Sertaconazole nitrate ขนาด 300 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาครีมทาผิวหนังที่ประกอบด้วยตัวยา Sertaconazole เข้มข้น 2% ขนาดบรรจุ 2 และ 5 กรัม/หลอด
เซอร์ตาโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเซอร์ตาโคนาโซลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อราที่ช่องคลอด:
- ผู้ใหญ่และวัยรุ่น: เหน็บยาที่ช่องคลอด 1 เม็ดก่อนนอนครั้งเดียว กรณีที่อาการติดเชื้อรายังไม่หายดี แพทย์อาจต้องให้เหน็บยาซ้ำครั้งที่สองหลังจากการเหน็บยาครั้งแรกไปแล้ว 1–2 สัปดาห์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ข. สำหรับการติดเชื้อราที่ ผิวหนัง, เท้า:
- ผู้ใหญ่:ทายาในบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อราต่อเนื่องวันละ 1–2 ครั้ง เช้า–เย็น ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ที่ 2–4 สัปดาห์หรือตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กต้องอยู่ในคำสั่งแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่าง หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซอร์ตาโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซอร์ตาโคนาโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมเหน็บยา/ทายาเซอร์ตาโคนาโซล สามารถเหน็บยา/ทายาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการใช้เป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
เซอร์ตาโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซอร์ตาโคนาโซล มีผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- กรณียาเหน็บช่องคลอด: อาจทำให้รู้สึกแสบคันขณะเหน็บยา ตลอดจนกระทั่ง เกิดภาวะปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- กรณียาครีมทาผิวหนัง: อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือคันตรงผิวหนังที่สัมผัสตัวยา
มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ตาโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้เซอร์ตาโคนาโซล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้เป็นยารับประทาน
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันกับผู้อื่น
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการผื่นคันเป็นบริเวณกว้างตามผิวหนัง
- ปฏิบัติตนโดยดูแลสุขลักษณะส่วนตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อราซ้ำตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซอร์ตาโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซอร์ตาโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ตัวยาเซอร์ตาโคนาโซลเป็นยาใช้ภายนอกร่างกาย จึงยังไม่มีรายงานอันตรกิริยาของยาเซอร์ตาโคนาโซลกับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาเซอร์ตาโคนาโซลอย่างไร?
ควรเก็บรักษาเซอร์ตาโคนาโซล เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
เซอร์ตาโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซอร์ตาโคนาโซล มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Zalain (ซาเลน) | Ferrer |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/21385_Ertaczo_lbl.pdf[2019,Aug31]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2014/021385s005lbl.pdf[2019,Aug31]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/zalain[2019,Aug31]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/zalain%20cream/?type=brief[2019,Aug31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sertaconazole[2019,Aug31]