เซลิโพรลอล (Celiprolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มิถุนายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- เซลิโพรลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซลิโพรลอลอย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซลิโพรลอลอย่างไร?
- เซลิโพรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
- โรคเรเนาด์ (Raynaud disease) หรือ ปรากฏการณ์เรเนาด์ (Raynaud phenomenon)
บทนำ
ยาเซลิโพรลอล (Celiprolol หรือ Celiprolol hydrochloride)อยู่ในหมวดยาเบต้าบล็อกเกอร์(Beta blocker) ทางคลินิกใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง และบำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซลิโพรลอลเป็นยารับประทาน และมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดอยู่ในช่วงประมาณ 30–70% ยานี้อยู่ในร่างกายได้ประมาณ 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกกำจัดทิ้งทางอุจจาระและปัสสาวะ
ยาเซลิโพรลอล มีกลไกการออกฤทธิ์ที่บริเวณหลอดเลือดโดยตัวยาจะทำให้หลอดเลือดมีการคลายหรือขยายตัว ส่งผลต่อปริมาณเลือดที่สูบฉีดมาจากหัวใจไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น จนทำให้ความดันโลหิตลดลง รวมถึงลดความเสี่ยงของเส้นเลือด/หลอดเลือดแตก และส่งผลให้หัวใจทำงานเบาลง ยาลดความดันโลหิต กลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ที่รวมยาเซลิโพรลอล ยังทำให้หลอดเลือดบริเวณไตมีการขยายตัว ซึ่งมีผลต่อปริมาณเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงไตเปลี่ยนแปลง และส่งผลต่อการกำจัดของเสียของไตดีขึ้น แต่ยาเซลิโพรลอลมีข้อที่แตกต่างจากยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ตัวอื่นๆคือ ไม่ทำให้อัตราหมุนเวียนของเลือดในบริเวณไตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
การใช้ยาลดความดันโลหิตสูงทั่วๆไปรวมถึงยาเซลิโพรลอล แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอขณะอยู่ในที่พักอาศัย หากพบว่า การใช้ยานี้ไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลในระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ เช่น ความดันโลหิตไม่ลดลง ผู้ป่วยควรต้องรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดรับประทานหรือไม่ก็เปลี่ยนตัวยาในการรักษาตามที่แพทย์จะเห็นสมควร
ยาเซลิโพรลอลมีข้อจำกัดการใช้กับผู้ป่วยอยู่หลายกลุ่ม อาทิเช่น ผู้ป่วยโรค หืด ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยโรคของหัวใจ ผู้ป่วยด้วยหัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยโรคไตที่มีค่ากำจัดสารครีเอตินินน้อยกว่า 15 มิลลิลิตร/นาที(Creatinine clearance less than 15 mL per minute) ผู้ป่วยโรคฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma) ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด(Metabolic acidosis) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ และผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือด ส่วนปลายคือหลอดเลือดบริเวณแขน-ขาตีบตันในขั้นรุนแรง ผู้ป่วยที่กล่าวมาทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและห้ามใช้ยาเซลิโพรลอล เพราะกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะยิ่งทำให้อาการป่วยดังกล่าวทวีความรุนแรงและเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยมากขึ้น
สำหรับผู้ที่ได้รับยาเซลิโพรลอลอาจพบเห็นอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการวิงเวียน รู้สึกร้อนวูบวาบ ง่วงนอนแต่ก็นอนไม่หลับ และอ่อนเพลีย อาการข้างเคียงบางอย่างอาจสร้างความรำคาญในการดำรงชีวิตแต่ก็ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเท่าใดนัก
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ควรหยุดใช้ยาเซลิโพรลอล แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น เกิดอาการหอบหืด มีผื่นคันขึ้นตามตัว ตาพร่ามองภาพไม่ชัดเจน เกิดประสาทหลอน ท้องเสียรุนแรง อาเจียนรุนแรง
ยาเซลิโพรลอล ยังก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยากลุ่มอื่นๆได้หลายประเภท โดยเฉพาะกลุ่มยา Calcium antagonists(Calcium channel blockers), MAOIs, Digitalis, Clonidine, Insulin, และ Mefloquine
ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่าตนเองมียาประเภทใดที่ใช้อยู่ก่อนหน้า เพื่อแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ได้ใช้เป็นข้อมูลและปรับแนวทางการบริหารยาเหล่านั้นกับผู้ป่วยได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เซลิโพรลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซลิโพรลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
เซลิโพรลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซลิโพรลอล มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อผนังหลอดเลือดในบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อว่า Beta1 และ Beta2 receptors ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือดคลายตัวหรือขยายตัวได้กว้าง ปริมาณเลือดจึงไหลเวียนผ่านหลอดเลือดได้สะดวกขึ้น ด้วยกลไกเหล่านี้ จึงทำให้เกิดฤทธิ์การรักษาได้ตามสรรพคุณ
เซลิโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
เซลิโพรลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Celiprolol HCl(Hydrochloride) ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
เซลิโพรลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซลิโพรลอลมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 200 มิลลิกรัม ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงหรือหลังอาหาร 2ชั่วโมง วันละ1ครั้ง แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังจากเริ่มใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 2–4 สัปดาห์ ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง ก่อนอาหารเช้า ประมาณอย่างน้อย 30 นาที
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
อนึ่ง: กรณีที่ใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเซลิโพรลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซลิโพรลอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซลิโพรลอล สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่าให้รับประทานยาในขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาเซลิโพรลอล อาจจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นตามมา
เซลิโพรลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซลิโพรลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว เกิดภาวะ Raynaud’s syndrome
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ประสาทหลอน รู้สึกสับสน ฝันร้าย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องเสีย คลื่นไส้
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือด ต่ำหรือไม่ก็สูง
มีข้อควรระวังการใช้เซลิโพรลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซลิโพรลอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้ผลข้างเคียงจากยานี้รุนแรงขึ้น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- หมั่นตรวจสอบความดันโลหิตอยู่เป็นประจำตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ หากพบว่าความดันโลหิตยังสูงโดยที่รับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายและติดตามผลการรักษาจากแพทย์ ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซลิโพรลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซลิโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซลิโพรลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาเซลิโพรลอลร่วมกับกลุ่มยา Calcium antagonists ด้วยจะทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
- ห้ามใช้ยาเซลิโพรลอลร่วมกับกลุ่มยา MAOIs เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซลิโพรลอลร่วมกับยา Insulin เพราะอาจทำให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาเซลิโพรลอลร่วมกับกลุ่มยา Sympathomimetic อย่างเช่นยา Adrenaline เพราะจะทำให้เกิดฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกันจนส่งผลลดประสิทธิผลของยาทั้ง2 ลง
ควรเก็บรักษาเซลิโพรลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาเซลิโพรลอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้น แสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เซลิโพรลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซลิโพรลอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Selectol (เซเล็กทอล) | Sanofi |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาเซลิโพรลอล เช่น Cardem, Selectol, Celipres, Celipro, Celol, Cordiax, Dilanorm