เซริทินิบ (Ceritinib)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 ตุลาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- เซริทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซริทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซริทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซริทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซริทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซริทินิบอย่างไร?
- เซริทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซริทินิบอย่างไร?
- เซริทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มะเร็งปอด (Lung cancer)
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non small cell lung cancer: NSCLC)
- ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยารักษาตรงเป้า (Targeted Cell Therapy)
- เอนไซม์อินฮิบิเตอร์ (Enzyme inhibitor drugs)
- มะเร็ง (Cancer)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
บทนำ
ยาเซริทินิบ(Ceritinib)เป็นยาที่ออกแบบมาเพื่อบำบัดอาการมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (Non-small cell lung cancer)ในระยะโรคที่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตแล้ว โดยยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท Novartis และขึ้นทะเบียนยาเมื่อปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) ยานี้ให้ประสิทธิผลการรักษาได้ดี แต่ก็มีพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกายมนุษย์มากเช่นเดียวกัน รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซริทินิบเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ร่างกายจะต้องใช้เวลาถึง ประมาณ 41 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและมีบางส่วนไปกับปัสสาวะ
ทั้งนี้ พอสรุปข้อควรระวังของการใช้ยาเซริทินิบที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ยานี้เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ สตรีที่ได้รับยานี้จึงต้องป้องกันการตั้งครรภ์ตลอดระยะเวลาที่รักษาด้วยยานี้และนับจากการใช้ยาเซริทินิบครั้งสุดท้ายยังคงต้องป้องกันการตั้งครรภ์ต่อเนื่องอีก 6 เดือน
- ยาเซริทินิบสามารถสร้างปัญหา/ผลข้างเคียงรุนแรงให้กับตับของมนุษย์ ดังนั้น ระหว่างการใช้ยานี้แล้วพบเห็นอาการปวดท้องทางด้านขวาตอนบน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เหนื่อย และหมดแรง/อ่อนเพลียมาก เกิดอาการฟกช้ำ/ห้อเลือดตามร่างกายหรือมีเลือดออกง่าย ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง ล้วนเป็นอาการที่เกิดจากตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบทั้งสิ้น กรณีเช่นนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- แพทย์ใช้ยาเซริทินิบรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตก็จริง แต่ตัวยาชนิดนี้ก็อาจสร้างปัญหาต่อการทำงานของปอดและของหัวใจได้เช่นเดียวกัน สังเกตจากการ มีอาการ เจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ มีไข้ กรณีเช่นนี้ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ยังมีโรคประจำตัวอีกหลายชนิดที่อาจเกิดอาการรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับยาเซริทินิบ ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบเสมอว่า ตนเองมีโรคประจำตัวใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การมีระดับเกลือแร่ (Electrolyte) ในร่างกายผิดปกติ(เช่น มีระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ และ/หรือ เกลือแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ) มีภาวะตับอ่อนอักเสบ หรือป่วยเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
- หากสตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาและต้องได้รับยาเซริทินิบ จะต้องหยุดให้น้ำนมของตนเองกับบุตรเพื่อเป็นการป้องกันการส่งผ่านตัวยานี้ไปยังทารก และต้องหันมาใช้นมผงดัดแปลงในการเลี้ยงทารกแทน การกลับมาใช้น้ำนมมารดาอีกครั้ง ต้องทิ้งระยะเวลาห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไปนับหลังการใช้ยานี้ครั้งสุดท้าย
- กรณีที่รับประทานยานี้แล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาจเจียน แพทย์อาจต้องให้ยา ป้องกันอาการดังกล่าวกับผู้ป่วย และอาจต้องปรับลดขนาดรับประทานของยาเซริทินิบ ลงมาตามความเหมาะสมกับอาการดังกล่าว
- ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้จนกระทั่งอาการป่วยของมะเร็งปอดดีขึ้น หรือจนกว่าจะสามารถควบคุมสภาวะการลุกลามของโรคฯได้
- จากความสัมพันธ์ของกลไกในร่างกายมนุษย์ที่ใช้ทำลายยาเซริทินิบ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภท Enzyme inhibitor เช่น Strong CYP3A inhibitor ร่วมกับตัวยาเซริทินิบ แต่หากมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องใช้ยาเซริทินิบร่วมกับกลุ่มยา CYP3A inhibitor ทางคลินิกแนะนำให้ปรับลดขนาดรับประทานของยาเซริทินิบเหลือเพียง 1 ใน 3 จากขนาดรับประทานปกติ ในแง่มุมของผู้ป่วย เมื่อเข้ารับการรักษาต้องแจ้งให้ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกรทราบทุกครั้งว่า ตนเองมีการใช้ยาชนิดใดอยู่ก่อนหน้านี้บ้าง
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายเป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย ทั้งนี้เพื่อ ควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายที่อาจได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงจากยาเซริทินิบ เช่น การทำงานของ ตับ หัวใจ ระบบทางเดินอาหารอย่างตับอ่อน ตลอดจนกระทั่งระดับน้ำตาลในเลือดที่อาจสูงกว่าปกติ
ยาเซริทินิบที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ถูกจัดไว้ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ และมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น จะไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป ผู้บริโภคสามารถพบเห็นยาเซริทินิบภายใต้ยาชื่อการค้า ว่า “Zykadia”
เซริทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซริทินิบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้บำบัดรักษาอาการมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตระยะแพร่กระจาย (Anaplastic Lymphoma Kinase -positive metastatic non-small cell lung cancer)
เซริทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซริทินิบเป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า Anaplastic lymphoma kinase inhibitors อาจกล่าวให้เข้าใจง่ายๆว่า ตัวยาชนิดนี้ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีผลต่อสารพันธุกรรม(Gene) ในการผลิตโปรตีนที่ใช้เพิ่มปริมาณของเซลล์ที่มีชีวิตที่เรียกเอนไซม์นี้ว่า Anaplastic lymphoma kinase ตัวยาเซริทินิบสามารถรบกวนกระบวนการดังกล่าวกับเซลล์มะเร็งปอด ส่งผลลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งปอดฯ จึงทำให้หยุดหรือชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโตและเป็นผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามมา
เซริทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
เซริทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Ceritinib ขนาด 150 มิลลิกรัม/แคปซูล
เซริทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเซริทินิบ มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 750 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงตามเวลาในแต่ละวัน ทั้งนี้เพื่อคงระดับยาในกระแสเลือดให้มีความสม่ำเสมอและสามารถออกฤทธิ์ในการรักษาได้เต็มที่
- กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาชนิดนี้ แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลดลงครั้งละ 150 มิลลิกรัม ดังนี้
1 เริ่มต้นรับประทานยา 750 มิลลิกรัม/วัน
2 การลดขนาดรับประทานครั้งที่ 1 เหลือ 600 มิลลิกรัม/วัน
3 การลดขนาดรับประทานครั้งที่ 2 เหลือ 450 มิลลิกรัม/วัน
4 การลดขนาดรับประทานครั้งที่ 3 เหลือ 300 มิลลิกรัม/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา เซริทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซริทินิบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเซริทินิบ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ กรณีลืมรับประทานยานานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป หรือเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดรับประทานปกติตรงตามเวลาเดิมโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
เซริทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซริทินิบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับฮีโมโกลบินลดลง ระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
- ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดสูง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เอนไซม์ไลเปส(Lipase, เอนไซม์การทำงานของตับอ่อน กระเพาะอาหาร ที่ใช้ย่อยไขมัน)สูงขึ้น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดโรคของระบบประสาท/โรคสมอง
- ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจเต้นช้า
มีข้อควรระวังการใช้เซริทินิบอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซริทินิบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาเซริทินิบ
- ห้ามใช้ยาเซริทินิบร่วมกับยา Carbamazepine, Phenytoin, Rifampin, ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาเซริทินิบลดลง
- ห้ามการตั้งครรภ์ระหว่างที่ใช้ยาเซริทินิบ
- ห้ามเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของมารดาเมื่อมารดาต้องใช้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
- รับประทานยานี้ ในขณะท้องว่าง ห้ามรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
- หากพบอาการ คลื่นไส้อาเจียน หรือท้องเสีย หลังรับประทานยานี้ ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาให้การรักษา เช่น ให้รับยามาบำบัดอาการดังกล่าว
- ตรวจ ระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของหัวใจ ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ตามแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
- รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซริทินิบด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ
เซริทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซริทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาเซริทินิบร่วมกับยา Corticosteroids เพราะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ห้ามใช้ยาเซริทินิบร่วมกับยากลุ่ม Beta-blockers, Clonidine, Digoxin, Diltiazem, Verapamil, เพราะจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าลง
- ห้ามใช้ยาเซริทินิบร่วมกับยา Ketoconazole, กลุ่มยา Macrolide, Nefazodone, Ritonavir, Telithromycin, ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาเซริทินิบมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาเซริทินิบร่วมกับยา Alfentanil, Cyclosporine, Dihydroergotamine, Ergotamine, Fentanyl, Pimozide, Quinidine, Sirolimus, Tacrolimus, Warfarin, เพราะยาเซริทินิบจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาต่างๆดังกล่าวมากขึ้น
ควรเก็บรักษาเซริทินิบอย่างไร?
ควรเก็บยาเซริทินิบ ในช่วงอุณหภูมิ 20-25องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
เซริทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซริทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Zykadia (ไซคาเดีย) | Novartis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ceritinib[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/mtm/ceritinib.html[2017,Sept16]
- https://www.pharma.us.novartis.com/sites/www.pharma.us.novartis.com/files/zykadia.pdf[2017,Sept16]
- https://www.hcp.novartis.com/products/zykadia/alk-nsclc/dosing-administration/[2017,Sept16]
- https://www.us.zykadia.com/about-disease/understanding-the-disease/[2017,Sept16]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/zykadia?type=full[2017,Sept16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/ALK_inhibitor[2017,Sept16]
- https://www.drugs.com/sfx/ceritinib-side-effects.html[2017,Sept16]