เซราโทรดาสท์ (Seratrodast)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เซราโทรดาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีขนาดการรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซราโทรดาสท์อย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซราโทรดาสท์อย่างไร?
- เซราโทรดาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Quinone
- โรคหืด (Asthma)
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)
บทนำ
ยาเซราโทรดาสท์ (Seratrodast) เป็นยาในกลุ่มควิโนน(Quinone) มีการออกฤทธิ์ในลักษณะที่เรียกว่า Thromboxane A2 receptor antagonist (ต้านการทำงานของสารที่ทำให้หลอดลมตีบ) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการโรคหืด(Asthma) และยานี้นำมาใช้ทางคลินิกเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1997(พ.ศ.2540)
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซราโทรดาสท์เป็นยาแบบรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้ใช้เวลาประมาณ 22 ชั่วโมงเพื่อให้ตับทำลายยานี้ก่อนที่จะถูกขับทิ้งออกมากับปัสสาวะ
ทั้งนี้ ข้อห้ามใช้สำคัญสำหรับยาเซราโทรดาสท์ คือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคตับ หรือแม้แต่การใช้ยาเซราโทรดาสท์ร่วมกับยา Paracetamol หรือ Cephem(ยาปฏิชีวนะกลุ่มBeta lactam)ที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อตับโดนทำลาย เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ระหว่างที่ได้รับยานี้ ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจการทำงานของตับร่วมด้วยตามแพทย์สั่ง
การใช้ยาเซราโทรดาสท์ให้เกิดประสิทธิผลจะต้องอาศัยการรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดและหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าหรือปัจจัยต่างๆที่จะมากระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด
การใช้ยาเซราโทรดาสท์เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น ด้วยขนาดยาที่ใช้กับเด็กยังไม่มีข้อสรุปทางคลินิกว่าได้ประโยชน์
ยาเซราโทรดาสท์เป็นยาที่ใช้บำบัดและป้องกันอาการหอบหืด กรณีผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดขึ้นมาแล้ว การรับประทานยาเซราโทรดาสท์ในขณะนั้นอาจไม่ได้ผล/ไม่สามารถระงับอาการได้ และต้องหันมาใช้ยาบรรเทาอาการหอบหืดแบบฉุกเฉิน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาโรคหืด)ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักต้องพกติดตัวอยู่ตลอดเวลา
เซราโทรดาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซราโทรดาสท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ป้องกันอาการหอบหืดในโรคหืด (Asthma prophylaxis)
เซราโทรดาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซราโทรดาสท์คือ ในร่างกายมีสาร Thromboxane A2 ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีหน้าที่กระตุ้นให้เกล็ดเลือดเกิดการรวมตัวกันในหลอดเลือดขณะที่มีบาดแผลตามเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหล แต่กรณีที่มีการหลั่งสาร Thromboxane A2 เกิดขึ้นในปอดซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยโรคหืดจะส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดลม และกระตุ้นให้มีอาการหอบหืดตามมา
ตัวยาเซราโทรดาสท์ เป็นยาประเภทต้านการทำงานของสาร Thromboxane A2 (Thromboxane A2 antagonist) ตัวยานี้จะออกฤทธิ์เข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของสาร Thromboxane A2 (Thromboxane A2 receptor) ส่งผลเกิดการปิดกั้นการทำงานของ Thromboxane A2ไม่ให้ออกฤทธิ์ จึงทำให้หลอดลมขยายคลายตัวและลดการหลั่งเมือกต่างๆบริเวณหลอดลมที่คอยมาปิดกั้นทางเดินหายใจ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
เซราโทรดาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซราโทรดาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Seratrodast ขนาด 80 มิลลิกรัม/เม็ด
เซราโทรดาสท์มีขนาดการรับประทานอย่างไร?
ยาเซราโทรดาสท์มีขนาดการรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 80 มิลลิกรัม หลังอาหารเย็น วันละ1ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในด้าน ประสิทธิภาพ ขนาดยา และผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ระยะเวลาของการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- การใช้ยานี้ขณะมีอาการหอบหืดจะไม่ได้ผล ด้วยยาเซราโทรดาสท์เป็นยาที่ใช้รักษาเชิงป้องกันการเกิดอาการ
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา เซราโทรดาสท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซราโทรดาสท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาเซราโทรดาสท์ สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ต่อเนื่องตามแพทย์สั่งจึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา
เซราโทรดาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเซราโทรดาสท์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ปากแห้ง อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น ชาตามร่างกาย
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ระดับเกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ตับอักเสบ
- ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง มีอาการบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีอาการผื่นคัน
มีข้อควรระวังการใช้เซราโทรดาสท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซราโทรดาสท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีลักษณะแตกหักชำรุดหรือเปียกชื้น
- มาพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด เช่น ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ตลอดจนกระทั่งตรวจสอบอาการโรค และปรับแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซราโทรดาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซราโทรดาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเซราโทรดาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซราโทรดาสท์ร่วมกับยาAbciximab ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ต้าน การรวมตัวของเกล็ดเลือดของยาAbciximab เพิ่มมากขึ้นจึงเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซราโทรดาสท์ร่วมกับยาAbiraterone ด้วยจะทำให้ระดับ ยาเซราโทรดาสท์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆจากยายาเซราโทรดาสท์ที่สูงขึ้นตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซราโทรดาสท์ร่วมกับยาAceclofenac(ยาชนิดหนึ่งในกลุ่มยา NSAIDs) ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงจากการใช้ยาทั้ง 2 ร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาเซราโทรดาสท์ร่วมกับยาAliskiren เพราะจะทำให้ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของยา Aliskiren ด้อยลง
ควรเก็บรักษาเซราโทรดาสท์อย่างไร?
ควรเก็บยาเซราโทรดาสท์มีภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยา ในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เซราโทรดาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซราโทรดาสท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bronica (บรอนิกา) | Takeda Pharmaceutical |
Changnuo (แชงนูโอ) | Chia Tai Tianqing |
Mai Xu Jia (ไม ซู เจีย) | Watson |
Seratrodast-Nanjing Pharm (เซราโทรดาสท์-นานจิง ฟาร์ม) | Nanjing Pharmaceutical Factory |
SERADAIR (เซราแดร์) | FOURTS |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Seratrodast [2018,April28]
- https://www.drugs.com/mtm/gemcitabine.html [2018,April28]
- https://www.medplusmart.com/product/SERADAIR-80MG-TABLET/SERA0036 [2018,April28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/seratrodast/?type=brief&mtype=generic [2018,April28]
- file:///C:/Users/apai/Downloads/Seratrodast.pdf [2018,April28]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB06739 [2018,April28]