เซฟาแมนโดล (Cefamandole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟาแมนโดล(Cefamandole หรือ Cephamandole) เป็นยาเซฟาโลสปอริน รุ่นที่ 2 (Second-generation cephalosporin) เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์กว้างขวางในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก(Gram positive)และชนิดแกรมลบ (Gram negative) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซฟาแมนโดลเป็นยาฉีด โดยสามารถฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือเข้าหลอดเลือดก็ได้ เมื่อตัวยานี้อยู่ในกระแสเลือด จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 70% ยานี้สามารถกระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย น้ำไขสันหลัง น้ำไขข้อ/น้ำในข้อ รวมถึงของเหลวภายในปอด และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 0.5-1.2 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ทิ้ง โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

ยาเซฟาแมนโดลไม่เหมาะกับผู้มีประวัติแพ้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริ หรือแพ้ยา กลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin) และต้องระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการทำงานของเกล็ดเลือด

ทางคลินิก ได้นำยาเซฟาแมนโดลมารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ ผิวหนัง กระดูก ข้อ ระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยตัวยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลระงับการสังเคราะห์ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จึงเป็นเหตุให้แบคทีเรียหยุดการกระจายพัน

ยาเซฟาแมนโดล ทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)กับระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น ระบบเลือด ระบบทางเดินอาหาร การทำงานของตับ และของผิวหนัง เป็นต้น

หลังการใช้ยาเซฟาแมนโดลจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอาการดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน แต่ยังต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องให้ครบคอร์ส(Course)ของการรักษาตามแพทย์สั่งซึ่งเหมือนกับการใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆทั่วไป

มีข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับยาเซฟาแมนโดล โดยอาจสรุปเป็นข้อๆได้ดังนี้ เช่น

  • ยาเซฟาแมนโดลเป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถนำมารักษาโรคที่มี สาเหตุจากเชื้อไวรัสได้
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ บ่อยครั้งจนเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อ ที่ยานี้ไม่สามารถต่อต้านได้ เช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ผู้ที่ได้รับยาเซฟาแมนโดล อาจมีอาการท้องเสีย หากพบอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และ/หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด ควรต้องรีบแจ้งแพทย์/กลับมาโรงพยาบาลทันที และไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไปซื้อยาแก้ท้องเสียมารับประทานเอง
  • ยาเซฟาแมนโดล อาจทำให้การรวมตัวของเกล็ดเลือดช้าลงกว่าเดิม ระหว่างการใช้ยานี้ จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและทำให้มีภาวะเลือดออกตามมามาก เพราะยานี้จะทำให้เลือดออกแล้วหยุดยาก
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อ การเกิดพิษหรืออาการข้างเคียงที่รุนแรงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังการใช้ยาแทบทุกประเภท ซึ่งรวมถึงยาเซฟาแมนโดลด้วยเช่นกัน เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมา

ยาเซฟาแมนโดลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ในประเทศไทย สามารถพบเห็น การใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลต่างๆ และรู้จักกันในชื่อการค้าว่า “Cefmandol” ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลหรือที่ร้านขายยาได้โดยทั่วไป

เซฟาแมนโดลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟาแมนโดล

ยาเซฟาแมนโดลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยาเซฟาแมนโดล
  • ใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการผ่าตัด

เซฟาแมนโดลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดล มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์ผนังเซลล์ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

เซฟาแมนโดลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วยตัวยา Cefamandole ขนาด 1 กรัม/ขวด

เซฟาแมนโดลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาเซฟาแมนโดล:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆโดยใช้เวลเดินยาประมาณ 3–5 นาที ในขนาดยา 0.5–2 กรัม ทุกๆ 4–8 ชั่วโมง
  • เด็กที่อายุมากกว่า 1 เดือน: ฉีดยาขนาด 50–100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งฉีดยาตามคำสั่งแพทย์เข้าหลอดเลือดดำ กรณีติดเชื้อรุนแรง แพทย์อาจให้ยาได้ถึง 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กที่อายุตั้งแต่ 1 เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับป้องกันการติดเชื้อระหว่างการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 1หรือ2 กรัม เข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อ โดยต้องให้ยาก่อนการผ่าตัดประมาณ 30–60 นาที จากนั้น แพทย์อาจให้ยาอีก 1หรือ2 กรัม ทุกๆ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 24–48 ชั่วโมง
  • เด็กที่อายุมากกว่า 3 เดือน: ฉีดยาขนาด 50–100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ต้องให้ยาเข้าหลอดเลือดดำก่อนเข้ารับการผ่าตัดประมาณ 30–60 นาที จากนั้น แพทย์อาจให้ยาอีกทุกๆ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 24–48 ชั่วโมง หากจำเป็น แพทย์อาจต้องให้ยาถึง 72 ชั่วโมง
  • เด็กที่อายุตั้งแต่ 3 เดือนลงมา: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • *****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟาแมนโดล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไต โรคตับ มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟาแมนโดลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดลเป็นยาฉีดที่ใช้ในสถานพยาบาล จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์และมีตารางการให้ยากับผู้ป่วยอย่างชัดเจน ดังนั้นโอกาสลืมฉีดยาจึงเป็นไปได้น้อยมาก

เซฟาแมนโดลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจพบภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ ชนิด Pseudomembranous colitis คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก เกิดพิษต่อสมอง/สมองอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะ ผด ผื่น คัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดทำงานได้ช้ากว่าปกติจนอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น เป็นพิษกับไต/ไตอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้เซฟาแมนโดลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟาแมนโดล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา กลุ่มเซฟาโซลิน(Cephalosporin) หรือกลุ่มเพนิซิลลิน(Penicillin)
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบ และ/หรือ ตับ-ไต ทำงานผิดปกติ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • การใช้ยานี้บ่อยหรือนานเกินไป อาจพบภาวะติดเชื้อโรคชนิดอื่นที่ไม่ตอบสนอง ต่อยานี้เช่น เกิดเชื้อรา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟาแมนโดลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟาแมนโดลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟาแมนโดลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟาแมนโดลร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาเซฟาแมนโดล ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ ด้วยจะก่อให้เกิดกลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like Reaction)
  • การใช้ยาเซฟาแมนโดลร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟาแมนโดล ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยาเซฟาแมนโดล ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเซฟาแมนโดลอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟาแมนโดล ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟาแมนโดลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟาแมนโดลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cefmandol (เซฟแมนดอล)General Drugs House

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Mandol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cephalosporin[2017,Feb18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefamandole[2017,Feb18]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefamandole/?type=brief&mtype=generic[2017,Feb18]
  4. http://www.rxlist.com/mandol-drug/side-effects-interactions.html[2017,Feb18]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01326[2017,Feb18]