เซฟามัยซิน (Cephamycin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟามัยซิน (Cephamycin) เป็นยาปฏิชีวนะในยากลุ่มเบต้า-แลคแทม(Beta lactam)ที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายกับยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) แต่มีความแตกต่างกันตรงที่โครงสร้างของยาเซฟามัยซินจะมีหมู่สารเมทอกซี(-OCH3)เป็นส่วนประกอบอยู้ด้วย กลุ่มยาเซฟามัยซินผลิตได้จากแบคทีเรีย แอคติโนแบคทีเรีย(Actinobacteria)ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเชื้อรา โดยยาเซฟามัยซินสามารถใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเพนิซิลลิน(Penicillin) โดยแบคทีเรียดังกล่าวจะมีเอนไซม์ ชื่อ เบต้า-แลคแทมเมส(Beta-lactamases) ที่คอยทำลายโครงสร้างของยาเบต้า-แลคแทม จากโครงสร้างและคุณสมบัติดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดให้อนุพันธ์ยาเซฟามัยซิน มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 2 มากที่สุด โดยสามารถต่อต้านแบคทีเรียที่ก่อโรคดังนี้ เช่น Streptococcus, E.Coli, Salmonella, Proteus vulgaris, Flavobacterium, Klebsiella, Enterococci, Listeria monocytogenes, Enterobacter, และ Bacteroides

อย่างไรก็ตาม ทางคลินิกพบว่ายาเซฟามัยซินมีประสิทธิภาพต่อต้านแบคทีเรียแกรมบวกกลุ่มคอกไค(Gram-positive cocci)ได้น้อยกว่ายาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 1 ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นการใช้ยาเซฟามัยซิน ดังนี้

1 Cefoxitin: มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก (Gram-negative and Gram-positive) รวมถึงกลุ่มแอนแอโรบ(Anaerobes) ซึ่งเป็น สาเหตุของโรคติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ผิวหนัง กระดูก ระบบทางเดิน หายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ โดยมีกลไกออกฤทธิ์ที่ผนังเซลล์ของแบคทีเรีย โดย รูปแบบของยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาฉีดชนิดผง และมีจำหน่ายในประเทศไทย

2 Cefotetan: มีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมลบและแกรมบวก(Gram-negative and Gram-positive) รวมถึงกลุ่มแอนแอโรบ(Anaerobes) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่ ผิวหนัง กระดูก ไต ระบบทางเดินหายใจ และ ระบบทางเดินปัสสาวะรวม ถึงใช้เป็นยาป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในระหว่างการผ่าตัด ในต่างประเทศจะรู้จักยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Cefotan

3 Cefmetazole : มีการออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียได้ทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ แอนแอโรบิคแบคทีเรีย รวมถึงกลุ่มแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่1 สามารถพบเห็นยานี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า Zefazone

ยาเซฟามัยซิน จัดเป็นกลุ่มยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย จึงต้องเป็นหน้าที่ของแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้ได้จากแพทย์ที่ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

อนึ่ง Cephamycin มีแยก subgroup เป็น Cephamycin A , Cephamycin B, และ Cephamycin C แต่ที่โดดเด่นและสามารถนำมาใช้เป็นยา จะเป็น Cephamycin C ซึ่งประกอบด้วยยา Cefoxitin, Cefotetan, และ Cefmetazole ดังนั้นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงยา Cephamycin จึงหมายถึงยา Cephamycin C

เซฟามัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟามัยซิน

ยาเซฟามัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ระหว่างการผ่าท้องคลอดบุตร (Cesarean section)
  • รักษาอาการถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis)
  • รักษาการติดเชื้อของช่องท้อง (Intraabdominal infection)
  • รักษาการติดเชื้อที่ข้อและกระดูกอักเสบ (Joint infection, Osteomyelitis)
  • รักษาการอักเสบของอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease)
  • รักษาโรคปอดบวม (Pneumonia)
  • รักษากรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • รักษาการติดเชื้อของผิวหนัง (Skin or soft tissue infection)
  • รักษาโรคติดเชื้อระบบเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อระหว่างทำหัตถการผ่าตัด (Surgical prophylaxis)

เซฟามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟามัยซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการแบ่งตัว ไม่สามารถเจริญเติบโต หรือแพร่พันธุ์ อีกต่อไป และยาเซฟามัยซินยังสามารถทนต่อเอนไซม์เบต้าแลคแทมเมสของแบคทีเรียซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านยาเบต้า-แลคแทมกลุ่มเพนิซิลลินได้อีกด้วย

เซฟามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • Cefoxitin : ยาฉีดขนาด 1, 2, และ 10 กรัม/ขวด
  • Cefotetan : ยาฉีดขนาด 1 และ 2 กรัม/ขวด
  • Cefmetazole : ยาฉีดขนาด 1 กรัม/ขวด

เซฟามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาเซฟามัยซินเป็นยาฉีด จึงพบเห็นการใช้แต่เฉพาะในสถานพยาบาล ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่และในเด็กมีความแตกต่างกัน โดยแพทย์จะใช้เกณฑ์ของ น้ำหนักตัวผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค ตลอดจนกระทั่งประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยมาประกอบการคำนวณขนาดยากับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซฟามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟามัยซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous colitis)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ เกิดอาการชัก
  • ผลต่อไต: เช่น มีCreatinineในเลือดสูง ไตวายเฉียบพลัน เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น ภาวะเม็ดเลือดขาวมากหรือไม่ก็ต่ำ เกล็ดเลือดสูงหรือไม่ก็น้อยลง โลหิตจางจากเม็ดเลือดแตก มีการตกเลือดของอวัยวะต่างๆได้ง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด

มีข้อควรระวังการใช้เซโฟซิตินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซโฟซิติน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็ว
  • ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะ ท้องเสีย/ ถ่ายเหลว/ถ่ายเป็นน้ำ กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบรายงานและแจ้งแพทย์/พยาบาลเพื่อปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสม
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบเทอมการรักษาถึงแม้อาการจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันแรก ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการดื้อยาของเชื้อโรค
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซฟามัยซินไม่สามารถต่อต้านได้ อย่างเชื้อรา เป็นต้น
  • หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน การใช้ยากลุ่มนี้จะส่งผลต่อการตรวจกลูโคส/น้ำตาลในปัสสาวะ โดยทำให้ผลการทดสอบ/การตรวจคลาดเคลื่อนได้
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ อาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยานี้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มเซฟามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟามัยซินร่วมกับ ยากลุ่ม Aminoglycosides อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงกับไตของผู้ป่วยได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเซฟามัยซินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง ผู้ป่วยควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น การใส่ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเซฟามัยซินร่วมกับ ยาEntecavir อาจทำให้ระดับยาตัวใดตัวหนึ่ง หรือทั้ง 2ตัวในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้นต่างๆจากยาทั้ง2ตัวตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาเซฟามัยซินร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด อย่าง Warfarin อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาเซฟามัยซินร่วมกับวัคซีนป้องกันเชื้ออหิวาตกโรค ต้องเว้นระยะเวลา การใช้ยาเซฟามัยซินครั้งสุดท้ายให้ห่างกัน 14 วัน ด้วยการใช้ยาร่วมกัน จะทำให้ฤทธิ์ การกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของวัคซีนนี้ลดน้อยลง

ควรเก็บรักษาเซฟามัยซินอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟามัยซิน ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟามัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cefoxin (เซโฟซิน)M & H Manufacturing
Cefxitin (เซฟซิทิน)Siam Bheasach
Cefotan (เซโฟแทน)GlaxoSmithKline
Zefazone (เซฟาโซน)Upjohn

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cephamycin [2018,May5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefoxitin [2018,May5]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefotetan [2018,May5]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefmetazole [2018,May5]
  5. http://www.emedexpert.com/compare/cephalosporins.html [2018,May5]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefmetazole/?type=brief&mtype=generic [2018,May5]
  7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cefoxin/ [2018,May5]
  8. http://www.drugs.com/dosage/cefoxitin.html [2018,May5]
  9. https://www.drugs.com/cdi/cefotetan.html [2018,May5]
  10. http://citeseerx.ist.psu.edu/viewdoc/download?doi=10.1.1.863.1148&rep=rep1&type=pdf [2018,May5]