เซฟมีตาโซล (Cefmetazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟมีตาโซล(Cefmetazole หรือ Cefmetazole sodium หรือ Cefmetazole Na)เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟามัยซิน(Cephamycin)มีการออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียได้ทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบ แอนแอโรบิคแบคทีเรีย(Anaerobic bacteria, แบคทีเรียที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต) รวมถึงกลุ่มแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาเซฟาโลสปอรินรุ่นที่1

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซฟมีตาโซลเป็นยาฉีด ตัวยาในกระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 65–85% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.1–1.5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ ยานี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต การใช้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องให้ยานี้ต่อเนื่องทุกๆ 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับยานี้ จะมีปริมาณตัวยานี้อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ที่มีไตปกติ

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดของการใช้ยาเซฟมีตาโซล ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • ยาเซฟมีตาโซลอาจทำให้ระบบการทำงานของเลือดผิดปกติ เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง ดังนั้นระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ แพทย์จะมีการตรวจเลือด(การตรวจCBC)ว่าผิดปกติหรือไม่ควบคู่ไปกับการรักษา
  • ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ห้ามนำไปรักษาอาการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราโดยเด็ดขาด
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือบ่อยจนเกินไป อาจทำให้มีการติดเชื้อชนิดอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อยาเซฟมีตาโซลแทรกซ้อนขึ้นมาได้ เช่น เชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น หรือเชื้อรา
  • หากพบอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง หลังการใช้ยาเซฟมีตาโซล ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล /พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้ปรับแนวทางการรักษาได้ดีที่สุด
  • หากพบอาการท้องเสียอย่างรุนแรงต้องรีบแจ้งแพทย์ พยาบาล/ไปโรงพยาบาลทันที ด้วยอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เรียกว่า Pseudomembranous colitis
  • ต้องระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยา Probenecid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเซฟมีตาโซลได้มากยิ่งขึ้น

ด้วยยาเซฟมีตาโซลเป็นยาฉีด การใช้ยานี้จึงต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของยาเซฟมีตาโซลได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เซฟมีตาโซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เซฟมีตาโซล

ยาเซฟมีตาโซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาและใช้ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อยาเซฟมีตาโซล
  • รักษาการติดเชื้อโกโนเรีย (Gonorrhea)/หนองใน

เซฟมีตาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟมีตาโซลคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้และตายลงในที่สุด

เซฟมีตาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟมีตาโซล มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Cefmetazole ขนาด 1 กรัม/ขวด(Vial)

เซฟมีตาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟมีตาโซลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับบำบัดรักษาโรคโกโนเรีย/หนองใน และใช้รักษาอาการติดเชื้อที่ตอบสนองต่อยาเซฟมีตาโซล เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 0.5–1 กรัม ทุก 12 ชั่วโมง กรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง แพทย์อาจต้องใช้ยาขนาด 3–4 กรัม/วัน โดยแบ่งฉีดให้ผู้ป่วยทุกๆ 6–8 ชั่วโมง
  • เด็ก: ยังไม่มีขนาดการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • การฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ ต้องใช้วิธีหยดเข้าหลอดเลือดดำทีละน้อยโดยปฏิบัติตามขั้นตอนในเอกสารกำกับยา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟมีตาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟมีตาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การฉีดยาเซฟมีตาโซลจะกระทำในสถานพยาบาล โดยมีตารางการฉีดยาตามคำสั่งของแพทย์ การลืมให้ยานี้กับผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก กรณีที่ผู้ป่วยยังมิได้รับยานี้ตามเวลาที่กำหนด สามารถสอบถามจากบุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ ได้ตลอดเวลา

เซฟมีตาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟมีตาโซลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ระวังการเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิด Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับอักเสบ ดีซ่าน

มีข้อควรระวังการใช้เซฟมีตาโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟมีตาโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสิ่งเจือปน เช่น กรณีพบฝุ่นผงปนมากับตัวยา
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที/ฉุกเฉิน
  • ผู้ป่วยอาจเกิด ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำได้ กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบรายงานและแจ้งแพทย์ พยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้ครบเทอมของการรักษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอาการดื้อยาของเชื้อโรค
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซฟมีตาโซลไม่สามารถรักษาได้ อย่างเช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟมีตาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟมีตาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟมีตาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟมีตาโซลร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟมีตาโซล ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมาจาก ยาเซฟมีตาโซล เช่น ท้องเสียรุนแรง และทำให้ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ขณะที่ใช้ยาเซฟมีตาโซล ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดอาการคล้ายกับปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม(Disulfiram) ที่เรียกว่า”ปฏิกิริยา Disulfiram-like reaction”
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟมีตาโซลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย

ควรเก็บรักษาเซฟมีตาโซลอย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟมีตาโซลตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟมีตาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟมีตาโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Zefazone (เซฟาโซน)Upjohn

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefmetazole/?type=brief&mtype=generic[2017,June10]
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2020609[2017,June10]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00274[2017,June10]
  4. http://www.antimicrobe.org/drugpopup/cefmetazole.pdf[2017,June10]