เซฟตาซิดิม (Ceftazidime)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาเซฟตาซิดิม (Ceftazidime) คือ ยาปฏิชีวนะที่อยู่ในกลุ่มยาเซฟาโลสปอรินที่ 3 (Third generation cephalosporin) สามารถออกฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและแกรมลบ อาทิเช่น Enterobactor, E.coli, H.influenzae, Klebsiella, Proteus, Pseudomonas, N.meningi tidis, Staphylococcus aureus group B streptococci, Streptococcus pneumonia และ Strepto coccus pyogenes ยังรวมไปถึงแบคทีเรียกลุ่มที่การดำรงชีวิตไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobes) เช่น Bacteroides ถึงแม้เซฟตาซิดิมเป็นยาตัวหนึ่งที่นำมารักษาอาการป่วยจากติดเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas แต่ยานี้ไม่มีความสามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวกดื่อยา Methicillin-resistant staphy lococcus aureus ได้

สำหรับทางการแพทย์ ได้นำยาเซฟตาซิดิมมารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของอวัยวะระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง, การติดเชื้อที่ผิวหนัง, การติดเชื้อในช่องท้อง, รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย, ซึ่งรูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีด

เมื่อยาเซฟตาซิดิมเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.6 - 2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาเซฟตาซิดิมเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน และคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาเซฟตาซิดิมลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อ P.aeruginosa และรักษาโรคเมลิออยด์ (Melioidosis, โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Burkholderia pseudomallei) ซึ่งมักเกิดกับชาวเอเชียและออสเตรเลีย

หากจะมองภาพรวม ยาเซฟตาซิดิมจัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อใช้กับสตรีตั้งครรภ์ แต่การจะเลือกใช้ยานี้แพทย์จะคำนึงถึงความรุนแรงและอาการของโรครวมไปถึงสภาพไตของผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษาเป็นสำคัญ ดังนั้นการใช้ยานี้จึงต้องอยู่ในคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เซฟตาซิดิมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เซฟตาซิดิม

ยาเซฟตาซิดิม มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ ซูโดโมแนส (Pseudomonas) ในปอด (Pseudomonal lung infection in cystic fibrosis)
  • ป้องกันการติดเชื้อหลังเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก
  • รักษาการติดเชื้อที่ท่อน้ำดี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง ระบบทางเดินน้ำดี)
  • รักษาการติดเชื้อที่กระดูก (กระดูกอักเสบ) และที่ข้อต่อตามร่างกาย (ข้ออักเสบติดเชื้อ)
  • รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เยื่อหุ้มสมอง (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
  • รักษาภาวะปอดบวม/ปอดอักเสบ
  • รักษาการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง(ผิวหนังติดเชื้อ)
  • รักษาการติดเชื้อของท่อปัสสาวะ (ท่อปัสสาวะอักเสบ)

เซฟตาซิดิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเซฟตาซิดิม คือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เซฟตาซิดิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟตาซิดิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 500 มิลลิกรัม/ขวด
  • ยาฉีด ขนาด 1 กรัม/ขวด

เซฟตาซิดิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเซฟตาซิดิมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาที่แตกต่างกันในแต่ละโรคซึ่งจะขึ้นกับความรุนแรงของแต่ละโรค ดังนั้นขนาดยาที่เหมาะสมจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1 - 6 กรัม/วันโดยแบ่งฉีดให้กับผู้ป่วยทุกๆ 8 - 12 ชั่วโมง หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆโดยใช้เวลาให้ยาประมาณ 3 - 5 นาที หรือหยดเข้าหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาให้ยาประมาณ 30 นาที
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 2 เดือน: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 30 - 100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งฉีดเป็น 2 - 3 ครั้ง กรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรงสามารถเพิ่มขนาดการฉีดยาเป็น 150 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กแรกเกิด - เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือนลงมาฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 25 - 60 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งฉีดเป็น 2 ครั้ง ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 6 กรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: ฉีดยาได้สูงสุดไม่เกิน 3 กรัม/วัน โดยการบริหารยาเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถีงยาเซฟตาซิดิม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟตาซิดิมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซฟตาซิดิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟตาซิดิมสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • ปวดบริเวณที่ฉีดยา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแพ้ยา เช่น พบอาการผื่นคันหรือมีไข้
  • รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร - ลำไส้
  • อาจมี
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • ปวดท้อง
    • อาการของ Stevens-Johnson syndrome

มีข้อควรระวังการใช้เซฟตาซิดิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟตาซิดิม ดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มเซฟาโลสปอริน (Cephalosorin)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติ แพ้ยาเพนิซิลลิน (Penicillin), ผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การฉีดยานี้ที่มากกว่า 1 กรัม/ครั้ง ควรให้ยาทางหลอดเลือดดำแทนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จากยาจะก่อการเจ็บบริเวณที่ฉีดยามาก
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟตาซิดิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เซฟตาซิดิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟตาซิดิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้ เช่น

  • การใช้ยาเซฟตาซิดิม ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิด อาจส่งผลให้ฤทธิ์ของยาเม็ดคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ดังนั้นระหว่างการใช้ยาร่วมกันควรใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยาเซฟตาซิดิม ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เช่นยา Amikacin, Kanamycin, Gentamicin, หรือยาขับปัสสาวะ เช่นยา Furosemide, อาจเพิ่มผลเสียต่อไตของผู้ป่วย สามารถพบอาการตัวบวม น้ำหนักตัวเพิ่ม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียน สับสน กระหายน้ำ อารมณ์แปรปรวน ปวดหลัง คลื่นไส้-อาเจียน ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาเซฟตาซิดิม ร่วมกับ ยา Probenecid สามารถทำให้ระดับเซฟตาซิดิมเพิ่มและอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้น การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

ควรเก็บรักษาเซฟตาซิดิมอย่างไร?

สามารถเก็บยาเซฟตาซิดิม:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซฟตาซิดิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟตาซิดิม มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cef-4 (เซฟ-4) Siam Bheasach
Cef-Dime (เซฟ-ดิม) Millimed
Cefodime (เซโฟดิม) L. B. S.
Ceftime (เซฟไทม์) Utopian
Fortum (ฟอร์ทัม) GlaxoSmithKline
Zedim (ซีดิม) Great Eastern
Zeftam M H (เซฟแทม เอ็ม เฮช) M & H Manufacturing

บรรณานุกรม

1 https://en.wikipedia.org/wiki/Ceftazidime [2021,May22]
2 https://www.drugs.com/mtm/ceftazidime-injection.html [2021,May22]
3 https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ceftazidime [2021,May22]
4 https://www.drugs.com/drug-interactions/ceftazidime-index.html?filter=2&generic_only= [2021,May22]