เซฟดิเนียร์ (Cefdinir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเซฟดิเนียร์(Cefdinir)เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มเซฟาโลสปอรินรุ่นที่ 3 (Third-generation cephalosporins) ซึ่งมีโครงสร้างเคมีคล้ายกับยา Cefixime(ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง) ถูกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) ยาเซฟดิเนียร์เป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้างขวาง สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียชนิดแกรมบวกหรือชนิดลบที่เป็นสาเหตุของโรค ปอดบวม ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเซฟดิเนียร์เป็นยารับประทาน

ตัวยาเซฟดิเนียร์สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 16–21% ตัวยาจะมีเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 1.1–2.3 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ

กลไกหลักๆที่ทำให้ยาเซฟดิเนียร์ต่อต้านแบคทีเรียได้ คือ การยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียนั่นเอง โดยยาเซฟดิเนียร์สามารถใช้ได้กับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในสูตรตำรับยาเซฟดิเนียร์สำหรับเด็กพบว่า ตัวยานี้สามารถจับตัวกับธาตุเหล็กในอาหารจากระบบทางเดินอาหารจนอาจทำให้อุจจาระมีสีแดงหรือมีสีเหมือนสนิม ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระ กรณีดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องน่าตกใจกลัวเท่าใดนัก

กรณีใช้ยาเซฟดิเนียร์แล้ว หากผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้อง น้ำหนักตัวลด ถ่ายเหลว/ท้องเสียมีลักษณะอุจจาระเป็นสีแดง ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะอาการเหล่านี้มักจะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostridium difficile ซึ่งยาเซฟดิเนียร์ไม่สามารถต่อต้านเชื้อชนิดนี้ได้

ยาเซฟดิเนียร์ มี ข้อจำกัด ข้อควรระวัง รวมถึงข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยานี้ที่ควรทราบดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้ยาเซฟดิเนียร์กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยาเซฟาโลสปอริน
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนโรคไทฟอยด์ วัคซีนวัณโรค วัคซีน อหิวาตกโรค ด้วยจะทำให้วัคซีนนั้นๆด้อยประสิทธิภาพลง
  • ยานี้สามารถรับประทานได้ทั้งก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ หากรับประทานยานี้ก่อนอาหารแล้วมีอาการไม่สบายในช่องท้อง ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนมารับประทานยาหลังอาหารจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  • มีโรคประจำตัวบางประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟดิเนียร์ ด้วยอาการโรคดังกล่าวอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อใช้ยานี้ เช่น โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด โรคไต โรคลมชัก โรคเบาหวาน โรคของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • ห้ามรับประทานยาเซฟดิเนียร์ร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของเกลืออะลูมิเนียม (เช่นยา Aluminium hydroxide) แมกนีเซียม(เช่นยา Magnesium sulfate) และธาตุเหล็ก(เช่นยา Ferrous sulfate) ด้วยเกลือแร่ดังกล่าวจะทำให้ลดการดูดซึมของตัวยาเซฟดิเนียร์จากระบบทางเดินอาหาร หรือต้องเว้นระยะเวลารับประทานห่างจากการรับประทานยาเซฟดิเนียร์ 2 ชั่วโมง เป็นอย่างต่ำ
  • หากพบอาการ วิงเวียน ง่วงนอน หลังการรับประทานยานี้ ต้องเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ขณะใช้ยานี้แล้วมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ห้ามผู้ป่วยรับประทานยาแก้ท้องเสียด้วยตนเอง ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์ทำการรักษาอย่างถูกหลักวิชาการ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับยาเซฟดิเนียร์ อาจส่งผลให้ค่าน้ำตาลในเลือด เปลี่ยนแปลงไป อาจทั้งสูงขึ้นหรือต่ำลง แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการใช้ยาเซฟดิเนียร์และยารักษาเบาหวานได้เหมาะสมที่สุด
  • การใช้ยานี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องจนครบตามแพทย์สั่งถึงแม้อาการป่วยจะดีขึ้นภายใน 1–2 วันของการรับประทานยานี้ ผู้ป่วยยังคงต้องรับประทานยาจนครบเทอมการรักษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของแบคทีเรีย
  • ยานี้ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ห้ามนำไปรักษาอาการติดเชื้อไวรัสหรือติดเชื้อราโดยเด็ดขาด
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานหรือบ่อยจนเกินไป อาจทำให้มีการติดเชื้อชนิดอื่นๆที่ไม่ตอบสนองต่อยาเซฟดิเนียร์แทรกซ้อนขึ้นมาได้ เช่น แบคทีเรียชนิดอื่น หรือเชื้อรา
  • ต้องระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยา Probenecid ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของยาเซฟดิเนียร์ได้มากยิ่งขึ้น

ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาเซฟดิเนียร์อยู่ในประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการซื้อยานี้มารับประทานเอง

เซฟดิเนียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร

เซฟดิเนียร์

ยาเซฟดิเนียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของ

  • โรคปอดบวม (Pneumonia)
  • หลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
  • ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
  • ผิวหนังอักเสบ (Skin of soft tissue infection)
  • ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)
  • คออักเสบ/ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis)
  • หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)

เซฟดิเนียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเซฟดิเนียร์เป็นยาปฏิชีวนะที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียที่ผลิตเอนไซม์ ชื่อ เบต้า-แลคแทมเมส (Against beta-lactamase–producing organisms)ที่เป็นเอนไซม์ใช้สร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ซึ่งตัวยาเซฟดิเนียร์จะยับยั้งเอนไซม์นี้ในการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จึงทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโต ไม่สามารถแบ่งเซลล์หรือกระจายพันธุ์ และตายลงในที่สุด

เซฟดิเนียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเซฟดิเนียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Cefdinir ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Cefdinir ขนาด 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

เซฟดิเนียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเซฟดิเนียร์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับรักษาโรคปอดบวม:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10–14 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับรักษาหลอดลมอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5–10 วัน หรือ รับประทานยาขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ค.สำหรับรักษาไซนัสอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน หรือ รับประทานยาขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี: รับประทานยาขนาด 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน หรือ รับประทานยาขนาด 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6เดือน : ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ง.สำหรับรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กอายุ 6 เดือน–12 ปี: รับประทานยาขนาด 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6เดือน : ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

จ.สำหรับรักษาทอลซิลอักเสบ หรือ คออักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 300 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5–10 วัน หรือรับประทานยาขนาด 600 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี: รับประทานยาขนาด 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5–10 วัน หรือ รับประทานยาขนาด 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6เดือน : ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ฉ. สำหรับรักษาหูชั้นกลางอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: การใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี : รับประทานยาขนาด 7 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 5–10 วัน หรือรับประทานยาขนาด 14 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6เดือน : ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร
  • รับประทานยานี้จนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดใช้ยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซฟดิเนียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซฟดิเนียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ผู้ป่วยลืมรับประทานยาเซฟดิเนียร์ ตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่าให้รับประทานยาในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิภาพการรักษา ต้องรับประทานยาเซฟดิเนียร์ จนครบเทอมการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ

เซฟดิเนียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเซฟดิเนียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร : เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด อาเจียน ปากแห้ง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิด ผื่นคัน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ มีโปรตีนในปัสสาวะ ปัสสาวะมีความเป็นด่างเพิ่มขึ้น อาจพบเลือดปนมาในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็ลดลง จำนวนเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็เกล็ดเลือดต่ำ ระยะเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวของเลือดเมื่อมีเลือดออกผิดปกติโดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เอนไซม์ต่างๆในร่างกาย/ในเลือด อย่างเช่น Gamma-glutamyl transferase ,Alanine aminotransferase , Alkaline phosphatase และ Lactate dehydrogenase เพิ่มมากขึ้น ปริมาณเกลือไบคาร์บอเนต(Bicarbonate)ในเลือดลดลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดดีซ่าน
  • ผลต่อไต: เช่น เกิดพิษกับไต/ไตอักเสบ ไตวาย
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ระบบการหายใจล้มเหลว เกิดหอบหืด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจวาย เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อลายสลาย

มีข้อควรระวังการใช้เซฟดิเนียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเซฟดิเนียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา ต้องหยุดใช้ยาทันที และรีบแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • เมื่อใช้ยานี้ ผู้ป่วยอาจเกิด ท้องเสีย/ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ กรณีการถ่ายมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบแจ้งแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณ่าปรับแนวทางการรักษา
  • ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ห้ามนำไปรักษาการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา
  • การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อชนิดอื่นที่ยาเซฟดิเนียร์ไม่สามารถรักษาได้ อย่างเช่น เชื้อรา เป็นต้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเซฟมีตาโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซฟดิเนียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซฟดิเนียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเซฟดิเนียร์ร่วมกับยา Probenecid อาจทำให้ระดับยาเซฟดิเนียร์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงจากยาเซฟดิเนียร์ตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเซฟดิเนียร์ร่วมกับวัคซีนอหิวาตกโรค ด้วยยาเซฟดิเนียร์จะไปลดฤทธิ์การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเซฟดิเนียร์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl estradiol ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้อยลง

ควรเก็บรักษาเซฟดิเนียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาเซฟดิเนียร์ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

เซฟดิเนียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซฟดิเนียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Omnicef (ออมนิเซฟ)Pfizer
Samnir (แซมเนีย) Siam Bheasach

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cefdinir#Mechanism_of_action[2017,June10]
  2. https://www.drugs.com/cdi/cefdinir.html[2017,June10]
  3. https://www.drugs.com/dosage/cefdinir.html[2017,June10]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cefdinir/?type=brief&mtype=generic[2017,June10]