เซทอลโคเนียม (Cetalkonium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 15 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- เซทอลโคเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เซทอลโคเนียมอย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเซทอลโคเนียมอย่างไร?
- เซทอลโคเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
บทนำ
ยาเซทอลโคเนียม(Cetalkonium หรือ Cetalkonium Chloride หรือ Cetalkonium Cl ย่อว่า CKC) เป็นสารประกอบที่มีประจุไฟฟ้าบวกประเภทเกลือ ควอเทอร์นารี่ แอมโมเนียม(Quaternary ammonium salt) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคจำพวกแบคทีเรีย และเชื้อรา เพื่อการนำไปใช้ในการผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม นักวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นต้องสังเคราะห์ยาเซทอลโคเนียมออกมาในรูปของเกลือ Cetalkonium chloride และ Cetalkonium bromide
ยาเซทอลโคเนียมมีคุณสมบัติที่ละลายได้ทั้งในน้ำและในไขมัน จึงมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิวที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ โดยผลิตเป็นสูตรตำรับของ ยาลูกอม หรือยาเจลป้ายปาก ยาชนิดนี้มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำมาก เราจึงพบเห็นการใช้ยาเซทอลโคเนียมในรูปแบบเป็นยาเฉพาะที่เท่านั้น ซึ่งตัวยาเซทอลโคเนียมที่มนุษย์กลืนลงในระบบทางเดินอาหาร จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ
การใช้ยาเซทอลโคเนียม มักจะไม่อยู่ในลักษณะของยาเดี่ยวๆ แต่จะเป็นเภสัชภัณฑ์ที่ผสมร่วมกับยาอื่นๆ เช่น ยาชาประเภท Lidocaine, Benzocaine, หรือยาแก้ปวดอย่างเช่น Choline salicylate ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ ซึ่งสูตรตำรับผสมเหล่านี้ทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาดีขึ้นก็จริง แต่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆมากขึ้นตามมา และมีข้อควรระวังการใช้ยาสูตรผสมนี้มากขึ้นเช่นกัน
เซทอลโคเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเซทอลโคเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ โดยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ ถูกนำมาใช้เป็นยาเฉพาะที่ ช่วยลดอาการอักเสบจากเชื้อโรค และเป็นผลให้แผลหายเร็ว
เซทอลโคเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเซทอลโคเนียม มีองค์ประกอบของประจุไฟฟ้าบวก เมื่อตัวยาเข้าจับกับเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรคซึ่งมีประจุลบ จะทำให้เซลล์ของเชื้อโรคแตกออกและตายในที่สุดด้วยกลไกการออกฟทธ์นี้ จึงช่วยลดการอักเสบของบาดแผลได้เร็วขึ้น
เซทอลโคเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเซทอลโคเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
1. ยาอมที่มีตัวยา Cetalkonium chloride 5 มิลลิกรัม + Benzocaine 7.5 มิลลิกรัม/เม็ด
2. ยาอมที่มีตัวยา Cetalkonium chloride 2.5 มิลลิกรัม + Benzocaine 7.5 มิลลิกรัม + Cetylpyridinium chloride 2.5 มิลลิกรัม/เม็ด
3. เจลป้ายปากสำหรับเด็กเล็ก ที่ประกอบด้วย Lidocaine HCl 0.33% + Cetalkonium chloride 0.01%
4. เจลป้ายปากสำหรับผู้ใหญ่ ที่ประกอบด้วย Choline salicylate 8.714% + Cetalkonium chloride 0.01% (สูตรตำรับนี้มีจำหน่ายในประเทศไทย)
เซทอลโคเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาเซทอลโคเนียมให้เป็นไปตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ผู้ป่วยสามารถ ขอคำปรึกษาวิธีและขนาดการใช้ยาได้จาก แพทย์ หรือเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเซทอลโคเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/ หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเซทอลโคเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมทาหรืออมยาเซทอลโคเนียม สามารถใช้ยานี้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ
แต่การลืมใช้ยาบ่อยๆหลายครั้งย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง เพราะจะทำให้อาการโรคกำเริบลุกลามมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมอมหรือทาในลักษณะ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยานั้นๆ
เซทอลโคเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ตัวยาเซทอลโคเนียมมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ต่ำมาก เราจึงไม่ค่อยพบเห็นผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาเซทอลโคเนียมต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย
แต่หากพบว่า หลังใช้ยาเซทอลโคเนียมแล้วมีอาการ ผื่นคัน อ่อนเพลีย หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้เซทอลโคเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเซทอลโคเนียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
- การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือจากเภสัชกร
- หลังใช้ยานี้หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเซทอลโคเนียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เซทอลโคเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่พบปฏิกิริยาระหว่างยาของยาเซทอลโคเนียมกับยาชนิดอื่นๆ
ควรเก็บรักษายาเซทอลโคเนียมอย่างไร?
สามารถเก็บยาเซทอลโคเนียมยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
เซทอลโคเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเซทอลโคเนียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bonjela (บอนเจลา) | Reckitt Benckiser Healthcare |
Bionet Lozenge (ไบโอเนท ลอเซ็ง) | Church & Dwight Company, Inc. |
Emercol Loz (อีเมอร์คอล ลอเซ็ง) | Pharmavite Laboratories (1987) Inc. |
Teejel Gel (ทีเจล เจล) | Purdue Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB11583 [2018,July28]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.624.pdf [2018,July28]
- https://www.netdoctor.co.uk/medicines/mouth-teeth/a7835/bonjela/ [2018,July28]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/bonjela/ [2018,July28]
- https://www.medicines.org.uk/emc/files/pil.619.pdf [2018,July28]