เชื้อเอชไพโลไรกับมะเร็งกระเพาะอาหาร (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 12 มกราคม 2563
- Tweet
จากข่าวสาวนักวิ่งมาราธอนเสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร นพ.นรินทร์ วรวุฒิ อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาเปิดเผยถึงวิธีป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้น ด้วยการให้ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกัน
เพราะมะเร็งกระเพาะอาหารส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ โพโลไร ( Helicobacter pylori) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร หากไม่มีการใช้ช้อนกลางก็จะทำให้แบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าสำหรับคนไข้ภูมิคุ้มกันไม่ดี
สำหรับอาการของคนป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารนั้น แรกเริ่มจะไม่ออกอาการ แต่หากเป็นแล้วจะมีอาเจียนเป็นเลือด ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการย่อยยาก ปวดท้องไม่รู้สาเหตุ โลหิตจางไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งแพร่กระจายก็จะมีภาวะตับโต ปวดท้อง น้ำในท้อง หรือคลำก้อนได้ที่ไหปลาร้าข้างซ้าย เมื่อมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
ทั้งนี้ นอกจากคำแนะนำให้ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหารแล้ว ยังมีข้อควรปฏิบัติเพื่อลดโอกาสการเกิดโรคนี้ได้ อาทิ
งดแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารเค็ม อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง เนื้อสัตว์รมควันหรือใส่ดินประสิว กินผักและผลไม้ให้มาก ๆ เป็นประจำทุกวัน ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และถ้าพบว่ามีการติดเชื้อเอชไพโรไลของกระเพาะอาหารควรรีบรักษาให้หายขาด
เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีประวัติเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หรือติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori) เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารตั้งแต่ระยะก่อนมีอาการ โดยอาจต้องทำการตรวจปีละครั้ง ถ้าพบว่าเริ่มมีความผิดปกติจะได้รักษาได้ทัน เนื่องจากการรักษาในระยะแรกมักจะได้ผลดีหรือช่วยให้หายขาดได้
สำหรับผู้ที่มีอาการปวดแสบลิ้นปี่ก่อนกินอาหาร หรือจุกแน่นท้องหลังกินอาหาร ถ้าเพิ่งเป็นครั้งแรกโดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ และมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ให้กินยาต้านกรดครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน
ถ้ากินยาไป 2-3 วันแล้วอาการทุเลาลงให้กินยาต่อไปจนครบ 2 สัปดาห์ (แต่ถ้าอาการยังไม่ทุเลาตั้งแต่แรก หรือในกรณีที่กินยาครบ 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่หายดี ควรรีบไปพบแพทย์)
และถ้าหายดีแล้วให้กินยาต่อไปจนครบ 6-8 สัปดาห์ (หากกินยาจนครบ 6-8 สัปดาห์ แล้วต่อมามีอาการกำเริบขึ้นอีก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ) แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอายุเกิน 40 ปี แม้จะมีอาการเป็นครั้งแรก และไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์
หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรง ปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง กระเทือนถูกเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ตัวเหลืองตาเหลือง หรือมีน้ำหนักตัวลดลง เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
แหล่งข้อมูล:
- หมอเผยวิธีป้องกัน มะเร็งกระเพาะอาหาร ทำได้ง่ายด้วยการใช้ช้อนกลาง. https://news.mthai.com/general-news/746902.html[2020, January 1].