เชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล (ตอนที่ 1)
- โดย ภก. กรชัย ฉันทจิรธรรม
- 11 เมษายน 2556
- Tweet
จากข่าวที่ ศาสตราจารย์คลีนิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงการดื้อยาในโรงพยาบาล ทำให้หลายคนกังวลว่าเมื่อเกิดเชื้อดื้อยาแล้ว จะทำอย่างไร โดยเฉพาะขณะนี้พบว่า การติดเชื้อโรคดื้อยา เป็นโรคติดเชื้อชนิดใหม่ที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอยู่
การดื้อยา (Drug resistance) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคและเมื่อเชื้อโรคดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่ง ก็มักจะดื้อกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นในประเภทเดียวกัน ทำให้การรักษาโรคติดเชื้อนั้นๆ ได้ผลไม่ดี ต้องใช้ยาปฏิชีวนะประเภทที่มีความสามารถสูงขึ้นเพื่อมายับยั้งเชื้อโรค ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่การติดเชื้อดื้อยา มักพบในผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน อย่างไรก็ตามการรักษาโรคติดเชื้อดื้อยาบางชนิดยังมียาที่มีประสิทธิภาพสามารถรักษาได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจให้การรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย
เชื้อที่ว่านี้คือ เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ในร่างกายคนเรา โดยเฉพาะเชื้อสตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อที่พบได้บ่อยมาก ประมาณว่าในคน 3 คน จะพบเชื้อนี้ 1 คน เมื่อเชื้อแบคทีเรียเกิดการดื้อต่อยาปฏิชีวนะก็จะกลายเป็นเชื้อที่รักษายาก เพราะเชื้อโรคสามารถดื้อต่อยาที่เคยใช้รักษาได้มาก่อน
สำหรับการแพร่กระจายเชื้อนั้น ส่วนใหญ่จะติดต่อทางการสัมผัส ทั้งทางตรงโดยใช้มือ และทางอ้อมโดยผ่านอุปกรณ์ของเครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้การให้การรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและต้องให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะถ้ามีการใช้ยาปฏิชีวนะที่ยาวนาน ก็จะมีส่วนกระตุ้นให้เชื้อโรคนั้นดื้อยาได้อีกเช่นกัน
ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะ ควรใช้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชนิดของยา ขนาดของยา และระยะการให้ยาระหว่างมื้อยา โดยแพทย์และผู้ป่วยต้องร่วมมือกันก็จะช่วยลดโอกาสที่เชื้อโรคจะพัฒนาเพื่อ ต่อต้านยาที่ใช้รักษา และลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้ป่วยอื่นด้วย
การดื้อยาคือการลดลงของประสิทธิภาพของยา เช่น ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobials) หรือ ยาต้านมะเร็ง (Anti-neoplastic) ในการรักษาโรค เมื่อยาไม่ได้ฆ่าหรือยับยั้งโรค (Pathogen) ได้จริงๆ เราเรียกว่าขนาดยาที่ใช้ไม่ได้ผล หรือมีความต้านทานต่อยา (Drug tolerance) ซึ่งเป็นกรณีธรรมดาที่สุด
ส่วนกรณีการดื้อยาที่ได้มีวิวัฒนาการมาภายหลัง เมื่อเชื้อโรคดื้อยามากกว่า 1 ชนิดนั้น เราเรียกว่ามีการดื้อต่อยาหลายชนิด (Multi-drug resistance : MDR) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (Immune) ของสิ่งมีชีวิต (Organism) พัฒนาการของการดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) โดยเฉพาะ เกิดจากยาที่พุ่งเป้าหมายไปที่โปรตีนเฉพาะของแบคทีเรียเ เนื่องจากยาใช้จำเพาะเจาะจงมาก การกลายพันธ์ในโปรตีนเหล่านี้จะรบกวนหรือยับยั้งผลการทำลายของยา ผลลัพธ์ก็คือเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะ
แหล่งข้อมูล
- ทำอย่างไร! เมื่อเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล - http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000033764&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2013, April 9]
- Drug resistance. http://en.wikipedia.org/wiki/Drug_resistance [2013, April 9]