เจ็บไข้ได้ป่วย ตอนที่ 49 – จิตใจที่ยึดมั่น (1)

เจ็บไข้ได้ป่วย – จิตใจที่ยึดมั่น (1)

จิตใจที่ยึดมั่น (Mind-set) เกี่ยวกับสุขภาพจะกระทบต่อชีวิตของเรามากกว่ายาใดๆ, โรคใดๆ, หรือแพทย์ใดๆ เราอาจต้องพัฒนาระบบความเชื่อใหม่ที่ให้เชื่อมั่น (Confident) เกี่ยวกับสุขภาพ (Health) และสุขภาวะสมบูรณ์ (Well-being)

เราเคยเชื่อว่าร่างกายได้รับอิทธิพล (Influence) จากเหตุการณ์ (Event) ทางกายภาพ (Physical) และชีวภาพ (Biological) ส่วนจิตใจ (Mind) อาจมีความสำคัญต่ออารมณ์และความเชื่อ แต่มีผลกระทบไม่มากต่อร่างกาย

แต่ทุกวันนี้ มีงานวิจัยมหาศาล (Immense) ที่แสดงว่า สุขภาพกาย ได้รับผลกระทบอย่างหนัก (Strongly impacted) จากจิตใจ สิ่งที่เราคิดมีอิทธิพลต่อความไว (Susceptibility) และความต้านทาน (Resistance) ต่อโรคภัยไข้เจ็บ ทุกวันนี้มีสาขาใหม่ของงานวิจัยเรียกว่า “ภูมิคุ้มกันต่อจิต-ประสาท” (Psycho-neuro-immunology) ซึ่งอุทิศ (Dedicated) ให้กับการเปิดเผย (Unlocking) ความเชื่อมโยงระหว่างความคิดของเรากับระบบภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับของเวชปฏิบัติส่วนใหญ่ เนื่องจากแรงต้านต่อการเปลี่ยนแปลงที่ตรงข้าม (Contrary) กับสิ่งที่แพทย์เคยได้รับการสอนในโรงเรียนแพทย์นั่นเอง

แต่ก็มีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า สุขภาพขึ้นอยู่กับจิตใจ เพราะวงการแพทย์ยังไม่สามารถกำจัด (Eliminate) โรคเรื้อรัง (Chronic) จำนวนมาก ดูเหมือนแพทย์ถูกบังคับให้รับรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว ยังไม่ได้ผล (Ineffective) แล้วยังอาจเกิดอันตราย (Harmful) ได้อีกด้วย

นี่เป็นปัญหารุนแรง และก็จะเลวร้ายลงไปอีก เมื่อมีประจักษ์หลักฐาน (Evidence) ว่าอิทธิพลของจิตใจต่อสุขภาพ สามารถสะสมได้ (Build up)

มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่แสดงชัดเจนว่า จิตใจมีอำนาจมหาศาล (Tremendous power) เหนือร่างกาย ตัวอย่างเช่น ผลกระทบของยาหลอก (Placebo) แสดงประจักษ์หลักฐานอย่างมาก (Dramatic) ในเรื่องอำนาจของจิตใจ

ยาหลอก คือกระบวนการที่นักวิจัยหลอกคนไข้ว่าได้รักษาด้วยยาจริง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ยาเม็ดจริง (Dummy pill) คนไข้ที่คิดว่ากินยาจริงเป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ (Reaction) ที่สอดคล้อง (Consistent) กับความคาดหวัง (Expectation)

ความคิด (Thought) ของเราสร้างผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายของเรา

อันที่จริง มีประจักษ์หลักฐานของสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่าง ความคิด, อารมณ์, กับโรคภัยไข้เจ็บ ส่งที่นักวิจัยค้นพบ (Discover) ก็คือ ความคิดของเราและอารมณ์ของเรา มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของโรค เราทำให้สุขภาพเราเองแข็งแรงหรือเจ็บป่วยผ่านความคิดและปฏิกิริยาตอบโต้ต่อความคิดเหล่านั้น

แหล่งข้อมูล

  1. Traverso, Matt. (2014). Health, Vitality, and Energy in Your Body (eBook). USA.
  2. Mindset - https://en.wikipedia.org/wiki/Mindset [2022, October 4].