เจ็บไข้ได้ป่วย ตอนที่ 24 – สารอาหาร (1)

เจ็บไข้ได้ป่วย – สารอาหาร (1)

 

หาก 1 ใน 2 ของผู้คนที่เรารู้จัก อาจจะถูกฆาตกรรม หรือ ถูกฆ่าตายก่อนเวลาอันสมควร เราจะถือว่าเป็นการระบาด (Epidemic) ระดับชาติหรือไม่?

และถ้ามีใครกล่าวว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อป้องกันการตายเหล่านี้ ก็คือให้ผู้คนรู้ว่า ต้องกินอาหารแตกต่างไปจากปัจจุบัน เราจะเชื่อไหม?

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences (NAS) รายงานว่า ทุก 1 ใน 2 คนจะตายด้วยโรคหัวใจ และ 1 ใน 3 ด้วยโรคมะเร็ง (Cancer)

และการตายเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ (Preventable) เพราะมันสัมพันธ์กับอาหาร (Diet) และวิถีชีวิต (Life-style)

เช่นเดียวกัน แพทยสมาคมอเมริกัน (American Medical Association : AMA) ได้ตีพิมพ์ (Published) ว่า 85% ของโรคหลัก (Major) ทั้งปวงล้วนสัมพันธ์กับอาหาร

ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน (Diabetes), โรคหัวใจ (Heart disease), โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke), โรคมะเร็ง (Cancer), โรคความดันโลหิตสูง (High blood pressure), โรคอ้วนเกิน (Obesity), โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis), โรคตับ (Liver disease) เป็นต้น

ก่อนที่เราจะพิจารณาสิ่งที่เราควรรับประทาน โปรดระลึกในใจว่า เราถูกชักจูงตลอดเวลาให้เชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่ลึกลับ (Mystery) หรืออยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

ในโลกของการผูกขาดด้านการแพทย์ (Medicine monopoly) โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ทุกวันนี้ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่แฝงมาในคำถามว่า ใครต้องการอะไรมากที่สุด? และเราจะยอมจ่ายในราคาใด? การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ใครเป็นคนจ่ายเงิน มากกว่าเป็นข้อเท็จจริง ที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientifically verifiable)

ในสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอาหารขยะ (Junk food) ให้การสนับสนุนทางการเงิน จึงมีอิทธิพลต่องานวิจัยสารอาหารส่วนใหญ่ ในมหาวิทยาลัยและสถาบัน (Institutions) ใน 150 ปีที่ผ่านมา

ผู้บริจาค (Contributor) เงินยักษ์ใหญ่ให้แก่งานวิจัยด้านสารอาหาร (Nutritional research) ที่สังกัดมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ก็คืออุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์, และอุตสาหกรรมนมเนย (Dairy)

นี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) มิใช่หรือ?

หมายเหตุ- บล็อกเรื่องอาหารเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ชัดเจน เพียงแต่มีกลุ่มคนที่ศึกษาในเรื่องนี้มีข้อเสนอแนะที่ต่างออกไป อยากให้ผู้อ่านตระหนักว่า ยังเป็นแนวคิดใหม่ ที่กำลังศึกษาว่า น่าจะเป็นประโยชน์ แต่ต้องระมัดระวังด้วย ในทางปฏิบัติจึงต้องพิจารณาให้ดี ถึงสุขภาพ, นานาโรค, ยาต่างๆ, และคำแนะนำของแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับแล้ว ข้อสำคัญ ต้องไม่ให้เกิดโทษ เช่น ปฏิเสธวิธีเดิมทั้งๆ ที่แพทย์แนะนำ เป็นต้น    

แหล่งข้อมูล

  1. Traverso, Matt. (2014). Health, Vitality, and Energy in Your Body (eBook). USA.
  2. Nutrient - https://en.wikipedia.org/wiki/Nutrient [2021, August 17].