เจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ (Prolonged labor)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 12 สิงหาคม 2560
- Tweet
- ภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติคืออะไร?
- ใครมีความเสี่ยงเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
- อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
- สตรีตั้งครรภ์รู้ได้อย่างไรว่ามีการเจ็บครรภ์ครรภ์นานเกินปกติ?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเจ็บครรภ์คลอด?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติได้อย่างไร?
- รักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติอย่างไร?
- ภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติมีอันตรายต่อมารดาและต่อทารกในครรภ์หรือไม่?
- ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติจะมีอันตรายอะไรบ้าง?
- ดูแลตนเองที่บ้านอย่างไรหลังมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
- เมื่อกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- เมื่อมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใด?
- จะกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อใดกรณีมีการเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
- ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใดหลังมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
- การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติซ้ำอีกหรือไม่?
- บรรณานุกรม
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- ภาวะเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal distress)
- ตกเลือดหลังคลอด (Postpartum hemorrhage)
- เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติคืออะไร?
สตรีส่วนใหญ่เมื่อตั้งครรภ์ครบกำหนดการคลอด จะเริ่มมีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกถี่ขึ้นเรื่อยๆ จากชั่วโมงละประมาณ 2-3 ครั้ง เป็นทุก 4-5 นาที โดยสตรีตั้งครรภ์จะมีอาการเจ็บ บริเวณช่องท้อง ท้องน้อย หัวเหน่า และรวมถึง บริเวณหลัง อาการเจ็บจะรุนแรงมากขึ้น รับประทานยาแก้ปวด หรือนอนพักมักไม่หายปวด ที่เรียกว่า “เจ็บครรภ์คลอดจริง” และจากนั้นจะมีการคลอดตามมา ระยะเวลาในการเจ็บครรภ์คลอดจริงในการคลอดบุตรครั้งแรกกับครั้งหลังต่อไปจะไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ท้องแรกมักใช้เวลานานกว่า โดยเฉลี่ยอาจถึง 12 -18 ชั่วโมงตั้งแต่เจ็บครรภ์จนกระทั่งคลอด ส่วนการเจ็บครรภ์คลอดจริงในท้องหลังมักจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
ดังนั้นสำหรับสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป ประมาณโดยคร่าวๆ หากมีการเจ็บครรภ์ถี่ขึ้น มีมดลูกหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอเกิน 18-24 ชั่วโมงแล้วไม่คลอด ต้องระวังว่า จะมี “ภาวะเจ็บครรภ์นานกว่าปกติ/เจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ(Prolonged labor หรือ Failure to progress in labor)” ที่ต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่ เพื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ใครมีความเสี่ยงเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
สตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ ได้แก่
1. เป็นการตั้งครรภ์แรก
2. มารดา/สตรีตั้งครรภ์มีอายุมาก ทำให้การยืดขยายของช่องเชิงกรานไม่ดี
3. มารดาตัวเตี้ย (สูงน้อยกว่า150 ซม.) ทำให้ช่องเชิงกรานแคบ
4. อ้วน
5. ทารกในครรภ์ตัวโต
6. ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ
7. มดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด
8. มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก(เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)
อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ ได้แก่
1. ทารกตัวโต หรือ ช่องเชิงกราน/อุ้งเชิงกรานแคบ ทำให้มีการผิดสัดส่วนระหว่างศีรษะทารกในครรภ์กับขนาดของอุ้งเชิงกรานมารดา ทำให้การดำเนินการคลอดเป็นไปได้ช้า ทำให้เจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติ
2. สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับยาแก้ปวดมากเกินไป
3. มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ไม่แรงพอ
4. ยังไม่ได้เป็นการเจ็บครรภ์จริง (True labor pain) เป็นเพียงเจ็บครรภ์หลอก (False labor pain) มดลูกหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอ ทำให้ปากมดลูกไม่ขยาย จึงไม่มีความก้าวหน้าของการคลอด
5. มารดาอ่อนเพลีย ไม่มีแรงเบ่ง
สตรีตั้งครรภ์รู้ได้อย่างไรว่ามีการเจ็บครรภ์ครรภ์นานเกินปกติ?
จริงๆแล้วสตรีตั้งครรภ์แต่ละคนมีความทนต่อความเจ็บปวด/การเจ็บครรภ์คลอดไม่เท่ากัน โดยทั่วไป หากการดำเนินการคลอดเป็นไปตามปกติ อาการเจ็บครรภ์คลอด จะค่อยๆถี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของการจะคลอดบุตร ซึ่งเมื่อสตรีตั้งครรภ์มีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเจ็บครรภ์คลอด?
เมื่อมีมดลูกหดรัดตัวสม่ำเสมอ มีการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอทุก10 นาที นอนพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น สตรีตั้งครรภ์ควรจะต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเลย เพื่อรับการประเมินที่ถูกต้องเหมาะสม ทันเวลา ไม่ควรจะรอไปเรื่อยๆ
แพทย์วินิจฉัยภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติได้อย่างไร?
เมื่อสตรีตั้งครรภ์เข้าสู่ภาวะเจ็บครรภ์จริง ในทางการแพทย์จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ก. ช่วงที่ปากมดลูกเปิดขยายช้าๆ และปากมดลูกเปิดขยายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ซม.(Latent phase) และ
ข. ช่วงที่ปากมดลูกเปิดขยายเร็วและขยายประมาณ 4-10 ซม. (Active phase) แต่ในบางการศึกษา จะถือว่า ปากมดลูกเปิดขยายมากกว่าหรือเท่ากับ 6 ซม. จึงจะเป็น Active phase
ในสตรีตั้งครรภ์แรก หาก Latent phase นานเกิน 20 ชั่วโมง และในท้องหลังนานเกิน 14 ชั่วโมง ถือว่า Prolonged latent phase สำหรับในช่วง Active phase หากความก้าวหน้าของการคลอดปกติ ปากมดลูกในครรภ์แรกจะเปิดขยาย ประมาณ 1.2 ซม.ต่อชั่วโมง ส่วนในครรภ์หลัง ปากมดลูกจะเปิดขยายประมาณ 1.5 ซม.ต่อชั่วโมง
โดยทั่วไป พบว่า สตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่ Active phase จนกระทั่งคลอดในครรภ์แรก จะใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง และประมาณ 4-5 ชั่วโมงในครรภ์หลัง
ทั้งนี้ ระหว่างรอคลอด แพทย์จะมีการประเมินการหดรัดตัวของมดลูกเป็นระยะๆ มีการตรวจภายใน ประเมินการเปิดขยายของปากมดลูก การเคลื่อนต่ำของศีรษะทารกเป็นระยะๆเช่นกัน หากความก้าวหน้าของการคลอดมีการดำเนินไปไม่เป็นปกติ/ช้ากว่าปกติ ก็จะให้การวินิจฉัยว่าเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
รักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติอย่างไร?
แพทย์จะทำการประเมินสตรีตั้งครรภ์แรกรับ/แรกมาถึงแพทย์ ตั้งแต่การซักประวัติการตั้งครรภ์ การเคยคลอดบุตร ระยะเวลาที่เจ็บครรภ์ ความรุนแรงของการเจ็บครรภ์ อาการร่วมอย่างอื่น เช่น
- การมีเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำเดิน แพทย์จะมีการประเมินการหดตัวของมดลูก ท่าทารก ขนาดของทารก โดยการตรวจทางหน้าท้อง จากนั้นจะทำการตรวจภายใน เพื่อประเมินการบางตัว/การเปิดขยายของปากมดลูก ความกว้างของอุ้งเชิงกราน หลังจากประเมินทุกด้านแล้ว หากทารกตัวไม่โต ช่องเชิงกรานกว้างพอที่จะให้คลอดทางช่องคลอด ในกรณีที่อายุครรภ์ครบกำหนด แพทย์จะพิจารณากระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวแรงขึ้นในกรณีที่การหดรัดตัวของมดลูกไม่ดีพอ โดยแพทย์จะพิจารณาให้ยา(เช่นยา Oxytocin)ทางสายน้ำเกลือหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Oxytocin augmentation) หรือแพทย์อาจพิจารณาเจาะถุงน้ำคร่ำ(Amniotomy) อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด)
- แต่หากมดลูกหดรัดตัวดีแล้ว ทารกตัวโต จะพิจารณาผ่าตัดคลอด อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร)
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติมีอันตรายต่อมารดาและทารกในครรภ์หรือไม่?
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติมีอันตราย/มีผลต่อมารดาและทารกในครรภ์ ดังนี้
ก. ผลต่อมารดา: ได้แก่ ส่งผลให้มารดาเกิด
1. เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
2. เครียด
3. เสี่ยงต่อได้รับการทำหัตถการการคลอดเพิ่มขึ้น เช่น การช่วยคลอดด้วยถ้วยดูดสุญญากาศ (Vacuum extraction) การคลอดด้วยคีม (Forceps extraction) การผ่าตัดคลอด/การผ่าท้องคลอดบุตร(Cesarean section)
4. เสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุมดลูกอักเสบ
5. เสี่ยงต่อภาวะตกเลือดหลังคลอด จากการที่มดลูกหดรัดตัวไม่ดี
ข. ผลต่อทารก: ได้แก่
1. ทารกอยู่ในภาวะเครียด(ภาวะเครียดของทารกในครรภ์)
2. ในทารกตัวโต เสี่ยงต่อการคลอดติดไหล่ทารก
3. มีภยันตรายต่อทารก เช่น ทารกกลืนขี้เทาเข้าปอดจนส่งผลให้ทารกมีการหายใจผิดปกติ
ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติจะมีอันตรายอะไรบ้าง?
ส่วนมากทารกทีเกิดจากมารดาเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ จะไม่มีปัญหาในการเจริญเติบโต/พัฒนาการหากทารกไม่อยู่ในภาวะเครียด(ภาวะเครียดของทารกในครรภ์)นานเกินไป และได้รับการดูแลช่วยเหลือให้มีการคลอดทันท่วงที
ดูแลตนเองที่บ้านอย่างไรหลังมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
ส่วนมากที่สตรีตั้งครรภ์คิดว่าเจ็บครรภ์นานกว่าปกติ มักเป็นการนับรวมการเจ็บครรภ์หลอกที่มีการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกไม่สม่ำเสมอไปด้วย ซึ่งกรณีเจ็บครรภ์หลอก จะไม่มีความก้าวหน้าของการคลอด มารดาสามารถนอนพัก แช่น้ำอุ่น นวดหลัง และสังเกตอาการเจ็บครรภ์ต่อได้ แต่หากเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์จริง สตรีตั้งครรภ์มักทนอาการปวด/เจ็บครรภ์ไม่ได้ ต้องรีบไปโรงพยาบาล ส่วนการวินิจฉัยว่าเจ็บครรภ์นานกว่าปกติ ต้องเป็นการวินิจฉัยจากแพทย์/สูติแพทย์
เมื่อสตรีที่มีการเจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติ และได้คลอดบุตรแล้ว การดูแลตนเองหลังการคลอดเมื่อกลับมาอยู่บ้าน จะขึ้นกับว่าสตรีนั้นได้รับการช่วยเหลือการคลอดด้วยวิธีใดตามที่ได้กล่าวในหัวข้อ “การรักษาฯ” อ่านเพิ่มเติมเรื่องการดูแลตนเองได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร“
เมื่อกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
เมื่อยังไม่มีการคลอดบุตร หรือเมื่อนอนพักแล้วไม่หายปวด/เจ็บครรภ์ มีอาการเจ็บครรภ์มากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีถุงน้ำคร่ำแตก(น้ำเดิน) หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ทารกดิ้นลดลง หรือทารกไม่ดิ้น ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
กรณีมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติแล้วได้คลอดบุตรจนแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองที่บ้านแล้ว ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อใด แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร“
เมื่อมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อใด?
เมื่อมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ ภายหลังการคลอดบุตรแล้ว การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะไม่ขึ้นกับการเคยมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติหรือไม่ แต่จะขึ้นกับว่า มีการคลอดด้วยวิธีใดมากกว่า เช่น คลอดทางช่องคลอด หรือผ่าตัดคลอด อย่างไรก็ดีควรเว้นระยะมีบุตรไป 2-3 ปี เพื่อให้เลี้ยงบุตรคนแรกได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด เรื่องการคลอดบุตร และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร“
จะกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อใดกรณีมีการเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
สตรีหลังการคลอดบุตรโดยมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ สามารถกลับมามีเพศสัมพันธ์ได้เหมือนหลังการคลอดของสตรีทั่วไป คือ หลังคลอดแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ขึ้นไป เพียงแต่หากต้องคุมกำเนิด ควรคุมกำเนิดก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์
ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใดหลังมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ?
สตรีที่ผ่านการคลอดจากมีการเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ สามารถคุมกำเนิดได้ด้วยวิธีการต่างๆเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป เช่น หากเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมมารดา ต้องหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดด้วยยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรวมชนิดรับประทาน เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง ดังนั้นกรณีเช่นนี้ ควรเลือกใช้ยาที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน(Progestogen) ได้แก่ ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงฮอร์โมนเดียว หรือวิธีการอื่นที่ไม่ใช้ยาคุมกำเนิด เช่น การใส่ห่วงอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยชาย
การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติซ้ำอีกหรือไม่?
หากสตรียังมีปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ “ความเสี่ยง/ปัจจัยเสี่ยงฯ”ก็มีโอกาสเกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดนานเกินปกติ ซ้ำซ้ำอีกได้
บรรณานุกรม
- Cunningham FG, Leveno KJ, Bloom SL, Spong CY, Dashe JS, Hoffman BK, et al. Williams Obstetrics. 24th ed. New York : McGRAWHill. 2014.
- https://www.uptodate.com/contents/normal-and-abnormal-labor-progression?[2017,June24]
- http://www.webmd.com/baby/guide/prolonged-labor-causes-treatments#1[2017,June24]
- Zhang J, Landy HJ, Branch DW, Burkman R, Haberman S, Gregory KD, et al. Contemporary patterns of spontaneous labor with normal neonatal outcomes. Obstet Gynecol. 2010;116(6):1281.