เจาะสบายไร้กังวล (ตอนที่ 3)

เจาะสบายไร้กังวล-3

      

การเจาะเลือด (Blood Draw / Phlebotomy) เป็นเรื่องปกติทั่วไปของการทดสอบทางการแพทย์หรือการบริจาคเลือด ซึ่งระยะเวลาในการเจาะเลือดขึ้นกับปริมาณของเลือดที่ต้องการ โดยการเจาะเลือดมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • รัดรอบแขนด้วยยางรัด (Elastic band) เพื่อให้เห็นหลอดเลือดที่จะทำการเจาะได้ชัดเจนขึ้น โดยรัดเหนือบริเวณที่จะเจาะประมาณ 3-4 นิ้ว ภายในเวลาไม่เกิน 2 นาที เพื่อป้องกันการชาหรือเป็นตะคริว
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณหลอดเลือดที่จะเจาะด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาทำความสะอาดเป็นเวลา 30 วินาที และปล่อยให้แห้งเองอีก 30 วินาที
  • แทงเข็มฉีดยา (Syringe) เข้าใต้ผิวหนัง โดยทำมุม 15-30 องศา เพื่อเก็บเลือด
  • เมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่ตองการแล้ว ปลดที่รัดแขน ดึงเข็มฉีดยาออก แล้วกดด้วยผ้าก๊อซเพื่อให้เลือดหยุดไหล ตามด้วยการปิดบาดแผลด้วยแผ่นพลาสเตอร์

อนึ่ง หลอดเลือดที่นิยมเจาะกันมากที่สุดคือ หลอดเลือดดำมีเดียน คิวบิตัล (Median cubital vein) ที่อยู่ตรงแอ่งหน้าข้อศอ/แอ่งแขนพับ (Antecubital fossa) ซึ่งเป็นหลอดเลือดใหญ่ที่จะทำให้ได้เลือดในปริมาณที่มากและไม่ทำลายเส้นประสาทโดยรอบ ส่วนหลอดเลือดอื่นที่นิยมเจาะ ได้แก่

      o หลอดเลือดดำเบซิลิค (Basilic vein)

      o หลอดเลือดดำเซฟาลิค (Cephalic vein)

ทั้งนี้ บริเวณที่ควรหลีกเลี่ยงการเจาะเลือด ได้แก่ บริเวณที่

      o บวม (Edematous sites)

      o เป็นแผลหรือไหม้ (Scarred or burned areas)

      o เป็นรูเชื่อมและมีการปลูกถ่าย (Fistulas and grafts)

      o รอยฟกช้ำ (Hematomas)

      o แขนที่มี PICC line (Peripherally Inserted Central Catheter Line)

      o แขนที่เคยมีหรือมีลิ่มเลือดอุดตัน (Blood clot)

      o แขนข้างที่เคยผ่าตัดเต้านม (Mastectomy)

      o เป็นแผลเปิดหรือติดเชื้อ

      o แขนที่กำลังถ่ายเลือด

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อการเจาะเลือด

ก่อนการเจาะเลือด

  • ดื่มน้ำให้มาก เมื่อร่างกายมีส่วนประกอบของน้ำมาก จะทำให้มีปริมาณเลือดมาก หลอดเลือดจะอวบและเจาะได้ง่าย
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน ธัญพืช เพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะหลังการเจาะเลือด (ก่อนเวลางดน้ำและอาหาร)
  • ใส่เสื้อแขนสั้นเพื่อสะดวกต่อการเจาะที่แขน
  • กรณีบริจาคเกล็ดเลือด (Platelets) ให้หยุดยา Aspirin อย่างน้อย 2 วัน ก่อนวันเจาะเลือด

แหล่งข้อมูล:

  1. How Is Blood Drawn? What to Expect. https://www.healthline.com/health/how-blood-is-drawn[2020, September 6].
  2. How To Draw Blood Like A Pro: Step-By-Step Guide. https://nurse.org/articles/how-nurses-professionally-draw-blood/ [2020, September 6].
  3. Bruising after a blood draw: What to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/327464#why-might-bruising-occur-after-a-blood-draw [2020, September 6].