เจสโตดีน (Gestodene)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 ตุลาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- เจสโตดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เจสโตดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เจสโตดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เจสโตดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- เจสโตดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เจสโตดีนอย่างไร?
- เจสโตดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเจสโตดีนอย่างไร?
- เจสโตดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
- ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- ไมเกรน (Migraine)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
บทนำ
ยาเจสโตดีน(Gestodene) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ที่นำมาใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด จัดอยู่ในประเภทสเตียรอยดอล โปเจสติน (Steroidal progestin) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทานที่สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร หลังการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาเจสโตดีนจะอยู่ในกระแสเลือดนานประมาณ 16 – 18 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
สูตรตำรับของยาเจสโตดีนที่มีจำหน่าย มักจะมีส่วนผสมของฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ร่วมด้วย และหากนำยาเจสโตดีนมาทำสูตรตำรับร่วมกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ก็จะทำให้การใช้ปริมาณของยาเจสโตดีนลดลงได้อีก ซึ่งเหมาะที่จะใช้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีปริมาณไขมันในเลือดสูง
สำหรับผู้ที่ใช้ยาเจสโตดีน อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่บริเวณขา (Thromboembolism) มากกว่าสตรีที่ไม่ได้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด 5.6 เท่า และมากกว่าสตรีที่คุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล 1.6 เท่า
ประโยชน์ด้านอื่นนอกเหนือจากใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด ทางการแพทย์ยังนำยาเจสโตดีนมาใช้เพื่อ การทดแทนฮอร์โมนเพศในหญิงวัยหมดประจำเดือน โดยจะใช้ขนาดรับประทานที่ต่ำกว่าของขนาดการใช้คุมกำเนิด
ข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ฮอร์โมนชนิดนี้ได้หรือไม่นั้น เช่น
- ต้องไม่มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ต้องไม่มีโรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงผิดปกติ หรือเป็นผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ด้วยการใช้ยาเจสโตดีนอาจ ทำให้อาการของโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจ โรคไต โรคหืด โรคลมชัก ไมเกรน โรคซึมเศร้า และโรคเบาหวาน
ยาเจสโตดีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อร่างกายได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น มีอาการเนื้อตัวบวม เป็นต้น
การรับประทานยาเจสโตดีนร่วมกับยาบางตัวก็สามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ได้ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะยาตีกัน ผู้บริโภคควรแจ้งให้ แพทย์ และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่า ปัจจุบันมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อน
ผู้บริโภคที่ต้องการทราบรายละเอียดการใช้ยาเจสโตดีนเพิ่มเติม สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ตามสถานพยาบาล หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
เจสโตดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเจสโตดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด
- ใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือน
เจสโตดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเจสโตดีน เป็นฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยา จะยับยั้งการตกไข่ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูกโดยจะสร้างสารเมือกที่ขัดขวางการเดินทางของตัวอสุจิ พร้อมกับทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ทำให้ไม่เหมาะกับการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้ว ส่งผลให้เกิดฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์/การคุมกำเนิดตามสรรพคุณ
เจสโตดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาเจสโตดีนในประเทศไทย คือ เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนผสม เช่น
- Gestodene 0.075 มิลลิกรัม+ Ethinylestradiol 0.02 mg มิลลิกรัม/เม็ด
- Gestodene 60 ไมโครกรัม+ Ethinylestradiol 15 ไมโครกรัม/เม็ด
- Gestodene 75 ไมโครกรัม+ Ethinylestradiol 30 ไมโครกรัม/เม็ด
เจสโตดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเจสโตดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก: สำหรับเป็นยาเม็ดคุมกำเนิด:
- สตรีวัยเจริญพันธ์: กรณีใช้ขนาดรับประทานระดับเดียวคงที่ในรอบประจำเดือน(Monophasic) รับประทาน 75 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง, กรณีใช้ยาชนิดที่มีฮอร์โมน 3 ระดับ (Triphasic) รับประทานยาในขนาด 50 – 100 ไมโครกรัม/วัน
ข. สำหรับใช้เป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน: รับประทาน 25 หรือ 50 ไมโครกรัม/วัน เป็นเวลา 12 วันในแต่ละรอบประจำเดือน
*อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อม อาหารก็ได้
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเจสโตดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง ไมเกรน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเจสโตดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเจสโตดีน
- กรณีที่ใช้บำบัดอาการป่วยอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการคุมกำเนิด หากลืมรับประทานยานี้ ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
- กรณีที่ใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิด แล้วเกิดลืมรับประทานยานี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยานี้
เจสโตดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเจสโตดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร รับประทานอาหารได้มากขึ้น
- ต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ ผมร่วง หรือ มีภาวะขนดก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอนหรือไม่ก็นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เต้านมใหญ่ขึ้น ตัวบวม
มีข้อควรระวังการใช้เจสโตดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเจสโตดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีภาวะประจำเดือนมาผิดปกติโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ
- ห้ามใช้ใน ผู้ป่วยโรคตับในระดับรุนแรง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือด
- ห้ามรับประทานยาเกินขนาดที่กำหนด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด ไมเกรน ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- รับประทานยานี้ตรงเวลา ไม่ควรลืมรับประทานหรือรับประทานยานี้ผิดเวลา ด้วยจะ ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
- ระหว่างการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมน ควรตรวจคลำ เต้านมเพื่อตรวจสอบความผิดปกติ เช่น มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าพบสิ่งผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
- หากพบอาการผิดปกติใดๆของร่างกายในระหว่างการใช้ยานี้ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว/อารมณ์แปรปรวนมาก มีตะคริวบ่อย ฯลฯ ให้รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฮอร์โมนเจสโตดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เจสโตดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเจสโตดีน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเจสโตดีนร่วมกับยาบางประเภท เช่น Carbamazepine, Griseofulvin, Phenobarbital, Phenytoin, Rifampicin, อาจทำให้มีการกำจัดยาเจสโตดีนออกจากร่างกายได้มากขึ้น จนกระทบต่อฤทธิ์ในการคุมกำเนิด หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเจสโตดีนร่วมกับยา Cyclosporine ด้วยจะทำให้การทำลายยา Cyclosporine ของร่างกายลดน้อยลง และส่งผลให้ได้รับอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยา Cyclosporine ตามมา
ควรเก็บรักษาเจสโตดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาเจสโตดีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เจสโตดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเจสโตดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Annylyn 21 (แอนนีลิน 21) | Thai Nakorn Patana |
Annylyn 28 (แอนนีลิน 28) | Thai Nakorn Patana |
Ciclomex-20 (ไซโคลเม็กซ์-20) | Sinensix Pharma |
Gynera/Gynera ED (กายเนรา/กายเนรา อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
Lindynette (ลินดิเนท) | Gedeon Richter |
Meliane/Meliane ED (เมลิแอน/เมลิแอน อีดี) | Bayer HealthCare Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gestodene [2016,Sept24]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/gestodene/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept24]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB06730 [2016,Sept24]
- https://www.medicineindia.org/pharmacology-for-generic/2811/gestodene [2016,Sept24]