เจนตามัยซิน (Gentamicin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- เจนตามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- เจนตามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เจนตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เจนตามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- เจนตามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เจนตามัยซินอย่างไร?
- เจนตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเจนตามัยซินอย่างไร?
- เจนตามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
- รูปแบบยาเตรียม (Pharmaceutical Dosage Forms)
บทนำ
ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin หรือ Gentamicin sulfate) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ที่สังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียแกรมบวกที่มีชื่อว่า Micromonospora ซึ่งพบมากในน้ำและดิน
ยาเจนตามัยซิน มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ แบคทีเรียแกรมลบ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้กับเชื้อแบคทีเรียแกรมลบบางตัวได้ เช่น Neisseria gonorrhoeae, Neisseria meningitides หรือ Legionella pneumophila
ตัวยาเจนตามัยซินสามารถก่อให้เกิดพิษต่อเส้นประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน(ประสาทหู) และก่อให้เกิดความเป็นพิษกับไต ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักๆของยาตัวนี้
จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาเจนตามัยซิน ไม่สามารถถูกดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารของคน จึงไม่พบยานี้ในลักษณะของยารับประทาน แต่จะพบในรูปแบบ ยาฉีด ยาหยอดตา และยาทาภายนอก(ยาใช้ภายนอก) และเมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ไม่เกิน 10% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
องค์การอนามัยโลกได้บรรจุให้ยาเจนตามัยซินเป็นหนึ่งในรายชื่อยาขั้นพื้นฐานที่ควรมีไว้ใช้ในระดับชุมชน
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้รับรองให้ยาเจนตามัยซินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และสามารถพบเห็นการใช้ยาตามสถานพยาบาลทั่วไปของรัฐบาลและเอกชน
เจนตามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาเจนตามัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- การติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดี
- โรคติดเชื้อจากสัตว์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Brucella (โรค Brucellosis)
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
- ลำไส้อักเสบ,
- โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Klebsiella granulomatis (โรค Granuloma inguinale)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- หูติดเชื้อ
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
- กาฬโรค
- ปอดบวม
- ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
- การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการผ่าตัด
- รักษาการติดเชื้อบริเวณลูกตาโดยใช้ในรูปแบบยาหยอดตา
- รักษาการติดเชื้อผิวหนังโดยใช้ในรูปแบบยาครีมชนิดทาภายนอก
เจนตามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาเจนตามัยซิน คือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของแบคที เรียที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome) และรบกวนการสร้างโปรตีนของตัวแบคทีเรีย ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้แบคทีเรียหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด
เจนตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเจนตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีด ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดตา ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาหยอดตาผสมสเตียรอยด์ เช่น Prednisolone sodium phosphate 0.5% + Gentamicin sulfate 0.3%
- ยาหยอดหูผสมสเตียรอยด์เช่น Prednisolone sodium phosphate 0.5% + Gentamicin sulfate 0.3%
- ยาครีมใช้ทาภายนอก ขนาดความแรง 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม
- ยาครีมผสมสเตียรอยด์และยาอื่นใช้ทาภายนอก เช่น Betamethasone dipropionate 0.64 มิลลิกรัม + Gentamicin sulphate 1.7 มิลลิกรัม/ยาครีม 1 กรัม,
Betamethasone dipropionate 0.05 กรัม + Gentamicin sulfate 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม, Betamethasone valerate 0.1 กรัม + Gentamicin sulphate 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม, Betamethasone valerate 0.05% + Gentamicin sulfate 0.1% + tolnaftate 1% + Iodochlorhydroxyquin 1%
เจนตามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาเจนตามัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้: เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 3 - 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 8 ชั่วโมง
- เด็กที่อายุ 2 สัปดาห์ลงมา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 ชั่วโมง
- เด็กที่อายุ 2 สัปดาห์ - 12 ปี: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมง
ข. สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนเข้ารับการผ่าตัด:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 120 มิลลิกรัมก่อนวางยาสลบ ปกติจะใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆเช่น Penicillin, Vancomycin หรือ Teicoplanin
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์โดยประเมินจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก
ค. สำหรับยาหยอดตา (กรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเปลือกตา/หนังตา):
- ผู้ใหญ่: หยอดตา 1 - 2 หยดทุก 4 ชั่วโมง หากมีการติดเชื้อรุนแรงหยอดตา 2 หยดทุกชั่วโมง
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ง. สำหรับทาผิวเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย:
- ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียวันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเจนตามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาเจนตามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เจนตามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเจนตามัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- วิงเวียน
- ไตล้มเหลว/ ไตวาย เฉียบพลัน
- ไตอักเสบ
- เกลือแร่ในเลือด/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ขาดสมดุล
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ชัก
- ซึมเศร้า
- ประสาทหลอน และ
- เป็นพิษกับเส้นประสาทหู/การได้ยินลดลง/หูตึง
มีข้อควรระวังการใช้เจนตามัยซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเจนตามัยซิน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycoside)
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิง ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กทารก และผู้สูงอายุ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเจนตามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
เจนตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเจนตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยากลุ่ม Ampicillin, Benzylpenicillin และ Beta – lactam antibiotics จะเกิดการเสริมฤทธิ์ในการรักษา โดยการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาสลบ (Anaesthetics) หรือยากลุ่มอนุพันธุ์ฝิ่น (Opioids ) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกดการหายใจ (หายใจช้า ตื้น จนถึงหยุดหายใจ) ของผู้ป่วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาที่ชะลอการสูญเสียมวลกระดูกเช่น Biphosphonate จะทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาชีวะวัตถุ (Biological drug, ยาที่เป็นสารทางชีววิทยา) เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของเอนไซม์บางชนิด (เช่น ยา Agalsi dase alfa และ Agalsidase beta)
ควรเก็บรักษาเจนตามัยซินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเจนตามัยซิน เช่น
- สำหรับยาฉีด เก็บระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- สำหรับยาหยอดตา เก็บระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส
- สำหรับยาทาภายนอก เก็บระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส
*****อนึ่ง:
- ควรเก็บยาทุกรูปแบบให้พ้นแสงแดดและความชื้น
- ต้องไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
- ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
เจนตามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเจนตามัยซิน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Beprogent (เบโพนเจน) | HOE Pharmaceuticals |
Beprogenta (เบโพนเจนตา) | Chew Brothers |
Betagen (เบทาเจน) | Thai Nakorn Patana |
Dermaheu (เดอมาเฮ) | Thai Nakorn Patana |
Dertec (เดอเทค) | Millimed |
Garamycin Cream (การามัยซิน) | MSD |
Gencidal (เจนไซดอล) | Thai Nakorn Patana |
Genquin (เจนควิน) | Seng Thai |
Genta M H (เจนตา เอ็มเฮช) | M&H Manufacturing |
Genta T Man (เจนตา ที แมน) | T. Man Pharma |
Gentacin (เจนตาซิน) | Olan-Kemed |
Gentaderm (เจนตาเดิร์ม) | T. O. Chemicals |
Gental (เจนทอล) | General Drugs House |
Gental Cream (เจนทอล ครีม) | General Drugs House |
Gental Eyedrops (เจนทอล อายดร็อบ) | General Drugs House |
Gental-F (เจนทอล-เอฟ) | General Drugs House |
Gentamicin Injection Meiji (เจนตามัยซิน อินเจ็คชัน เมจิ) | Meiji |
Gentamicin Sulfate GPO (เจนตามัยซิน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Gentamicin Vesco (เจนตามัยซิน เวสโค) | Vesco Pharma |
Gentawin (เจนตาวิน) | General Drugs House |
Genta-Oph (เจนตา-ออฟ) | Seng Thai |
Gentrex (เจนเตร็ก) | Seng Thai |
Grammicin (แกรมมัยซิน) | Siam Bheasach |
Grammixin (แกรมมิคซิน) | Siam Bheasach |
Miramycin (ไมรามัยซิน) | Atlantic Lab |
Pred Oph Ear Drops (เพรดออฟเอียดร็อบ) | Seng Thai |
Pred Oph Eye Drops (เพรดออฟอายดร็อบ) | Seng Thai |
Quadriderm (ควอดิเดิร์ม) | MSD |
Skinfect (สกินเฟค) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Skinfect-B (สกินเฟค-บี) | Bangkok Lab & Cosmetic |
Spectroderm (สเปคโตเดิร์ม) | Meiji |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Gentamicin [2020, Oct17]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fGentamicin%2520Vesco%2f [2020, Oct17]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fVersigen%2f [2020, Oct17]
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fgentamicin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020, Oct17]