เค็มไปให้โทษ (ตอนที่ 1)

เค็มไปให้โทษ-1

      

กรมการแพทย์ สถานบันโรคทรวงอก กระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวเตือนว่า การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากเกินกว่า 2,400 มิลลิกรัมหรือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน เสี่ยงความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และไตเสื่อม ทั้งยังได้เปิดเผยถึงเทคนิคคุมโซเดียม “ลดเค็ม ลดโรค” ไว้ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด

- ชิมอาหารทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุง

- เลือกบริโภคอาหารสดหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด

- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก

- ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้มและลดปริมาณน้ำจิ้มที่บริโภค

- ทดลองปรุงอาหารโดยใช้ปริมาณเกลือ น้ำปลา เพียงครึ่งเดียวจากสูตรอาหาร หากไม่อร่อยจริงๆ ค่อยเพิ่มปริมาณ

- บริโภคอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้

- ปลูกฝังนิสัยให้บุตรหลานรับประทานอาหารรสจืด

เกลือ (Salt / Sodium chloride / NaCl) มีส่วนประกอบของโซเดียมประมาณร้อยละ 40 และ คลอไรด์ประมาณร้อยละ 60 ใช้เป็นตัวช่วยให้เกิดรสชาติ เป็นตัวผสมและใช้ถนอมอาหาร เพราะเชื้อแบคทีเรียจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในภาวะที่มีเกลือสูง

ร่างกายของมนุษย์ต้องการปริมาณเกลือเพียงเล็กน้อยเพื่อช่วยกระตุ้นประสาท ยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และเป็นตัวทำให้เกิดความสมดุลระหว่างน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำถึง ปริมาณการบริโภคเกลือว่าไม่ควรเกินวันละ 5 กรัม (น้อยกว่า 1 ช้อนชา) โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่ควรบริโภคเกลือเกินวันละ 1 กรัม เนื่องจากไตยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นจึงไม่ควรใส่เกลือลงในอาหารของเด็กหรือให้เด็กกินอาหารสำเร็จรูป เพราะเกือบทั้งหมดของอาหารแปรรูปล้วนแต่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ

ทั้งนี้ บางครั้งข้างฉลากอาจระบุปริมาณเป็นโซเดียม จึงอาจทำให้เกิดความสับสนระหว่างปริมาณของโซเดียมและเกลือได้ว่าต่างกันอย่างไร เราสามารถใช้สูตรแปลงโซเดียมให้เป็นเกลือได้ดังนี้

โซเดียม 1 กรัม เท่ากับ เกลือ 2.5 กรัม ดังนั้น หากนับปริมาณการบริโภคเกลือว่าไม่ควรเกินวันละ 5 กรัม ก็คือ ปริมาณการบริโภคโซเดียมไม่ควรเกินวันละ 2 กรัม

แหล่งข้อมูล:

  1. เทคนิคคุมโซเดียม “ลดเค็ม ลดโรค”. https://www.dms.moph.go.th/backend//Content/Content_File/News/Img/25630114140718PM_%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1.jpg [2020, March 18].
  2. Salt and Sodium. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/salt-and-sodium/[2020, March 18].
  3. Health effects of salt. https://en.wikipedia.org/wiki/Health_effects_of_salt [2020, March 18].
  4. Salt: the facts. https://www.nhs.uk/live-well/eat-well/salt-nutrition/ [2020, March 18].