เกาลิน - เพคติน คาโอลิน - เพคติน (Kaolin Pectin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เกาลิน (Kaolin, บางคนออกเสียงว่า คาโอลิน หรือ เคโอลิน) เป็นดินชนิดหนึ่ง บางคนเรียกว่า ดินขาวหรือดินเหนียวจีน มีลักษณะสีขาว ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ผลิตเครื่องปั้นเซรามิค อุตสาหกรรมผลิตยาสีฟัน อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาห กรรมสี ใช้ในขบวนการบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ในทางเวชกรรม นักวิทยาศาสตร์ได้นำมาผลิตเป็นยาแก้ท้องเสีย

เพคติน (Pectin) เป็นสารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide: คาร์โบไฮเดรต ชนิดหนึ่ง) ชนิดหนึ่ง พบได้มากมายในพืช มีลักษณะเป็นผง สีขาวอมน้ำตาล ในเชิงพาณิชย์ เราสามารถสกัดเพคตินได้จากเปลือกส้ม และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยคุณสมบัติของเพคตินที่จะทำให้รูปร่างของอาหารมีลักษณะหนืดเหมือนเจล (Gel) จึงถูกนำมาเป็นส่วนผสมในแยมผล ไม้ (Jam) นอกจากนี้ยังเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานต่ำ มนุษย์จึงนำมาใช้ในการผลิตอาหารเสริม ซึ่งในด้านยา เพคตินมีคุณสมบัติเพิ่มความหนืดและเพิ่มปริมาตรของอุจจาระ จึงใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียและท้องผูกในเวลาเดียวกัน

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การที่จะเลือกใช้ยาที่มีสูตรตำรับส่วนผสมของเกาลินและเพคติน ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง

ยาเกาลิน - เพคตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เกาลิน

ยาเกาลิน - เพคติน มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บรรเทาอาการท้องเสียทั่วไป (โดยเฉพาะในเด็ก) ที่มิได้มีสาเหตุจาการติดเชื้อชนิดที่ก่อให้เกิดอาการอย่างรุนแรง

ยาเกาลิน - เพคตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเกาลิน - เพคติน คือ ตัวยาจะเป็นตัวดูดซับของเหลว, น้ำ, พิษจากเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ มีผลทำให้ลำไส้ลดการเคลื่อนไหว จึงทำให้บรรเทาอาการท้องเสียลงได้

ยาเกาลิน - เพคตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเกาลิน - เพคติน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • จัดจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน ขนาดบรรจุ 60 มิลลิลิตร, 4 ลิตร, 0.5 แกลลอน และ 1 แกลลอน

ยาเกาลิน - เพคตินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ด้วยสูตรตำรับยาเกาลิน - เพคติน มีความแตกต่างของสัดส่วนยาเกาลินและยาเพคตินที่แตกต่างกันไปขึ้นกับบริษัทผู้ผลิต ‘ขนาดรับประทานของยาเกาลิน - เพคติน จึงขึ้นกับ คำแนะนำใน ฉลากยา/ เอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัท และประกอบกับคำแนะนำจากแพทย์ผู้ทำการรักษา’

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเกาลิน - เพคติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเกาลิน - เพคตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาของยาเกาลิน - เพคตินกับยาอื่น และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะ ยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเกาลิน - เพคติน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเกาลิน - เพคตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเกาลิน – เพคตินมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • อาจทำให้มีอาการท้องผูกตามมา
  • และหากพบอาการข้างเคียงอื่นนอกจากนี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น
    • ผื่นคัน
    • หายใจลำบาก
    • รู้สึกแน่นหน้าอก
    • มีอาการใบหน้า – ริมฝีปากบวม
    • มีไข้สูง
    • ปวดท้องอย่างมาก

มีข้อควรระวังการใช้ยาเกาลิน - เพคตินอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาเกาลิน - เพคติน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา เกาลิน - เพคติน
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจสูงขึ้น
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กหรือวัยรุ่นที่มีไข้ที่สงสัยหรือที่ติดเชื้อไวรัส (เช่น ไข้หวัดใหญ่, อี สุกอีใส) เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการราย (Reye’s syndrome) ตามมาได้
  • หลังจากใช้ยานี้ไป 2 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรง พยาบาล
  • การใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ ต้องเป็นคำสั่งใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร เพราะยานี้ผ่านปนมาในน้ำนมได้ (ถ้าจะใช้ยานี้ต้องหยุดในนมบุตร)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเกาลิน - เพคตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเกาลิน - เพคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเกาลิน - เพคตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเกาลิน - เพคตินร่วมกับยาเสพติดที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด อาจส่งผลให้ยาเสพติดดังกล่าวมีปริมาณในร่างกายสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงเหล่านี้ตามมาเช่น ง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นช้า เหงื่อออกมาก ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น ยาเสพติดดังกล่าว เช่นยา Codeine, Morphine
  • การใช้ยาเกาลิน - เพคตินร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว สามารถทำให้ปริมาณยาปฏิชีวนะดังกล่าวในกระแสเลือดลดต่ำลงกว่าปกติ ส่งผลถึงลดประสิทธิภาพการรักษาจากยาปฏิชีวนะนั้นๆ หากมีความจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทาน และ/หรือ เว้นระยะเวลาการรับประทานให้ห่างกันประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ซึ่งยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Doxycycline, Tetracycline
  • การใช้ยาเกาลิน - เพคตินร่วมกับยาลดไขมันในเลือด อาจทำให้ระดับของไขมันในเลือด ชนิด LDL สูงขึ้น ยาลดไขมันในเลือดดังกล่าว เช่นยา Lovastatin, Simvastatin

ควรเก็บรักษายาเกาลิน - เพคตินอย่างไร?

สามารถเก็บยาเกาลิน – เพคติน เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง และแสงแดด
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเกาลิน - เพคตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเกาลิน – เพคติน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Kaolin-Pectin (เกาลิน-เพคติน) Suphong Bhaesaj
Kaopectal (เกาเพคตัล) Silom Medical
Kaolin Mixture w/ Pectin (เกาลินมิกเชอร์ วิทเพคติน) OsothOsoth Inter Laboratories
Kaolin Mixture Chew Brothers (เกาลินมิกเชอร์ จิวบราเทอร์) Chew Brothers

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Kaolin[2020,May9]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Pectin#Uses [2020,May9]
3. http://www.drugs.com/cdi/kaolin-pectin.html[2020,May9]
4. http://www.drugs.com/mmx/kaolin-pectin-and-paregoric.html [2020,May9]
5. http://www.drugs.com/ppa/kaolin-pectin.html [2020,May9]
6. http://www.drugs.com/drug-interactions/a-g-tussin-with-kaolin-pectin-624-8438-1410-0.html [2020,May9]