เกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน (ตอนที่ 1)

เกล็ดเลือดต่ำจากวัคซีน-1

      

สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 ยังคงแพร่กระจายและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังยิ่งต้องระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหากได้รับเชื้อ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานแย่ลง หัวใจอาจล้มเหลวได้ การฉีด "วัคซีนโควิด-19" จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยลดความรุนแรงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ แม้จะมีบางรายที่เกิดผลข้างเคียงอย่าง "ลิ่มเลือดอุดตัน" ก็อาจเป็นเพียงส่วนน้อย

การเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดดำในสมอง หลอดเลือดดำที่ขา หรือเป็นสาเหตุให้ลิ่มเลือดเหล่านั้นหลุดแล้วไปอุดตันที่เส้นเลือดปอด ภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเกล็ดเลือดในร่างกายของเราเอง ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง และกระตุ้นให้มีการสร้างระบบการแข็งตัวของเลือดขึ้นในร่างกาย แต่ภาวะนี้ไม่ได้เป็นภาวะที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น

ในทางการแพทย์ ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคในระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว ซึ่งจนถึงปัจจุบันอุบัติการณ์ในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ พบอยู่ที่ประมาณ 50–100 เคสต่อการฉีดวัคซีนไปแล้ว 50–60 ล้านโดส และกำลังถูกตรวจสอบอย่างเป็นระบบ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน (Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia = VITT หรือ Vaccine-induced prothrombotic immune thrombocytopenia = VIPIT หรือ Thrombotic Thrombocytopenia Syndrome = TTS) เป็นภาวะที่เกิดปรากฏการณ์ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ

1. การเกิดลิ่มเลือดที่ทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ (Thrombosis)

2. ภาวะเกล็ดเลือดน้อย (Thrombocytopenia)

ส่วนใหญ่ VITT เกิดในผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี โดยมีลักษณะคล้ายภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยาเฮปาริน (Heparin-induced thrombocytopenia = HIT) กล่าวคือ มีอาการ

  • ปวดศีรษะ (มักจะปวดรุนแรงหรือเป็นนาน)
  • เห็นภาพไม่ชัด
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บหน้าอก
  • ขาบวม
  • ปวดท้องรุนแรง
  • มีเลือดออก (bleeding) ซึ่งอาจแสดงให้เห็นได้โดยมีรอยช้ำหรือจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนังบริเวณที่ฉีด
  • ชัก

โดยอาการจะเกิดขึ้นระหว่าง 4-28 วัน หลังการฉีดวัคซีน ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวให้แจ้งแพทย์ทราบทันที โดยแพทย์อาจวิเคราะห์อาการด้วยการตรวจสแกน เอ็มอาร์ไอ การนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count) หรือการวิเคราะห์ทางแล็ปอื่นๆ

แหล่งข้อมูล:

  1. 'ลิ่มเลือดอุดตัน' ผลข้างเคียงจาก 'วัคซีนโควิด-19' จริงหรือ?. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/935628 [2021, June 25].
  2. Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) and COVID-19. https://www.medicinenet.com/vitt_and_covid-19_vaccine/article.htm [2021, June 25].
  3. Vaccine-Induced Immune Thrombotic Thrombocytopenia (VITT) Following Adenovirus Vector COVID-19 Vaccination. https://covid19-sciencetable.ca/sciencebrief/vaccine-induced-immune-thrombotic-thrombocytopenia-vitt-following-adenovirus-vector-covid-19-vaccination/ [2021, June 25].