เกล็ดเลือดต่ำ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

เกล็ดเลือดต่ำ-2

      

ปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ ได้แก่ เป็นเด็กหญิงสาว หรือ ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคลูปัส (Lupus) และ กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome = APS ทำให้มีภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง)

โรคนี้อาจไม่แสดงอาการแต่อย่างใด กรณีที่มีอาการปรากฏโดยทั่วไป ได้แก่

      • ฟกช้ำง่าย

      • มีจ้ำเลือดที่ผิว (Petechiae) ที่ดูเหมือนผื่น โดยเฉพาะบริเวณขาส่วนล่าง

      • มีเลือดออกที่เหงือกหรือจมูก

      • มีเลือดในปัสสาวะหรืออุจจาระ

      • ประจำเดือนมามากผิดปกติ

โดยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การมีภาวะเลือดออกในสมอง (พบยาก) หรืออาจมีความเสี่ยงในการเสียเลือดมากระหว่างการคลอด

สำหรับการวินิจฉัยโรค แพทย์จะให้ทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของเกล็ดเลือด หรือมีการดูดและเจาะเอาเนื้อเยื่อไขกระดูกส่งตรวจ (Bone marrow aspiration) ส่วนการรักษา กรณีที่มีอาการอย่างอ่อนๆ อาจไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คอยควบคุมและตรวจเกล็ดเลือดเป็นประจำ ซึ่งกรณีของเด็กมักจะหายได้เอง โดยร้อยละ 80 ของเด็กที่เป็นจะกลับมามีเกล็ดเลือดที่ปกติภายใน 6-12 เดือน ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอาการรุนแรงหรือเรื้อรังอาจต้องใช้การรักษาหลายวิธีอย่าง

      • การให้ยา เช่น

            o ยาสเตียรอยด์ เช่น ยา Prednisone (ไม่ควรใช้ในระยะยาวเพราะสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงในการติดเชื้อง่าย น้ำตาลในเลือดสูง และกระดูกพรุน)

            o การฉีดสารภูมิต้านทาน (Immune globulin)

            o ยาที่กระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด เช่น ยา Romiplostim และ ยา Eltrombopag (อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน)

      • การตัดม้ามออก (Splenectomy) เพื่อกำจัดแหล่งที่ทำลายเกล็ดเลือด (แต่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย)

      • การให้เกล็ดเลือด (Platelet Transfusions)

สำหรับการดูแลตัวเองสามารถทำได้ด้วยการ

      • หลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องปะทะ เช่น การต่อยมวย คาราเต้ การเล่นฟุตบอล การขี่ม้า ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุเลือดออก

      • ระวังเรื่องการติดเชื้อกรณีที่ตัดม้ามออก เช่น อาการเป็นไข้

      • หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น ยา Aspirin และ ยา Ibuprofen

แหล่งข้อมูล:

  1. Immune thrombocytopenia (ITP). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/idiopathic-thrombocytopenic-purpura/symptoms-causes/syc-20352325 [2020, January 22].
  2. Immune Thrombocytopenia. https://www.nhlbi.nih.gov/health-topics/immune-thrombocytopenia [2020, January 22].
  3. Immune thrombocytopenic purpura (ITP). https://medlineplus.gov/ency/article/000535.htm [2020, January 22].