เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม (Quaternary ammonium salts)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กันยายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่ใช้เป็นยามีอะไรบ้าง?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอย่างไร?
- เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- เจ็บคอ (Sore throat) คออักเสบ คอหอยอักเสบ (Pharyngitis )
- น้ำยาบ้วนปาก ยาบ้วนปาก (Gargle)
- สารกันเสียในยา (Pharmaceutical Preservatives)
- ยาลูกอม (Throat lozenge)
บทนำ
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม(Quaternary ammonium salts) หรือจะเรียกว่า ‘เกลือแอมโมเนียมแบบจตุรภูมิ’ เป็นกลุ่มสารประกอบที่มีธาตุไนโตรเจน(Nitrogen)เป็นแกนกลางและห้อมล้อมด้วยหมู่อัลคิล (Alkyl, -CnH2n+1) หรือหมู่อะริล (Aryl) ประโยชน์ของเกลือชนิดนี้มีหลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำยาปรับผ้านุ่ม งานในภาคเกษตร ใช้เป็นสารเร่งปฏิกิริยาเคมี ใช้จำกัดความสูงของต้นพืชโดยทำหน้าที่ยับยั้งฮอร์โมนพืชบางตัว และใช้ผลิตเป็นยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค หรือที่เรียกว่า น้ำยาฆ่าเชื้อ(Antimicrobials)ชนิดต่างๆ
ในบทความนี้จะกล่าวถึง ‘เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม’ในแง่มุมของ ‘ยา’ เท่านั้น
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่ใช้เป็นยามีอะไรบ้าง?
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่ใช้เป็นยาแผนปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
1. Benzalkonium chloride ถูกใช้ในลักษณะของสารละลาย มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญ เติบโตของแบคทีเรีย ใช้เป็นยาทำความสะอาดบาดแผล หรือใช้เป็นยากันบูด/ยากันเสียในยาในกลุ่ม ยาหยอดตา ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก และยาหยอดหู
2. Benzethonium chloride มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ในทางเภสัชภัณฑ์ถูกนำมาผลิตเป็นยาลูกอมบรรเทาอาการเจ็บคอ
3. Cetalkonium chloride มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และรา ในทางยาใช้ผลิตเป็นยาลูกอม และยาป้ายปาก ที่มีส่วนผสมของยาอื่นๆร่วมด้วย เช่น Benzocaine , Lidocaine, และ Choline salicylate
4. Cetylpyridinium chloride เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แบบออกฤทธิ์กว้าง นอกจากนี้ยังสามารถหยุดการกระจายตัวของเชื้อราจำพวกยีสต์/Yeast มีเภสัชภัณฑ์เป็น ยาลูกอม น้ำยาบ้วนปาก และสเปรย์พ่นปาก
5. Cetrimide มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ใช้เป็นยาทำความสะอาดบาดแผล บนผิวหนัง รูปแบบเภสัชภัณฑ์มีทั้งสารละลาย ยาครีม รวมถึงสบู่เหลว โดยมาก Cetrimide มักจะนำไปผสมร่วมกับ Benzalkonium และ Chlorhexidine
6. Cetrimonium bromide เป็นสารลดแรงตึงผิวที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคได้ มีรูปแบบ เภสัชภัณฑ์เป็นสารละลาย ใช้ทาผิวหนัง หรือเป็นสารละลายประเภททิงเจอร์(Tinture)
7. Didecyldimethylammonium chloride เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมตัวนี้ถูกนำมาใช้เป็นน้ำยาทำความสะอาดมือ และ ร่างกาย ในต่างประเทศอย่างเยอรมันนำมาใช้เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล โรงแรม และโรงงานอุตสาหกรรม
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม มีฤทธิ์/มีสรรพคุณยับยั้ง แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส จึงถูกนำไปเป็นส่วนผสมของ ยาลูกอมแก้เจ็บคอ ยาครีมทาผิวหนังเพื่อฆ่าเชื้อ เป็นสารละลายเพื่อใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนัง-ร่างกายตลอดจนกระทั่งเสื้อผ้า นอกจากนี้ยัง ใช้เป็นสารกันบูด(ยากันเสียในยา) ในยาแผนปัจจุบันบางสูตรตำรับ
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อโรค โดยจะตัวยาจะเข้าจับกับสารประเภท Phospholipids และโปรตีนตรงบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้การซึมผ่านของสารอาหารของเซลล์ถูกปิดกั้น นอกจากนี้ยังมีการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุผลทำให้เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเชื้อโรค
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- สารละลาย เช่น Benzalkonium chloride 3% และ4.5% , Inhibac
- ยาเม็ดอมแก้เจ็บคอ เช่น DW tobramycin , Bonjela , Cepacol
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นไปตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาวิธีและขนาดการใช้ยาได้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆดังต่อไปนี้ เช่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่ใช้เป็นยาภายนอก อาจทำให้มี อาการแสบคันทางผิวหนัง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กรณีสูดดมเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอาจทำให้ รู้สึกระคายเคืองทางเดินหายใจ เช่น ระคายคอ ไอ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาจทำให้มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาจทำให้มีภาวะ/อาการชัก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดความดันโลหิตต่ำ
*อนึ่ง การได้รับเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณมากๆ สามารถทำให้เกิดภาวะโคม่าหรือถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด
มีข้อควรระวังการใช้เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้/ยานี้
- ห้ามใช้ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่เป็นสารละลายชำระล้างทวารหนักและช่องคลอด
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์
- ไม่ปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ใช้ยาตรงตามคำสั่งแพทย์หรือตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมที่หมดอายุ เพราะนอกจากจะไม่มีประสิทธิผลในการฆ่าเชื้อโรคแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดพิษต่อร่างกาย
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ ยาCetrimide ที่เป็นยาทาภายนอกร่วมกับน้ำยาแอลกอฮอล์ สามารถทำให้ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น
- การใช้ยาBenzalkonium chloride เป็นยากันบูด/สารกันเสียในยา ร่วมกับยาชาเฉพาะที่สำหรับเป็นยาหยอดตา อาจทำให้เกิดพิษต่อกระจกตาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงสูตรตำรับยาชาหยอดตาที่มีส่วนประกอบของ Benzalkonium chloride
ควรเก็บรักษาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม ดังนี้ เช่น
- เก็บยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
เกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเกลือควอเตอร์นารีแอมโมเนียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bonjela (บอนเจลา) | Reckitt Benckiser Healthcare |
BENZYL-SEPTOL (เบนซิล-เซพทอล) | Meridiant Ent |
ITEOL-H (ไอทีโอล-เฮช) | AstraZeneca |
Iwazin (ไอวาซิน) | Masa Lab |
Cepacol (เซพาคอล) | sanofi-aventis |
Difflam Lozen (ดิฟเฟรม โลเซง) | iNova |
Difflam Mouth gel (ดิฟเฟรม เม้าท์ เจล) | iNova |
Orasept (ออราเซพ) | Silom Medical |
Bye Bye Burn Lot (บาย บาย เบริน ลอท) | David D. Daniels Ltd. |
Largal Ultra (ลาร์กัล อัลทรา) | Septodont |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Quaternary_ammonium_cation#Possible_reproductive_effects_in_laboratory_animals [2018,Sept1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzethonium_chloride [2018,Sept1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Benzethonium_chloride [2018,Sept1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cetalkonium_chloride [2018,Sept1]
- https://www.hygi.de/lysoform-amosept-1000-ml-flasche-pd-16481 [2018,Sept1]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Didecyldimethylammonium_chloride [2018,Sept1]
- https://www.oie.int/doc/ged/D8965.PDF[2018,Sept1]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/cetrimide/?type=brief&mtype=generic[2018,Sept1]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/benzalkonium%20chloride/?type=brief&mtype=generic [2018,Sept1]