ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)

ฮีโมโกลบิน ตัวย่อ คือ Hgb หรือ Hb คือ สารสำคัญในเม็ดเลือดแดง ประกอบด้วยสารที่เรียกว่า ฮีม (Heme) ประมาณ 6% และที่เหลือประมาณ 94% เป็น โปรตีนชนิดที่เรียกว่า Globin

ฮีโมโกลบิน เป็นตัวจับออกซิเจนโดยฮีม เพื่อการนำออกซิเจนไปยัง เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เพื่อให้เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะ ได้ใช้ออกซิเจนในปฏิกิริยาเผาผลาญอาหาร เพื่อการดำรงชีวิตของ เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะ ทั้งนี้ ฮีโมโกลบิน 1 กรัมสามารถจับออกซิเจนได้ประมาณ 1.34 มิลลิลิตร

ในเม็ดเลือดแดงจะประกอบด้วย ฮีโมโกลบินประมาณ 97% ที่เหลือเป็นน้ำและเกลือแร่ เช่น เกลือแร่โซเดียม (Sodium) เป็นต้น ซึ่งการวัดปริมาณเม็ดเลือดแดง สามารถวัดได้ทาง อ้อมจากการวัดค่าฮีโมโกลบิน ที่วัดได้จากการตรวจเลือดที่เรียกว่า ซีบีซี (CBC) โดยในผู้ชาย ค่าปกติ คือ 13.8-17.2 กรัมต่อเดซิลิตร (g/dL) ส่วนในผู้หญิงคือ 12.1-15.1 กรัม/เดซิลิตร

ฮีโมโกลบิน สร้างจากไขกระดูก และประกอบด้วยตัวกำกับพันธุกรรมหรือ จีน/ยีน (Gene) ซึ่งส่งผลให้มีฮีโมโกลบินได้หลายชนิดและแตกต่างกันในโรคบางโรค ดังนั้นจึงสามารถนำการตรวจชนิดของฮีโมโกลบินมาเป็นตัวช่วยในการตรวจวินิจฉัยโรคเหล่านั้นได้ เช่น ในการวินิจฉัยชนิดต่างๆของโรค ธาลัสซีเมีย และในการช่วยวินิจฉัยโรคเบาหวาน เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. Hemoglobin http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003645.htm [2013,Nov3].
  2. Hemoglobin http://en.wikipedia.org/wiki/Hemoglobin [2014,Jan10].
  3. Keitel,H. et al. http://bloodjournal.hematologylibrary.org/content/10/4/370.abstract [2014,Jan10].