ฮิคิโคโมริ ขออยู่คนเดียวนะเธอ (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 25 พฤศจิกายน 2561
- Tweet
จากการสัมภาษณ์ผู้คนบนท้องถนน 41 คน อายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึง 70 ปี พบว่า พวกเขามีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ และเมื่อถามถึงความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อคนที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ บางคนกล่าวว่าเขาอิจฉาคนที่เป็นโรคนี้ เพราะมีครอบครัวที่เข้าใจและให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน ในขณะที่บางคนมีภาพลบต่อคนที่ชอบปลีกตัวออกจากสังคม โดยตัวอย่างของผู้ให้สัมภาษณ์ ได้แก่
หญิงวัย 50 ปี ที่กำลังเคี้ยวข้าวหน้าสถานีรถไฟชินจูกุในโตเกียว ให้สัมภาษณ์ว่า เธอมีลูกสาวในวัย 20 ต้นๆ ที่ต้องออกจากการเรียนเพราะคะแนนสอบไม่ถึง ลูกสาวเธอเป็นโรคฮิคิโคโมริที่ชอบแยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่เฉพาะในห้องส่วนตัว โดยอ้างว่าเป็นไข้ละอองฟางหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Hay fever) และนอนอยู่กับบ้าน ไม่ยอมไปเรียน
นักกฏหมายอายุ 40 ปี กล่าวว่า เขาเองได้หยุดเรียนไปในช่วงไฮสกูล แต่เป็นเพราะเขาได้ครูที่ดีที่คอยสนับสนุนเขา มาเยี่ยมเขาที่บ้าน และคอยให้คำแนะนำ เขาจึงมีวันนี้
พนักงานชั่วคราวอายุ 35 ปี กล่าวว่า เธอเคยผ่านช่วงเวลาที่อยากปลีกตัวออกจากสังคมตอนเป็นนักเรียน และเธอก็ปิดตัวเองโดยมีเหตุมาจากการที่เธอถูกรังแก เธอต้องออกจากโรงเรียนและไปพบจิตแพทย์ แต่สิ่งที่ช่วยเธอไว้ก็คือ เธอค้นพบ Passion ของเธอ ภายหลังจากการไปดูการแสดงสดของศิลปินที่เธอชื่นชอบ เธอจึงเริ่มกลับมามีปฏิสัมพันธ์และสานความเป็นเพื่อนกับคนอื่นอีกครั้ง
โรคฮิคิโคโมริ (Hikikomori) เป็นโรคที่ชอบแยกตัวออกจากสังคม เก็บตัวอยู่เฉพาะในห้องส่วนตัวในบ้านเป็นแรมเดือนหรือหลายปีด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น หางานทำไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2553 พบว่า มีชาวญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 1.2 ที่เป็นโรคฮิคิโคโมริ และในปี พ.ศ.2559 รัฐบาลญี่ปุ่นได้รายงานว่า มีประชากรอายุระหว่าง 15‐39 ปี จำนวนประมาณ 541,000 คน ที่เป็นโรคฮิคิโคโม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ให้คำนิยามของโรคฮิคิโคโมริว่า มีระยะเวลาในการเก็บตัวเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งในปัจจุบัน นักวิจัยได้ให้คำนิยามของโรคไว้ดังนี้
1. ใช้เวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งวันอยู่ที่บ้าน
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสังคม
3. การปลีกตัวเองออกจากสังคมเป็นสาเหตสำคัญของการบกพร่องในหน้าที่
4. มีระยะเวลาอย่างต่ำ 6 เดือน
5. ไม่มีพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในร่างกาย (Physical pathology) ที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเหตุทำให้ปลีกตัวเองออกจากสังคม
ในขณะที่คนส่วนมากรู้สึกถึงแรงกดดันจากโลกภายนอก คนที่เป็นโรคฮิคิโคโมริจะแสดงปฏิกริยาด้วยการปลีกตัวเองจากสังคม อยู่ในห้องเป็นเวลานาน และมักจะมีเพื่อนน้อยหรือไม่มีเพื่อนเลย
โรคนี้อาจเป็นได้อย่างเฉียบพลัน แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อยๆ เป็น วัยรุ่นจะค่อยๆ หลีกจากโลกไปทีละน้อย จนกระทั่งหลุดโลกไปอย่างเต็มตัว
แหล่งข้อมูล:
- Japanese have mixed perceptions on hikikomori social recluses. https://www.japantimes.co.jp/news/2018/07/20/national/social-issues/japanese-mixed-perceptions-hikikomori-social-recluses/#.W_KWMTExXIV [2018, November 24].
- Hikikomori. https://en.wikipedia.org/wiki/Hikikomori [2018, November 24].
- What Is Hikikomori? Could It Be One of Japan’s Most Serious Problems? http://jpninfo.com/64533 [2018, November 24].
- Hikikomori: experience in Japan and international relevance. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5775123/ [2018, November 24].