ฮาโลเทน (Halothane)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฮาโลเทน(Halothane) เป็นยาสลบชนิดสูดดมที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยมีการหลั่งน้ำลายออกมามากขณะที่ได้รับยาชนิดนี้ ทำให้ง่ายต่อการสอดท่อหายใจให้กับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด อย่างไรก็ตามยาฮาโลเทนสามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ มีฤทธิ์กดการหายใจ และก่อให้เกิดปัญหา(ผลข้างเคียง)กับตับ และไม่เหมาะที่จะใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยา/ยานี้อาจก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์นอกจากแพทย์จะเห็นสมควรเท่านั้น ปัจจุบัน เราจะพบเห็นการใช้ยาดมสลบฮาโลเทนในประเทศที่กำลังพัฒนาเท่านั้น ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ยาฮาโลเทนจะถูกแทนที่โดยยา “Sevoflurane”

การสูดดมยาฮาโลเทน ผู้ป่วยจะค่อยๆหมดความรู้สึก ระหว่างนี้แพทย์จะตรวจสอบและควบคุมสัญญาณชีพต่างๆ อย่างเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต จะต้องเป็นปกติตลอดเวลา

การทำลายยาฮาโลเทนของร่างกายจะเกิดที่ตับ ส่วนการขับฮาโลเทนทิ้งออกจากร่างกายจะทำได้ 2 ช่องทาง คือ ทางปัสสาวะและทางการหายใจ

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ยาดมสลบฮาโลเทนได้ เช่น

  • ผู้ป่วยด้วยไข้สูงอย่างร้าย(Malignant hyperthennia) ผู้ที่มีแรงดันของน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังสูงผิดปกติ ผู้ป่วยที่เคยเป็นดีซ่านหรือตับอักเสบโดยที่หาสาเหตุ ไม่ได้ การใช้ยาฮาโลเทนกับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวจะทำให้อาการของผู้ป่วยทรุดหนัก ลงกว่าเดิม
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ด้วยอวัยวะภายในและสภาพร่างกายที่ยัง เจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้การกำจัดยาฮาโลเทนออกจากร่างกายของผู้ที่อยู่ในวัยนี้ทำได้ช้า จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆรุนแรงจากยานี้ตามมา

อนึ่ง เราจะไม่พบเห็นการใช้ยาฮาโลเทนในประเทศไทย แต่ยังมีการใช้ยาดมสลบชนิดนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และพม่า

ฮาโลเทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ฮาโลเทน

ยาฮาโลเทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาดมสลบกับผู้ป่วยสำหรับการทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น สอดท่อช่วยหายใจ หรือการผ่าตัด

ฮาโลเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฮาโลเทนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ(Receptor) ที่มีความสัมพันธ์กับการนำกระแสประสาทที่สั่งการจากสมองไปยังอวัยวะต่างๆ ที่มีชื่อเรียกว่า GABAA receptor และ Glycine receptor ส่งผลให้มีการปิดกั้นการทำงานของตัวรับอีกชนิดหนึ่ง คือ Nicotinic acetylcholine receptor ส่งผลทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อสารสื่อประสาทประเภท Acetylcholine นอกจากนี้ยาฮาโลเทนยังยับยั้งการนำโซเดียมเข้าสู่ภายในเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถสร้างสัญญาณประสาท/กระแสประสาทได้ ด้วยกลไกตัดการตอบสนองต่อสารสื่อประสาท และปิดกั้นการสร้างสัญญาณของกระแสประสาทนี้เอง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับยาฮาโลเทน หมดความรู้สึก อยู่ในสภาวะที่สงบ และไม่รับรู้ต่ออาการเจ็บ/ปวดที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำหัตถการทางการแพทย์ต่างๆ

ฮาโลเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฮาโลเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาฮาโลเทน เป็นของเหลวที่ความเข้มข้น 100% โดยมีขนาดบรรจุที่แตกต่างกัน เช่น 30, 50, 200 และ 250 มิลลิลิตร/ขวด

ฮาโลเทนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาฮาโลเทนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18ปีขึ้นไป: การใช้ฮาโลเทนต้องผ่านเครื่องดมยาสลบเพื่อพ่นยานี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย ขนาดความเข้มข้นที่ใช้ คือ 0.5% โดยผสมกับแก๊สออกซิเจน หรือจะผสมร่วมกับทั้งแก๊ส Nitrous oxide และแก๊สออกซิเจน ในบางกรณีแพทย์อาจต้องใช้ฮาโลเทนในขนาดความเข้มข้นที่ 2–4% โดยทั่วไป ขนาดที่ใช้คงระดับการสงบประสาท/กดระบบประสาท/กดสมองของผู้ป่วยอยู่ที่ 0.5–2%
  • ผู้อายุต่ำกว่า18ปี: การจะใช้ยาฮาโลเทนกับคนวัยนี้ ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฮาโลเทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฮาโลเทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ฮาโลเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฮาโลเทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว/กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อตับ: เช่น เกิดพิษกับตับ/ตับอักเสบ
  • ต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะMalignant hyperthermia
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ

มีข้อควรระวังการใช้ฮาโลเทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฮาโลเทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการเกิดภาวะ Malignant hyperthermia
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
  • ระหว่างการให้ยานี้ ต้องควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยให้เป็นปกติเสมอ เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาณออกซิเจนในร่างกาย กรณีที่พบ ความผิดปกติของสัญญาณชีพดังกล่าว ต้องหยุดการให้ยาฮาโลเทนแล้วเร่งแก้ไขอาการของสัญญาณชีพให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
  • หลังการดมยาสลบทุกชนิดรวมยาฮาโลเทน เมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้นมา แพทย์อาจขอดูอาการผู้ป่วยต่ออีก โดยให้พักอยู่ในสถานพยาบาลสักระยะหนึ่ง
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆหลังจากการได้รับยาสลบที่รวมถึงยาฮาโลเทน เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดบาดแผลที่ผ่าตัด ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล ทันที - มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อแพทย์ดูความก้าวหน้าของการรักษา

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฮาโลเทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ฮาโลเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฮาโลเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาฮาโลเทนร่วมกับ ยาEpinephrine ด้วยจะทำให้มี ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ตาพร่า คลื่นไส้ หรือเกิดอาการชัก ตามมา
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮาโลเทนร่วมกับ ยา Selegiline ด้วยจะส่งผลกระทบ ต่อความดันโลหิตของร่างกายทั้งอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง ควรเว้นระยะห่างของการใช้ยา 2 ตัวนี้ประมาณ 10–14 วัน
  • การใช้ยาฮาโลเทนร่วมกับ ยาDroperidol จะทำให้มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาฮาโลเทนร่วมกับ ยา SuxamethoniumหรือSuccinylcholine เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Malignant hyperthermia ตามมา

ควรเก็บรักษาฮาโลเทนอย่างไร?

ควรเก็บยาฮาโลเทนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาฮาโลเทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Fluothane(ฟลูโอเทน)AHPL
Hypnothane (ฮิปโนเทน) Neon Labs

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Halosin, Narcotane, Rhodialothan

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Halothane#Pharmacology[2017,Dec30]
  2. https://www.mims.com/india/drug/info/halothane/?type=brief&mtype=generic[2017,Dec30]
  3. http://www.mims.com/philippines/drug/info/halothane?mtype=generic[2017,Dec30]
  4. https://www.mims.com/india/drug/info/fluothane/fluothane%20inhalation%20vapour%20liqd[2017,Dec30]
  5. https://www.drugs.com/comments/halothane/[2017,Dec30]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01159[2017,Dec30]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/halothane-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Dec30]