ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน (Conjugated estrogens) หรือ พรีมาริน (Premarin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน (Conjugated estrogens) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อยาฮอร์โมน พรีมาริน (Premarin) เป็นฮอร์โมนที่นำมาให้ทดแทนในสตรีที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาผลิตฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน คือ ปัสสาวะของม้าเพศเมียที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ โดยการสกัดออกมาซึ่งจะได้ส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน 3 กลุ่ม คือ Estrone, Equilin, และ Equilenin โดยเฉพาะ Estrone เป็นตัวที่สกัดได้เปอร์เซ็นต์มากที่สุด เมื่อนำมาผลิตเป็นยาจะอยู่ในรูป Estrone sulfate ซึ่งสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน มีทั้ง ยาเม็ด ยาฉีด และยาครีม คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้ง 3 รูปแบบ (ยาเม็ด ยาฉีด ยาครีม)

ด้วยยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนเป็นยากลุ่มฮอร์โมน จึงมีความไวในการเกิดปฏิกิริยากับ ร่างกายคนมาก การใช้ที่ปลอดภัยจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บรรเทาอาการภายหลังหมดประจำเดือน (วัยหมดประจำเดือน) ด้วยมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ
  • บรรเทาอาการโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน
  • บรรเทาอาการแห้ง แสบคันของช่องคลอด (ภาวะช่องคลอดแห้ง)

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนคือ ตัวยาจะเข้าไปที่อวัยวะที่ตอบ สนองต่อฮอร์โมนนี้ เช่น อวัยวะเพศ เต้านม สมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมองโดยจะเข้าไปจับกับตัวรับฮอร์โมน (Hormone receptor) และช่วยให้มีการสังเคราะห์สารพันธุกรรม เช่น DNA และ RNA นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการสังเคราะห์โปรตีนบางตัวในร่างกายอีกด้วย ด้วยความเกี่ยว เนื่องจากกลไกที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 0.3 และ 0.625 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 25 มิลลิกรัม
  • รูปแบบยาครีม ขนาด 625 ไมโครกรัม/กรัม

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีขนาดรับประทานหรือการใช้อย่างไร?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีขนาดรับประทานหรือการใช้ เช่น

ก. รักษาอาการหลังวัยหมดประจำเดือน: เช่น รับประทานวันละ 0.625 - 1.25 มิลลิกรัม/วัน

ข. รักษาภาวะ/โรคกระดูกพรุน: เช่น รับประทานวันละ 0.625 มิลลิกรัม/วัน

ค. รักษาภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำในสตรีเพศ: เช่น รับประทานวันละ 0.3 - 1.25 มิลลิ กรัม/วัน

ง. บรรเทาอาการ แห้ง แสบคันบริเวณช่องคลอด/ ช่องคลอดแห้ง : เช่น รับประทานวันละ 0.3 - 1.25 มิลลิ กรัม/วัน

อนึ่ง สามารถรับประทานฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ขนาดรับ ประทานควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานเอง

จ. ยาครีมทาบรรเทาอาการแห้ง แสบคันบริเวณช่องคลอด: เช่น ทาภายในช่องคลอด 0.5 - 2 กรัม/วัน โดยทา 3 สัปดาห์และหยุด 1 สัปดาห์

ฉ. ยานี้ในรูปแบบยาฉีด ใช้เพื่อการรักษาภาวะเลือดออกจากมดลูกผิดปกติ: ซึ่งการสั่งใช้ยาจะต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • มีเลือดซึมบริเวณอวัยวะเพศ
  • เจ็บหน้าอกจาก เต้านมคัดตึง และมีการขยายของหน้าอก (เต้านม)
  • มีภาวะนิ่วในถุงน้ำด
  • ผื่นคัน
  • ปวดศีรษะ
  • ไมเกรน
  • วิงเวียน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ซึมเศร้า
  • ผมร่วง
  • มีลมพิษ และผื่นผิวหนังที่ขึ้น บวม
  • มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน เช่น

  • ห้ามช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติเนื้องอก เนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจส่งผลให้เนื้องอกเจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติหรือมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกจากอวัยวะเพศโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยด้วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ และโรคไต ผู้ที่มีประวัติดีซ่านชนิด Cholestatic jaundice ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยไมเกรน ผู้ป่วยโรคหืด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารแสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Dexamethazone สา มารถทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงของ Dexamethazone มากขึ้น แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมต่อคนไข้
  • การใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนร่วมกับยาต้านเชื้อวัณโรค เช่นยา Rifampin ยารักษาโรคลมชัก เช่นยา Phenytoin พบว่าฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนจะถูกลดความเข้มข้นและมีประ สิทธิผลในการรักษาด้อยลงไป แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มที่เหมาะ สมให้กับคนไข้
  • ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนสามารถรบกวนหรือลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาลดน้ำตาลในเลือด (ยาเบาหวาน) เช่นยา Metformin แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้กับคนไข้เป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนอย่างไร?

ควรเก็บรักษาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน เช่น

  • ยาเม็ดและยาครีม: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาฉีด: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส
  • นอกจากนี้ การเก็บยาฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนทุกรูปแบบ: ควรเก็บดัวนี้เช่น
    • ควรเก็บให้พ้นแสง/ แสงแดดและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Estromon (เอสโทรมอน) Standard Chem & Pharm
Premarin (พรีมาริน) Pfizer
Premarin IV (พรีมาริน ไอวี) Wyeth
Premarin Vaginal Cream (พรีมาริน วาจไนอล ครีม) Pfizer

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Premarin [2020,Mach 21]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Premarin/[2020,Mach 21]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Premarin%20Vaginal%20Cream/?type=brief[2020,Mach 21]
4 http://www.drugbank.ca/drugs/DB00286 [2020,Mach 21]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/conjugated-estrogens-index.html?filter=2[2020,Mach 21]
6 http://www.medicinenet.com/estrogens_conjugated/article.htm[2020,Mach 21]