อุจจาระรด (Encopresis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

อุจจาระรด(Encopresis) คือ ภาวะผิดปกติที่เกิดในเด็กอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปที่ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ซึ่งเด็กวัยนี้ทั่วไปจะกลั้นอุจจาระได้แล้ว เด็กที่มีอุจจาระรดบ่อยครั้งจนผิดปกติจะสังเกตได้จากมีอุจจาระรดชุดชั้นใน และ/หรือเมื่อปวดถ่ายอุจจาระจะต้องอุจจาระทันทีมิฉะนั้นจะมีปัญหาเข้าส้วมไม่ทัน ซึ่งทั่วไปหรือเกือบทั้งหมดมักมีสาเหตุจากเด็กมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง

อุจจาระรด หรือ อาการอุจจาระรด เป็นอาการของโรค ไม่ใช่ตัวโรค(โรค-อาการ-ภาวะ) เป็นอาการพบเรื่อยๆ ไม่บ่อย พบประมาณ 1-3% ของเด็กวัยตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไปจนถึงประมาณอายุ15 ปี และจากการศึกษาพบว่า เด็กที่มีอาการเหล่านี้ มีเพียงประมาณ 40%เท่านั้นที่ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์เนื่องจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองมักให้การดูแลรักษาเอง ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการขับถ่ายไปจนถึงช่วงเติบโตเป็นผู้ใหญ่

อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด มักพบในเด็กชาย(ยังอธิบายเหตุผลไม่ได้)มากกว่าในเด็กหญิงประมาณ 6 เท่า หรือ บางการศึกษาพบเป็นประมาณ 80%

อนึ่ง ชื่ออื่นของ อาการอุจจาระรด คือ Fecal soiling, Soiling

อุจจาระรดเกิดได้อย่างไร?

อุจจาระรด

อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด เกิดจากเด็กมีท้องผูกเรื้อรัง(อุจจาระน้อยกว่า3ครั้งต่อสัปดาห์)จากสาเหตุต่างๆ หรือจากเด็กกลั้นอุจจาระเรื้อรังจนส่งผลให้ท้องผูกเรื้อรัง

เมื่อมีท้องผูกเรื้อรัง จะส่งผลให้มีอุจจาระสะสมมากในลำไส้ใหญ่ส่วนไส้ตรงและทวารหนักจนอุจจาระมีลักษณะ แห้ง แข็ง ก้อนใหญ่ขึ้นตามลำดับ, เด็กจึงยิ่งกลัวที่จะถ่ายเพราะจะเจ็บและมักทำให้ปากทวารหนักเป็นแผลฉีกขาด เด็กจึงถ่ายอุจจาระได้ครั้งละน้อยๆ แต่อาจปวดอุจจาระบ่อยขึ้น เกิดภาวะคล้ายการอุดตันในทวารหนัก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยืดขยายตัวของกล้ามเนื้อทวารหนัก ส่งผลให้หูรูดปากทวารหนักเกิดภาวะหลวมจนอุ้มอุจจาระได้ไม่ดี จึงเกิด’อุจจาระรด’ได้ง่าย

นอกจากนั้น การกดขยายทวารหนักจากก้อนอุจจาระจากท้องผูกเรื้อรัง ยังส่งผลกระทบถึงประสาททวารหนักและหูรูดปากทวารหนัก ส่งผลให้ลดความรู้สึกว่าปวดถ่ายอุจจาระ เด็กจึงถ่ายอุจจาระรดโดยไม่รู้ตัว จะรู้ต่อเมื่อได้กลิ่นหรือมีอุจจาระเลอะเสื้อผ้า/กางเกงแล้ว

และ/หรือ เมื่ออุจจาระปกติผ่านออกมาตามปกติไม่ได้(มีท้องผูกเรือรัง) กากอาหารชุดใหม่ที่เพิ่งมาถึงลำไส้ใหญ่/ไส้ตรงซึ่งยังเหลวอยู่จึงเล็ดรอดซึมผ่านอุจจาระก้อนใหญ่ที่แข็งจนก่อการอุดตัน ส่งผลให้เกิดอุจจาระรดหรือคล้ายมีอาการท้องเสียเล็กน้อยร่วมด้วย

ซึ่งทั้งหมดจะเป็นวงจร วนเวียนอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกเรื้อรังหรือการกลั้นอุจจาระเรื้อรังของเด็กได้

*อย่างไรก็ตาม มีเด็กอุจจาระรดจำนวนหนึ่งแต่น้อยมาก ประมาณ 5%ของอุจจาระรดทั้งหมด ที่อาการอุจจาระรดไม่ได้เกิดจากท้องผูกเรื้อรังหรือจากกลั้นอุจจาระเรื้อรัง แต่เกิดจากโรคแต่กำเนิดของ ลำไส้ใหญ่, สมอง, และ/หรือของไขสันสันหลัง ส่วนที่ควบคุมการทำงานของทวารหนัก เช่น

  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • โรคไม่มีเซลล์ประสาทในลำไส้ใหญ่ตอนปลาย (Hirschsprung disease)
  • หรือในเด็กด้อยทางสติปัญญา

อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ’อาการอุจจาระรด’ที่มีปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุจาก

ท้องผูกเรื้อรังหรือจากเด็กกลั้นอุจจาระเรื้อรัง’ เท่านั้น

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุของอุจจาระรด?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของอุจจาระรด/อาการอุจจาระรด คือ ท้องผูกเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ และ/หรือจากเด็กกลั้นอุจจาระเรื้อรังจนส่งผลให้เกิดท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่

  • เป็นเด็กชาย: ดังกล่าวแล้วว่า พบอาการนี้ในเด็กชายบ่อยถึงประมาณ 6เท่าของเด็กหญิง ทั้งนี้โดยยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าทำไมจึงพบในเด็กชายบ่อยกว่าในเด็กหญิงมาก
  • กินอาหารมีใยอาหารต่ำ เช่น อาหารประเภทอาหารขยะต่างๆ หรือ บริโภคแต่อาหารน้ำๆ เช่น นม
  • กิน ผัก ผลไม้ น้อย
  • ดื่มน้ำน้อย
  • ไม่ค่อยได้เล่นแบบเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย ชอบอยู่เฉยๆ
  • ไม่มีเวลาในการขับถ่ายเพียงพอ เช่น ต้องรีบไปโรงเรียน
  • ไม่กล้าบอกคุณครู หรือ ผู้ดูแล เรื่องปวดอุจจาระ
  • ไม่คุ้นเคย ไม่ชอบ เพราะ ส้วมที่โรงเรียนไม่เหมือนที่บ้าน
  • เปลี่ยนโรงเรียน จึงกลัวการเข้าส้วม
  • กลัวการเข้าส้วม กลัวส้วมตั้งแต่เด็ก
  • ได้รับการฝึกการขับถ่ายก่อนวัยอันควร วัยที่เด็กยังไม่พร้อม และไม่เข้าใจคำสอน คำสั่ง เด็กจึงมักมีความทรงจำไม่ดีในการขับถ่าย จึงกลัวการขับถ่าย
  • ไม่เคยได้รับการฝึกการขับถ่ายในวัยเด็ก ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้เริ่มฝึกเมื่อเด็กพร้อม กล่าวคือ เข้าใจในสิ่งที่สอน ทำตามคำสอนได้ กล้านั่งส้วมโดยการช่วยเหลือของผู้ปกครอง ซึ่งมักจะอยู่ในวัยช่วง ‘ขวบครึ่ง-3ขวบ’ ขึ้นกับความพร้อมของเด็ก(ปรึกษาแพทย์/กุมารแพทย์ได้)
  • เด็กกลุ่มมีพัฒนาการล่าช้า
  • เด็กที่มีปัญหาในครอบครัว ขาดการเอาใจใส่ดูแล บางรายอาจถูกละเมิดทางเพศทางทวารหนัก

อุจจาระรดมีอาการอย่างไร?

ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่เด็กเสมอ เมื่อพบเด็กมีอุจจาระรด/อาการอุจจาระรด ไม่ควรตำหนิ หรือโกรธ ไม่แสดงอาการรังเกียจ ควรหาสาเหตุ และค่อยๆสอน และฝึกเด็กในการขับถ่าย (จะกล่าวใน หัวข้อการดูแลเด็กฯ) ทั้งนี้เพราะ เมื่อเด็กได้รับการดูแล แก้ไข การฝึก ตั้งแต่ในระยะแรกๆ อาการมักหายได้ และเด็กจะกลับปกติได้เร็ว ลดปัญหาด้านอารมณ์จิตใจของเด็กได้อย่างดี

ทั่วไป อาการที่ร่วมกับท้องผูกและอุจจาระรดที่พบบ่อย ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ คือ

  • เด็กมักมีอาการกลัวห้องส้วม หรือโถส้วม หรือ กลัวการกดน้ำโถส้วม
  • เด็กมักแอบหลบซ่อนเสื้อผ้า/กางเกงที่เปื้อนอุจจาระ
  • ผู้ปกครองจะพบรอยอุจจาระบนเสื้อผ้า/กางเกง/ชุดชั้นใน อาจเป็นได้ทั้งอุจจาระเปียก หรืออุจจาระ แห้ง แข็ง
  • เด็กมักอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ที่ทางแพทย์เรียกว่า ท้องผูก
  • เด็กอาจแสดงอาการเจ็บมากเมื่อถ่ายอุจจาระ เพราะอุจจาระก้อนใหญ่จากท้องผูก เบ่งไม่ออก หรือ ถ่ายออกยาก ส่งผลให้ปากทวารหนักฉีก เป็นแผล เจ็บมาก
  • เด็กกลั้นอุจจาระไม่อยู่เมื่อปวดอุจจาระ มักอุจจาระราด เข้าส้วมไม่ทัน
  • บ่อยครั้ง เด็กจะอุจจาระครั้งละมากๆ อาจมากจนบางครั้งกดราดน้ำไม่ลงทั้งหมด
  • มีอุจจาระเป็นน้ำ หรือเหลวสลับบ่อยๆ
  • มีกลิ่นตัวเป็นกลิ่นอุจจาระ
  • ปวดท้องเรื้อรัง, ท้องอืด, พุงป่อง, จากอุจจาระคั่งค้างในลำไส้
  • มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย เพราะลำอุจจาระจากท้องผูกจะกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอยู่ผิดที่ หรือมีปัสสาวะคั่งค้าง ซึ่งเชื้อโรคจะเจริญได้ดีในปัสสาวะที่ค้างอยู่นาน จึงเป็นเหตุให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบง่าย ผลข้างเคียงนี้ มักพบบ่อยในเด็กหญิงเพราะมีท่อปัสสาวะสั้นและปากท่อปัสสาวะอยู่ใกล้ปากทวารหนักมากกว่าเด็กชายจึงมีโอกาสติดเชื้อจากอุจจาระได้ง่ายกว่า
  • อาจมีปัสสาวะรดที่นอนร่วมด้วย จากการกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะจาก ลำอุจจาระในทวารหนัก จึงเพิ่มแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ เด็กจึงกลั้นปัสสาวะตามปกติไม่อยู่
  • เพื่อนๆชอบล้อจากกลิ่นตัวของเด็ก เด็กแยกตัว ไม่อยากเข้าสมาคมกับเพื่อน ไม่อยากไปโรงเรียน
  • เด็กบางคนอาจมีอาการทางอารมณ์รุนแรง โดยเฉพาะอาการโกรธ จะเอาอุจจาระป้ายตามผนัง/สิ่งต่างๆ ซึ่งคุณครู/ผู้ปกครองต้องเข้าใจ ให้คำอธิบาย ไม่ลงโทษ

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรพาเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อเด็กมีอุจจาระรด/อาการอุจจาระรด บ่อยผิดปกติเด็กทั่วไป ซึ่งผู้ปกครองควรรีบพาเด็กพบแพทย์ให้เร็วที่สุดหลังทราบว่าเด็กมีอุจจาระรด และ/หรือเมื่อผู้ปกครองพยายามดูแลเองแล้ว อาการของเด็กไม่ดีขึ้น เช่น ภายใน 1เดือน เพราะดังกล่าวแล้วว่า การรักษาที่จะได้ผลดี ควรเริ่มให้เร็วที่สุด ก่อนเด็กจะมีปัญหาทางลำไส้และทางอารมณ์/จิตใจรุนแรงอย่างเรื้อรัง

แพทย์วินิจฉัยอาการอุจจาระรดอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัย อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของเด็ก ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ อายุที่เริ่มเกิดอาการ ประวัติการคลอด ประวัติการเลี้ยงดู สังคมในบ้าน การสอนเรื่องขับถ่าย
  • การตรวจร่างกาย เช่น ดูว่าทำไมเด็กชอบกลั้นอุจจาระ ตรวจหาว่ามีแผลที่ปากทวารหนักหรือไม่ ฯลฯ
  • อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจาก โรคลำไส้อักเสบ, โรคสมอง, และ/หรือโรคไขสันหลัง ทั้งนี้ขึ้นกับสิ่งที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การวินิจฉัยเรื่องพัฒนาการของเด็ก
    • การตรวจอุจจาระ
    • เอกซเรย์ และ/หรือ อัลตราซาวด์ ภาพช่องท้องเพื่อดูปริมาณลำอุจจาระที่ค้างในลำไส้
    • อาจจำเป็นต้องส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอปรับง่ายๆจากคำแนะนำของสมาคมสุขภาพจิตแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association: DSMIV): การจะวินิจฉัยว่า เด็กมี ‘อาการ/ภาวะอุจจาระรด’ ควรต้องประกอบด้วยลักษณะโดยสังเขป ดังนี้

1.มีประวัติอุจจาระในที่ๆไม่สมควร เช่น รดเสื้อผ้า หรือรดพื้น ทั้งอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

2. อุจจาระรดอย่างน้อยเดือนละ 1ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน

3. เด็กต้องมีอายุอย่างน้อย 4 ปีขึ้นไป (วัยที่กลั้นอุจจาระได้แล้ว)

4. เด็กไม่ได้กินยาระบาย หรือ มีโรคอื่นที่อาจเป็นสาเหตุ (เช่น โรคสมอง, โรคไขสันหลัง) ยกเว้น ท้องผูกเรื้อรัง

รักษาอาการอุจจาระรดอย่างไร? รักษาหายไหม?

แนวทางการรักษา อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด ขึ้นกับ สาเหตุ, ความรุนแรงของปัญหา/ อาการของเด็ก, อายุของเด็ก, สุขภาพโดยรวมของเด็ก, ปัญหาทางการแพทย์ของเด็ก, ความประสงค์ของผู้ปกครอง, และดุลพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ในขั้นตอนแรก คือ ต้องทำให้เด็กถ่ายอุจจาระที่ค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ (Fecal impact)ออกให้หมดก่อนเพื่อตัดวงจรเกิดอุจจาระรด ซึ่งมักเป็นการให้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกมากกว่าการสวนทวารหนัก

จากนั้น รักษาดูแลให้เด็กมีอุจจาระที่อ่อนนุ่ม โดยการให้ยา(โดยแพทย์เป็นผู้สั่งยา)ที่ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม(Stool softener) เช่น Magnesium hydroxide

ต่อจากนั้น คือ ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดท้องผูก โดยปรับพฤติกรรมเด็กในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะเรื่องประเภทอาหาร

  • งด/จำกัดอาหารประเภท อาหารขยะ
  • เพิ่มผัก ผลไม้, และ เพิ่มน้ำดื่ม ให้เหมาะสมตามอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก ซึ่งขั้นตอนนี้ ผู้ปกครอง และคุณครู/โรงเรียนมีส่วนสำคัญที่สุด

ต่อจากนั้น คือ การฝึกการขับถ่ายของเด็ก ซึ่งต้องได้รับความรวมมือจากผู้ปกครอง คุณครู/โรงเรียน เช่นกัน

โดยทั่วไป การรักษาดูแลต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน ลำไส้ใหญ่และเส้นประสาทที่ควบคุมลำไส้ใหญ่จึงจะค่อยๆกลับสู่ภาวะปกติซึ่งจะช่วยให้เด็กหายจาก ’อาการอุจจาระรด’ได้

*ที่สำคัญอีกประการ หลังเด็กมีอาการดีขึ้น/กลับปกติ ผู้ปกครองที่รวมถึงคุณครูยังคงต้องให้การดูแลในพฤติกรรม การกิน การดื่มน้ำ และการขับถ่ายของเด็ก อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จนกว่าเด็กจะสามารถปฏิบัติได้จนเป็นนิสัย

อุจจาระรดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด เมื่อวินิจฉัยได้รวดเร็ว และได้รับการดูแลร่วมมือระหว่าง แพทย์ พยาบาล ครู/โรงเรียน ผู้ปกครอง รวมทั้งการทำให้เด็กร่วมมือ เด็กมักหายจากอาการเสมอ แต่ถ้าปล่อยเรื้อรัง พบว่ามีโอกาสสูงถึงประมาณ 30% ที่เด็กจะมีปัญหาในการอุจจาระไปจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่

*ผลข้างเคียงจาก อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด ที่สำคัญ คือ ปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจของเด็ก เพราะเด็กจะเกิดความอับอาย ขาดความมั่นใจในตนเอง เก็บตัว หนีสังคม และหลายคนจะก้าวร้าว เกเร โกรธง่ายรุนแรง และเกโรงเรียน

อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด นอกจากก่อปัญหาทางอารมณ์ จิตใจแก่เด็กแล้ว ยังก่อให้เกิด

  • การระคายเคือง รวมทั้งผื่นคันที่บริเวณก้นและบริเวณอวัยวะเพศของเด็กได้
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เด็กเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง เป็นๆหาย
  • เพิ่มโอกาสเกิด ปัสสาวะรดที่นอน

*นอกจากปัญหากับตัวเด็กแล้ว ผู้ปกครองเอง ก็จะมีปัญหาด้านอารมณ์ด้วย จาก เครียด และความอับอายไปด้วย ก่อให้เกิดการหงุดหงิด ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาเด็ก ขาดประสิทธิภาพ

ดูแลอย่างไรเมื่อเด็กอุจจาระรด?

การดูแลเด็กเมื่อมีอุจจาระรด/อาการอุจจาระรด ที่สำคัญ คือ

  • เมื่อเด็กท้องผูกมาก ควรให้กินยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก (ปรึกษา แพทย์/เภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาเองเสมอ) ไม่ควรใช้การสวนทวาร และในขณะเดียวกันควรต้องดูแลควบคู่ไป คือ
    • ป้องกันท้องผูกโดยดูแลเรื่อง อาหาร และ น้ำดื่ม
    • ให้มีการออกกำลังกาย/การเคลื่อนไหวของเด็กควบคู่ไปด้วยเสมอ
  • ป้องกันท้องผูก โดย
    • เลิก/จำกัดกินอาหารขยะ
    • กินอาหารมีใยอาหารสูง เช่น เพิ่ม ผัก และผลไม้
    • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8แก้ว เมื่อเด็กไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
    • ให้เด็กได้ออกกำลังกาย เล่นนอกบ้านมากขึ้น การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหว/การบีบตัวของลำไส้ จะช่วยให้ขับถ่ายกากอาหาร/อุจจาระได้สะดวกขึ้น
  • ปรับตารางการใช้ชีวิตของเด็ก ให้กินอาหารเช้าเร็วขึ้นเพื่อมีเวลาขับถ่าย เพราะโดยทั่วไปเด็กมักขับถ่ายได้ดีภายหลังกินอาหารมื้อหลักไปแล้วนานประมาณ 15-20 นาที
  • ฝึกการอุจจาระ เช่น ภายหลังอาหารหลัก ทั้ง 3 มื้อ (อย่างน้อย 2 มื้อ คือ เช้า และเย็น)ไปแล้วประมาณ 15-20 นาที ให้เด็กนั่งส้วม นานอย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที ในทุกๆวัน จนเด็กคุ้นเคย
  • สอนให้เด็กฝึกกล้ามเนื้อทวารหนัก ปากทวารหนัก โดยเมื่อเด็กกำลังปัสสาวะให้เด็กกลั้นปัสสาวะเป็นช่วงๆ ประมาณ 2 -3 ครั้ง ต่อการปัสสาวะ 1 ครั้ง เมื่อเด็กทำได้ ควรชมเชย และ/หรือ ให้รางวัล
  • ผู้ปกครองควรมีเวลา และให้ความใกล้ชิดกับเด็กเพื่อการพูดคุย และเอาใจใส่สังเกตเห็นความกังวล หรือความกลัวของเด็กในการเข้าสวม หรือในการกลั้นอุจจาระ และพยายามอธิบาย ให้กำลังใจ การอยู่เป็นเพื่อน จนเด็กคุ้นเคย
  • เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน หรือเปลี่ยนโรงเรียน ผู้ปกครองต้องช่วยเหลือเด็กในการปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียน/กับคุณครู/เพื่อน กล้าที่จะขออนุญาตเข้าห้องน้ำ และช่วยแนะนำเด็กในเรื่องของส้วมโรงเรียนเมื่อไม่เหมือนที่บ้าน หรือแตกต่างจากโรงเรียนเดิม
  • ลดความเครียดของเด็กโดยการลดปัญหาในครอบครัว

ป้องกันเด็กอุจจาระรดอย่างไร?

การป้องกัน อุจจาระรด/อาการอุจจาระรด เช่นเดียวกับในการดูแลเด็กเมื่อเด็กมีอาการอุจจาระรดแล้ว เพียงแต่เริ่มให้การดูแลเด็กในการขับถ่ายตั้งแต่แรกเกิด ที่สำคัญ คือ การป้องกันภาวะท้องผูกเรื้อรัง และการกลั้นอุจจาระเรื้อรังเมื่อเด็กโตขึ้นจนสามารถกินอาหารได้ประเภทเดียวกับผู้ใหญ่ โดย

  • ให้เด็กได้กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ทุกมื้ออาหาร, จำกัด/เลิกอาหารขยะ, เพิ่ม ผัก ผลไม้
  • ฝึกให้เด็กดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และดื่มเพิ่มขึ้นเมื่อเด็กเสียเหงื่อมากขึ้น, เมื่อเด็กไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ฝึกการขับถ่ายเมื่ออายุเข้าเกณฑ์ คือ ช่วงอายุประมาณ 1ขวบครึ่ง ถึง 3 ขวบ เมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กสามารถเข้าใจคำสั่งสอนได้ ปฏิบัติได้ และนั่งบนโถส้วมได้ ในช่วงเวลาที่จะมีการกระตุ้นลำไส้ใหญ่และทวารหนักให้เคลื่อนไหวคือ หลังการกินอาหารหลักแต่ละมื้อไปแล้วประมาณ 15-20นาที ฝึกให้เด็กนั่งส้วม อย่างน้อยนานครั้งละประมาณ 10-15 นาที เป็นประจำทุกวันหลังอาหารเช้า และ/หรือหลังอาหารเย็น/หรือทั้ง3มื้อ จนเด็กสามารถปวดถ่ายอุจจาระได้เองทุกวัน หรือ ทุก 2 วัน ผู้ปกครองสามารถปรึกษาแพทย์/กุมารแพทย์/พยาบาลเด็ก ได้ในเรื่องนี้เมื่ออายุเด็กเข้าเกณฑ์ที่จะเริ่มฝึกได้ คือ ประมาณ 1ขวบครึ่งถึง3 ขวบ
  • สังเกต อารมณ์จิตใจเด็ก ช่วยเด็กไม่ให้กลัวการขับถ่าย หรือกลัวโถส้วม
  • จัดตารางการไปโรงเรียนที่เหมาะสม ให้เด็กได้มีเวลาขับถ่ายอย่างเพียงพอ
  • ดูแลครอบครัว ลดปัญหาในครอบครัว เพื่อให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดี
  • ดูแลเอาใจใส่ปัญหาของเด็กที่โรงเรียน เพื่อช่วยเหลือดูแลการปรับตัวของเด็ก

บรรณานุกรม

  1. Coehlo, D. (2011). Encopresis: a medical and family approach. Pediatric Nursing. 37, 107-112.
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Encopresis [2021,July3]
  3. https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=encopresis-90-P01992 [2021,July3]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/928795-overview#showall [2021,July3]
  5. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/infant-and-toddler-health/in-depth/potty-training/art-20045230 [2021,July3]