อีโพพรอสทีนอล (Epoprostenol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีโพพรอสทีนอล(Epoprostenol หรือ Epoprostenol sodium หรือ Epoprostenol Na) เป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสารโพรสตาแกลนดิน(Prostaglandin)ที่มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำขยายตัว รวมถึงยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ใช้ยาอีโพพรอสทีนอลเป็นยาลดความดันโลหิตสูงภายในปอด โดยตัวยาจะช่วยขยายหลอดเลือดภายในปอดนั่นเอง

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีโพพรอสทีนอลถูกออกแบบให้เป็นยาฉีดที่มีฤทธิ์แรง ซึ่งการให้ยาอีโพพรอสทีนอลกับผู้ป่วย ต้องหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ และการเตรียมยาฉีดชนิดนี้ ต้องผสมตัวยากับน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อหรือสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride) ที่มีความเข้มข้น 0.9% ขนาดการใช้ยานี้เริ่มต้นอยู่ที่ 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที โดยแพทย์สามารถให้ยา 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาทีได้ ทุก 15 นาที ผู้ป่วยที่ได้รับยาอีโพพรอสทีนอลอย่างถูกต้องเหมาะ สม จะทำให้ความดันโลหิตในปอดลดลง นอกจากนี้ยังทำให้การสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจมีปริมาณมากขึ้นด้วย

ยาอีโพพรอสทีนอลเป็นสารที่มีความคงตัวต่ำ ด้วยมีความไวกับอุณหภูมิสูงจึงถูกทำลายได้อย่างรวดเร็วภายในกระแสเลือด ร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 6 นาที ตัวยานี้ก็โดนกำจัดออกจากกระแสเลือดได้แล้วโดยไต/ทางปัสสาวะ

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ยาอีโพพรอสทีนอลที่ควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งมีเหตุจากหัวใจห้องซ้ายมีความผิดปกติ อย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติเคยมีน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำหลังจากได้รับยาอีโพพรอสทีนอล
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ตัวยานี้ถูกส่งผ่านไปถึงทารก
  • ห้ามใช้ยาอีโพพรอสทีนอลร่วมกับยาDigoxin ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาDigoxin มากขึ้น
  • ห้ามผสมยาอีโพพรอสทีนอลร่วมกับยาชนิดอื่นที่นอกเหนือจากข้อกำหนดในเอกสารกำกับยาในการหยดยานี้เข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วย
  • ห้ามใช้ยาฉีดอีโพพรอสทีนอลที่มีสิ่งเจือปน อย่างเช่น ฝุ่นผง
  • หลังได้รับยานี้แล้ว อาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ห้ามผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียนมากยิ่งขึ้น
  • ยานี้สามารถลดจำนวนและลดการทำงานของเกล็ดเลือดลงได้ จึงทำให้เกิดเลือดออกได้ง่าย ผู้ป่วยจึงต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเลือดออก
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ หรือยาลดความดันโลหิตตัวอื่นๆเพราะจะทำให้ความดันโลหิตต่ำมากตามมา
  • ห้ามใช้ยาอีโพพรอสทีนอลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพราะจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่าย
  • ขณะได้รับยานี้แล้ว เกิดอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก วิงเวียน อ่อนเพลียมากขึ้น นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าอาการความดันโลหิตในปอดยังสูงอยู่ และไม่ตอบสนองต่อการใช้ยานี้ ผู้ป่วยต้องรีบแจ้งแพทย์ พยาบาล โดยเร็ว

โดยทั่วไป การใช้อีโพพรอสทีนอลมีอยู่แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และสามารถพบเห็นยานี้ถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Veletri”

อีโพพรอสทีนอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

อีโพพรอสทีนอล

ยาอีโพพรอสทีนอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดความดันโลหิตภายในปอด (Pulmonary Hypertension)

อีโพพรอสทีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีโพพรอสทีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะทำให้หลอดเลือดในปอดเกิดการขยายตัว และยังช่วยยับยั้งการจับตัวของเกล็ดเลือด จึงทำให้เลือดในปอดและหัวใจไหลเวียนได้สะดวก ตลอดจนเพิ่มปริมาตรการไหลของเลือดที่ออกจากหัวใจ จากกลไกดังกล่าว จึงส่งผลลดความดันโลหิตภายในปอดได้ตามสรรพคุณ

อีโพพรอสทีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีโพพรอสทีนอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดที่มีส่วนประกอบของ Epoprostenol sodium ขนาด 0.5 มิลลิกรัม(500,000 นาโนกรัม/Nanogram)/ขวด (Vial) และ ขนาด 1.5 มิลลิกรัม(1,500,000 นาโนกรัม)/ขวด (Vial)

อีโพพรอสทีนอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีโพพรอสทีนอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที หากจำเป็น ในทุกๆ 15 นาที แพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดการให้ยากับผู้ป่วยอีก 2 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การเตรียมยาฉีดของอีโนพรอสทีนอล ต้องผสมน้ำกลั่นหรือสารละลาย โซเดียมคลอไรด์ 0.9% ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีโพพรอสทีนอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหืด รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโพพรอสทีนอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากไม่ได้รับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับการฉีดยาอีโพพรอสทีนอลตรงตามเวลา การไม่ได้รับการให้ยานี้อาจทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ดังนั้นหากลืมมารับการฉีดยานี้ผู้ป่วยควรรีบติดต่อแพทย์/ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อนัดหมายการฉีดยาโดยเร็ว

อีโพพรอสทีนอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีโพพรอสทีนอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า หัวใจล้มเหลว/ หัวใจวาย
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กรดไหลย้อน ท้องเสีย ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปากแห้ง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล ซึม นอนไม่หลับ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ขาเป็นตะคริว
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง(ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ คออักเสบ ไซนัสอักเสบ เกิดภาวะปอดบวมน้ำ

มีข้อควรระวังการใช้อีโพพรอสทีนอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโพพรอสทีนอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ อย่างเช่น หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ และ/หรือ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีผงในตัวยา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคหืด โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไตระยะรุนแรง โรคตับวาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ด้วยจะทำให้มีฤทธิ์ เสริมกันจนทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดบาดแผล และนำมาด้วยอาการเลือดออก
  • การปรับเปลี่ยนโดยลดขนาดการใช้ยานี้ทันทีทันใด อาจทำให้อาการความดันโลหิตในปอดสูงกลับมาเล่นงานคนไข้ได้ง่าย การปรับขนาดการใช้ยานี้ แพทย์จึงต้องค่อยๆปรับลดแบบค่อยเป็นค่อยไป
  • หากพบอาการวิงเวียนหลังด้รับยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง เพื่อแพทย์ตรวจดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีโพพรอสทีนอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

อีโพพรอสทีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีโพพรอสทีนอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีโพพรอสทีนอล ร่วมกับ ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ด้วยจะก่อให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา
  • การใช้ยาอีโพพรอสทีนอลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีโพพรอสทีนอลร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะ ทำให้การออกฤทธิ์ของอีโพพรอสทีนอลลดน้อยลงจนเสียประสิทธิภาพของการักษา

ควรเก็บรักษาอีโพพรอสทีนอลอย่างไร?

ควรเก็บยาอีโพพรอสทีนอล ในช่วงอุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อีโพพรอสทีนอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

อีโพพรอสทีนอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
VELETRI (เวเลทรี)Patheon S.p.A

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Flolan

บรรณานุกรม

  1. https://www.veletri.com/pdf/veletri_full_prescribing_information_2nd_gen.pdf[2017,July22]
  2. https://www.drugs.com/cdi/epoprostenol.html[2017,July22]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/epoprostenol-index.html?filter=2&generic_only=[2017,July22]
  4. http://www.mims.com/philippines/drug/info/epoprostenol?mtype=generic[2017,July22]
  5. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01240[2017,July22]