อีโซเมปราโซล (Esomeprazole) หรือ เน็กเซียม (Nexium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอีโซเมปราโซล (Esomeprazole) หรือชื่อยาชื่อการค้าที่คนทั่วไปรู้จักคือ ยาเน็กเซียม (Nexium) เป็นยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (Proton pump inhibitor) ถูกนำมาใช้รักษาภาวะอาหารไม่ย่อย แผลในกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน และโรค Zollinger-Ellison syndrome (เนื้องอกชนิดที่พบได้น้อยมากๆๆๆของตับอ่อนหรือลำไส้เล็ก ที่เซลล์เนื้องอกสามารถสร้างเอนไซม์ที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างกรดในกระเพาะอาหารในปริมาณมาก จนก่อให้เกิดโรคแผลเปบติค)

ยาอีโซเมปราโซล ยังมิได้รับการคัดเลือกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติของประเทศไทย แต่หลายสถานพยาบาลของเอกชนก็มียาตัวนี้อยู่ในระบบของการรักษากลุ่มโรคแผลในกระเพาะอาหาร

จากการศึกษาการกระจายตัวของยาอีโซเมปราโซล เมื่อยาฯเข้าสู่กระแสเลือดของร่างกายพบว่า ภายในประมาณ 1 ชั่วโมง ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ในการทำงานและถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 18 นาทีเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยยาส่วนใหญ่ (80%) จะถูกขับถ่ายผ่านมากับปัสสาวะ และส่วนน้อย (20%) จะผ่านมากับอุจจาระ

ยาอีโซเมปราโซลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาอีโซเมปราโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อีโซเมปราโซล

ยาอีโซเมปราโซลมีสรรพคุณคือ

  • รักษาอาการโรคกรดไหลย้อน
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ (โรคแผลเปบติค)
  • รักษาอาการโรค Zollinger-Ellison syndrome
  • ป้องกันภาวะเลือดออกในกระเพาะและลำไส้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ เมื่อผู้ป่วยมีการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด(NSAIDs)

ยาอีโซเมปราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีโซเมปราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยจะยับยั้งการหลั่งกรดที่กระเพาะอาหาร โดยยาจะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ ชื่อ H+/K+ ATPase ที่ผนังเซลล์ของกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดการชะลอการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

ยาอีโซเมปราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีโซเมปราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • รูปแบบยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม

ยาอีโซเมปราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอีโซเมปราโซลมีขนาดรับประทานดังนี้

ก. ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 - 18 ปี:

  • รักษาภาวะ/โรคกรดไหลย้อน: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากอาการโรคยังไม่หายสนิทให้ลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง โดยรับประทานต่อตามคำสั่งแพทย์
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ (แผลเปบติค): รับประทานครั้งละ 20 - 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง เป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ เมื่อมีการติดเชื้อเอชไพโลไร (โรคติดเชื้อเอขไพ โลไร) ร่วมด้วย: รับประทานยา 20 มิลลิกรัมร่วมกับยาปฏิชีวนะอะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) 1 กรัม และคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น เป็นเวลา 7 วัน
  • ป้องกันการเป็นแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้ จากการรับประทานยาเอ็นเสด (NSAIDs): รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละครั้ง
  • รักษาโรค Zollinger-Ellison syndrome: เริ่มต้นรับประทาน 40 มิลลิกรัม เช้า - เย็น ทั้ง นี้การปรับขนาดยาและการแบ่งรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และกรณีที่โรคมีอาการรุนแรงขนาดรับประทานอาจปรับเป็น 120 มิลลิกรัม เช้า - เย็น

ข. เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ขนาดและระยะเวลาในการรับประทาน ต้องอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์เท่านั้น

***** หมายเหตุ:

  • ยาอีโซเมปราโซลสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ขนาดและระยะเวลาการใช้ยาอีโซเมปราโซลต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานยาเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีโซเมปราโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอีโซเมปราโซล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอีโซเมปราโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาอีโซเมปราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีโซเมปราโซลอาจมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) เช่น อาการปวดศีรษะ และรู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโซเมปราโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโซเมปราโซลดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาอีโซเมปราโซล
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีโซเมปราโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาอีโซเมปราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีโซเมปราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้

  • การใช้ยาอีโซเมปราโซลร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวีบางตัว เช่น Atazanavir, Nelfinavir สามารถลดฤทธิ์การรักษาของยาต้านไวรัสเอชไอวีดังกล่าว เพราะภาวะความเป็นกรดในกระเพาะอาหารต่ำ ยาต้านไวรัสเอชไอวีเหล่านี้จะถูกดูดซึมได้น้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • การใช้ยาอีโซเมปราโซลร่วมกับยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ เช่น Methotrexate อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของ Methotrexate (เช่น กดการทำงานของไขกระดูก) มากขึ้น ด้วยอีโซเมปราโซลจะสนับสนุนการเพิ่มปริมาณ Methotrexate ในกระแสเลือด
  • การใช้ยาอีโซเมปราโซลร่วมกับยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ จะทำให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดต่ำลง ด้วยอีโซเมปราโซลลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จึงมีภาวะที่ไม่เหมาะสมในการดูดซึมธาตุเหล็กเข้าสู่ร่างกาย แพทย์จะเป็นผู้แนะนำและปรับขนาดหรือเวลาของการรับประทานยาทั้งคู่

ควรเก็บรักษายาอีโซเมปราโซลอย่างไร

สามารถเก็บยาอีโซเมปราโซลที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดดและความชื้น เก็บยา ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาอีโซเมปราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีโซเมปราโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Nexium (เน็กเซียม) AstraZeneca

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Esomeprazole [2014,Sept27]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nexium/?type=brief [2014,Sept27]
3 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=esomeprazole [2014,Sept27]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=esomeprazole [2014,Sept27]
5 http://www.drugs.com/drug-interactions/esomeprazole-index.html?filter=2 [2014,Sept27]
6 http://www.healthcentral.com/acid-reflux/r/medications/nexium-oral-20536/dosage [2014,Sept27]