อีโคไลจู้ดๆ (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 3 เมษายน 2562
- Tweet
จากรายงานของ European Centre for Disease Prevention and Control พบว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Healthcare-associated infection = HAI) ประมาณ 37,000 ราย
นักวิจัยจาก Aston University จึงอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคนิคที่คล้ายกับการผลิตกระจกสี (Stained glass) ซึ่งสามารถใช้ฆ่าเชื้ออีโคไลได้ โดยกระจกนี้เป็นกระจกที่สามารถออกฤทธิ์ทางชีวภาพ (Bioactive glass) สามารถใส่เข้าในร่างกายมนุษย์ระหว่างการผ่าตัดเพื่อให้ปล่อยคุณสมบัติในการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะลง
Dr Richard Martin จาก Aston University กล่าวว่า นี่คือสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการในการป้องกันเชื้อโรคได้ เพราะสามารถใช้กำจัดเชื้ออีโคไล เชื้อรา (Candida albicans) ในระหว่างการผ่าตัด นอกจากนี้ยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Staphylococcus aureus) ที่ดื้อยาเมธิซิลิน (Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus = MRSA) ได้เกือบทั้งหมด
ในการนี้ นักวิจัยได้ใช้เทคนิควิธีโบราณในการศึกษา กล่าวคือ
• เอาโคบอลต์ (Cobalt) จำนวนเล็กน้อยมาร้อยผูกกับแก้ว
• อบด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 1000 C
• แล้วทำให้เย็นตัวลงอย่างรวดเร็วเพื่อหยุดการตกผลึก (Crystallising)
• จากนั้นจึงบดให้เป็นผงและใส่ลงในจานเพาะเลี้ยง (Petri dishes) ที่มีเชื้อแบคทีเรีย
แม้ว่าจะมีการพัฒนา Bioactive glass มาช่วงหนึ่งแล้วก็ตาม Dr Martin กล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเราสามารถพัฒนารูปแบบที่จะนำเข้าไปไว้ในร่างกาย เพื่อค่อยๆ ปล่อยประจุพลังออกมาเพื่อฆ่าเชื้อ
เชื้ออีโคไล Escherichia coli (E. coli) เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่ง (Gram-negative rod-shaped bacterium) ในตระกูล Enterobacteriaceae family ที่สามารถเจริญได้ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจนและไม่มีออกซิเจน (Facultative anaerobe)
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์เลือดอุ่นทั่วไป ส่วนใหญ่เชื้ออีโคไลหลายชนิดจะไม่ก่อให้เกิดโทษหรือทำให้เกิดอาการท้องเสียแต่อย่างใด มีเพียงบางสายพันธุ์โดยเฉพาะเชื้อ E. coli O157:H7 ที่สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน
โดยเชื้อนี้จะทำให้เกิดสารพิษที่เรียกว่า Shiga หรือที่เรียกกันว่า Shiga toxin-producing E. coli (STEC)
เราอาจจะติดเชื้ออีโคไลได้จากอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะผักสดและเนื้อที่ปรุงไม่สุก ซึ่งผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีมักจะฟื้นตัวจากการติดเชื้อได้ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนเด็กหรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่าในการที่จะเกิดอาการไตวายที่เรียกว่า กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตก-ยูรีเมีย (Hemolytic uremic syndrome = HUS)
แหล่งข้อมูล:
- Aston University develops E.coli-killing glass. https://www.bbc.com/news/uk-england-birmingham-47467375 [2019, April 1].
- E. coli. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/e-coli/symptoms-causes/syc-20372058 [2019, April 1].
- E. coli. https://www.foodsafety.gov/poisoning/causes/bacteriaviruses/ecoli/index.html [2019, April 1].
- E. coli 0157:H7 Infection Early Symptoms, Treatment, and Prevention. https://www.medicinenet.com/e_coli__0157h7/article.htm#17_later_symptoms_of_signs_and_symptoms_of_e_coli_infections[2019, April 1].