อีโคไล ท้องร่วงอีโคไล (E. coli enteric infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โรคท้องร่วงอีโคไลเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคท้องร่วงอีโคไล?
- โรคท้องร่วงอีโคไลมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
- รักษาโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
- โรคท้องร่วงอีโคไลก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคท้องร่วงอีโคไลมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินอาหาร (Digestive disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet)
- วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในเด็ก (Oral rehydration salt/ORS in children)
- Foodborne disease
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
บทนำ
โรคท้องร่วงอีโคไล หรือ ท้องเสียจากเชื้ออีโคไล(E. coli enteric infection) คือ โรคติดเชื้อทางเดินอาหารเฉียบพลันที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย/ท้องร่วงที่ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำเฉียบพลัน ร่วมกับอาการปวดท้องลักษณะปวดบีบ/ปวดเกร็ง โดยมีสาเหตุเกิดจากระบบทางเดินอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อย่อว่า อีโคไล(E.Coli) ชื่อเต็มคือ Escherichia coli
Escherichia coli เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ที่รายงานครั้งแรกโดย กุมารแพทย์ชาวเยอรมัน-ออสเตรียน ในปีค.ศ.1919 (พ.ศ. 2462) เป็นแบคทีเรียที่สามารถก่อโรคได้กับเกือบทุกอวัยวะของร่างกาย เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฝีตับ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะเชื้อนี้ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารเท่านั้น และขอเรียกว่า “โรคท้องร่วงอีโคไล”
เชื้ออีโคไล มีหลากหลายสายพันธ์ย่อย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไม่ก่อโรค และอาศัยเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ใหญ่ของสัตว์เลือดอุ่น ที่รวมถึงคน โดยในคน เชื้อนี้จะช่วยร่างกายสร้าง วิตามิน เค แต่มีบางสายพันธ์ย่อยที่เป็นสายพันธ์รุนแรง ที่ก่อโรคต่างๆที่รุนแรงปานกลางไปจนถึงที่รุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสายพันธ์ย่อยที่รุนแรงนี้ มักได้จากการติดเชื้อจากการปนเปื้อนเชื้อนี้ใน อาหาร รวมถึง ในนม และผลิตภัณฑ์จากนม และในน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนเชื้อเหล่านี้ที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยด้วยโรคท้องร่วงอีโคไล หรือของคนที่เป็นพาหะโรคของเชื้อนี้สายพันธ์รุนแรง ทั้งนี้คนเป็นได้ทั้งรังโรคและพาหะโรคของเชื้อนี้
เชื้ออีโคไลที่ก่อโรคต่อทางเดินอาหาร มี 6 สายพันธ์ย่อย ที่มีธรรมชาติของโรคต่างกัน คือ
1. Enterotoxigenic E. coli เรียกย่อว่า “ETEC” มักเป็นสาเหตุให้เกิดโรคท้องเสีย/ท้องร่วงในนักเดินทาง/นักท่องเที่ยว ที่เรียกว่า “Traveler’s diarrhea” เป็นอาการท้องเสียเป็นน้ำที่ไม่มีอุจจาระเป็นเลือด
2. Enteropathogenic E.coli เรียกย่อว่า “EPEC” มักทำให้เกิดท้องเสีย/ท้องร่วงรุนแรงในเด็กอ่อน
3. Enteroinvasive E.coli เรียกย่อว่า “EIEC” มักทำให้เกิดท้องเสีย/ท้องร่วงที่ทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่/ลำไส้ใหญ่อักเสบ ก่ออาการคล้ายที่เกิดจากโรคบิดไม่มีตัว จึงอาจมีอุจจาระเป็นเลือดร่วมด้วยได้ และมักทำให้เกิดการระบาดใน สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมไปถึงในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีในประเทศกำลังพัฒนา
4. Enterohemorrhagic E. coli เรียกย่อว่า “EHEC” มักทำให้เกิดลำไส้ใหญ่อักเสบ และอุจจาระเป็นเลือด นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการทำลายของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงแตก ซึ่งเม็ดเลือดแดงที่แตกทำลายนี้จะไปอุดตันหลอดเลือดเล็กๆที่เป็นหน่วยทำงานของไต ส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน จนอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ นอกจากนั้น เม็ดเลือดแดงที่แตกนี้จะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง/ซีด และยังเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ที่ส่งผลให้เลือดออกได้ง่าย ซึ่งเรียกกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นนี้ว่า “ Hemolytic uremic syndrome” เรียกย่อว่า “HUS”
5. Enteroaggregative E. coli เรียกย่อว่า “EAggEC” มักทำให้เกิดโรคท้องเสีย/ท้องร่วงชนิดต่อเนื่องในเด็ก(Persistent diarrhea)ในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา และในนักเดินทาง/นักท่องเที่ยว เช่น สายพันธ์ย่อยชื่อ O104:H4 ที่ก่อการระบาด เมื่อ พ.ศ. 2554
6. Enteroadherant E.coli เรียกย่อว่า “ EAEC” พบเชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุของการระบาดใน เมกซิโกและอเมริกาเหนือ
อนึ่ง เชื้ออีโคไล ชนิดสายพันธ์ย่อยเหล่านี้ มักสร้างสารพิษที่ทำให้อาการของโรคท้องเสีย/ท้องร่วงรุนแรงขึ้น เรียกพิษนี้ว่า “Shiga toxin” และเรียกรวม E.coli สายพันธ์ย่อยต่างๆที่สร้างพิษนี้ว่า “Shiga toxin-producing E. coli” เรียกย่อว่า “STEC” เช่น ที่พบมีการระบาดมากที่ก่อให้เกิดอุจจาระเป็นเลือดและเกิดผลข้างเคียงต่อไตตามมาจนอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน เช่น อีโคไล สายพันธ์ STEC 0157:H7 และสายพันธ์ O104:H4 เป็นต้น
เชื้ออีโคไล พบได้ใน อุจจาระคน ในดิน ในปุ๋ย ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ในอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ นม พืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ โดยเชื้อนี้ฆ่าตายได้ด้วย 70% แอลกอฮอล์, หรือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ Hypochlorite, หรือด้วยอุณภูมิที่สูงตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส(Celsius) ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ ควรปรุงด้วยอุณหภูมิที่สูงตั้งแต่ 75-80 องศาเซลเซียสขึ้นไป อนึ่ง เมื่อเชื้อนี้อยู่นอกตัวคน อีโคไลสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน เป็นชั่วโมง ถึงประมาณ 1 ปี ขึ้นกับสภาพของสิ่งแวดล้อม
โรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล เป็นโรคติดต่อจากอาหาร(รวมนมและผลิตภัณฑ์จากนม)และน้ำดื่ม ที่เรียกว่า Food borne disease ซึ่งพบได้บ่อยมากทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ แต่มักพบในแหล่งที่การสาธารณสุขไม่ดี โดยเฉพาะในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ส้วม และการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย พบโรคนี้ได้ในทุกอายุ และในทั้ง 2 เพศ และยังพบการระบาดได้เสมอ แม้ในประเทศที่เจริญแล้ว
โรคท้องร่วงอีโคไลเกิดได้อย่างไร?
สาเหตุของโรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล คือ ทางเดินอาหารติดเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล จากการปนเปื้อนเชื้อนี้ใน อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์จากนม จากทั้งในกระบวนการเพาะปลูกที่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย ที่พบเชื้อปนเปื้อนใน พืช ผัก ผลไม้ ไปจนถึง จากเนื้อสัตว์ นม ผลิตภัณฑ์จากนม ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ กระบวนการผลิต แปรรูป ปรุงอาหาร การจัดเก็บอาหารสด และอาหารที่ปรุงแล้ว ทั้งนี้รวมไปถึงน้ำดื่ม แหล่งน้ำต่างๆตามธรรมชาติ จากสระว่ายน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้ รวมถึงการกลืนน้ำขณะว่ายน้ำ
โรคนี้ติดต่อจากเชื้อที่ติดที่มือ เข้าสู่ปากได้ และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสกับอุจจาระของผู้ป่วย แต่พบได้น้อยกว่าการติดต่อจากอาหารและน้ำดื่มมาก แต่ยังไม่มีรายงานว่า โรคนี้ติดต่อได้จากแมลงที่ตอมอาหาร
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคท้องร่วงอีโคไล?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล คือ อยู่อาศัย หรือเดินทาง หรือท่องเที่ยวในแหล่ง ในสถานที่ ที่การสาธารณสุขพื้นฐานไม่ดี ผู้ที่กินอาหารดิบ หรือปรุงสุกๆดิบ และ/หรือ แหล่งผัก ผลไม้ มาจากแหล่งที่ใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย และ/หรือขาดการรักษาความสะอาดในกระบวนการต่างๆในเรื่อง อาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และในการผลิตนม และผลิตพันธ์จากนม เช่น โยเกิร์ต และเนยแข็ง
โรคท้องร่วงอีโคไลมีอาการอย่างไร?
อาการของท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล จะมีระยะฝักตัว(ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนถึงเกิดอาการ) อยู่ในช่วง 1-10 วัน ทั่วไปประมาณ 3-4 วัน โดยอาการหลัก คือ ท้องเสีย/ท้องร่วงเป็นน้ำที่รุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากที่เกิดเฉียบพลัน และอาจมีอุจจาระเป็นเลือดได้ มักร่วมกับ ปวดท้องแบบปวดบีบ/ปวดเกร็ง ร่วมกับกดเจ็บทั่วท้อง
ส่วนอาการอื่นๆที่พบร่วมได้คือ มีไข้ พบได้ทั้งไข้ต่ำ หรือไข้สูงแต่มักไม่เกิน 38.5 องศาเซลเซียส คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเนื้อตัว อ่อนเพลีย ซึ่งโดยทั่วไป อาการจะคงอยู่ประมาณ 2-3 วัน และค่อยๆหายเป็นปกติใน 7-10 วัน
แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะพบเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Hemolytic uremic syndrome(HUS) กล่าวคือ ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น ปัสสาวะน้อยลง ร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด ซีดเพราะมีเม็ดเลือดแดงแตก มีจ้ำห้อเลือดตามตัวจากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งกลุ่มอาการนี้มักเกิดหลังจากท้องเสีย/ท้องร่วงไปแล้วประมาณ 5-10 วัน โดยพบผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไลทั้งหมด และผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้ มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 5%
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไลที่รุนแรง คือ
- เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา
- ผู้สูงอายุ
- ผู้มีโรคประจำตัว
- หญิงตั้งครรภ์
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อ มีท้องเสีย/ท้องร่วง และอาการไม่ดีขึ้นใน 2-3 วันหลังดูแลตนเอง แต่ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดความรุนแรงของโรค ดังกล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงรุนแรง” ผู้ที่มีอาการมาก เช่น ไข้สูง ปวดท้องมาก อุจจาระเป็นเลือด และ/หรือ มีภาวะขาดน้ำ ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
แพทย์วินิจฉัยโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไลได้จาก ประวัติอาการ ประวัติกินอาหาร ประวัติถิ่นพักอาศัย การเดินทาง การท่องเที่ยว การตรวจร่างกาย การตรวจอุจจาระ การตรวจย้อมเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากอุจจาระ และอาจมีการตรวจหาสารพิษ Shiga toxin ที่สร้างจากเชื้อ อีโคไล
รักษาโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล คือ การรักษาและป้องกันภาวะขาดน้ำ ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะจากการศึกษา พบว่า การใช้ยาปฏิชีวนะ มักไม่ช่วยการรักษาโรคนี้
ก. การรักษาป้องกันภาวะขาดน้ำ คือ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจาก ท้องเสีย และ/หรือจากอาเจียน ร่วมกับการกินผงละลายเกลือแร่(ORS) ซึ่งถ้าดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ แพทย์จะพิจารณาให้สารละลาย น้ำเกลือ เพิ่มเติมทางหลอดเลือดดำ
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ คือ การพักผ่อนเต็มที่ การกินอาหารอ่อน(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)จนกว่าอาการจะกลับปกติ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวดท้อง แต่จะไม่ให้ยาแก้ท้องเสีย เพราะจากการศึกษาพบว่า จะทำให้ผู้ป่วยอาการเลวลง และโรคยังอาจจะหายได้ช้าลง
โรคท้องร่วงอีโคไลก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงสำคัญจากโรคท้องเสีย/ท้องร่วง อีโคไล คือ การเกิดกลุ่มอาการ Hemolytic Uremic syndrome ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการ”
โรคท้องร่วงอีโคไลมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ในคนทั่วไป โรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไล เป็นโรคไม่รุนแรงมาก โรคหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 7-10 วัน (เริ่มดีขึ้นประมาณ 3-4 วันหลังท้องเสีย) แต่โรคจะรุนแรงมากในกลุ่มผู้ป่วยมี่มีกลุ่มอาการ Hemolytic uremic syndrome ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “อาการ”
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองที่บ้าน เมื่อมีท้องเสีย/ท้องร่วงจากอีโคไล ได้แก่
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ กรณีได้พบแพทย์แล้ว
- พักผ่อนให้เต็มที่
- กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพราะโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสกับอุจจาระผู้ป่วย
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอกับน้ำที่เสียไปจากอุจจาระและจากอาเจียน อย่างน้อย 8-10 แก้ว
- กิน ORS เสมอเมื่อยังมีท้องเสีย/ท้องร่วง
- ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะทุกครั้ง ก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- รักษาความสะอาดส้วม ถ้าเป็นไปได้แยกส้วมผู้ป่วยกับส้วมคนปกติ
- กินอาหารอ่อนจนกว่าอาการต่างๆจะกลับปกติ
- ออกกำลังกายทุกวัน ตามควรกับสุขภาพ
- หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าจะอุจจาระปกติ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือ อุจจาระร่วงจากอีโคไล ที่พบแพทย์แล้ว และกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง โดยเฉพาะอาการท้องเสีย/ท้องร่วงไม่ดีขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้สูง ปัสสาวะน้อยลงมาก คลื่นไส้ อาเจียน
- อาการต่างๆที่รักษาหายแล้ว กลับมาเป็นใหม่อีก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคท้องร่วงอีโคไลได้อย่างไร?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีน หรือยา ที่สามารถป้องกันโรคท้องเสีย/ท้องร่วงอีโคไลได้ แต่อย่างไรก็ตาม สามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ คือ
1. กินอาหารปรุงสุกทั่วถึงทั้งชิ้นอาหาร ไม่ปรุงสุกๆดิบๆ ปรุงด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป
2. ระวังการดื่มนม และบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมที่ปนเปื้อนอุจจาร หรือที่ไม่ผ่านการ พาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization)
3. ไม่กินอาหารค้างคืน
4. ดื่มแต่น้ำสะอาด
5. ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
6. ดูแลความสะอาดเครื่องปรุง เครื่องใช้ในการประกอบอาหาร ทั้งนี้รวมไปถึงความสะอาดของ ผัก และผลไม้
7. แยกเก็บระหว่างอาหารสด และอาหารปรุงสุกแล้ว เนื้อสดต้องเก็บในภาชนะที่มิดชิด และในตู้เย็นที่อุณหภูมิเย็นจัดเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อและเพื่อลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
8. ผู้ที่มีอาการท้องเสีย/ท้องร่วงต้องงดปรุงอาหาร/ทำอาหารให้ผู้อื่นบริโภค
9. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
10. เลิกใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย
11. มีระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่ดีในเรื่อง ส้วม และในการกำจัดอุจจาระ
บรรณานุกรม
- วิษณุ ธรรมลิขิตกุล และ สมชัย บวรกิตติ. โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ อี.โคไล โอ 104: เอช 4. The Journal of the Royal Institute of Thailand. 2011;36, 42-49
- http://emedicine.medscape.com/article/217485-overview [2018,April21]
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/food-safety/general-food-safety-tips.html [2018,April21]
- http://www.cdc.gov/features/ecoliinfection/ [2018,April21]
- http://www.cdc.gov/ecoli/ [2018,April21]
- https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/escherichia-coli-enteroinvasive.html [2018,April21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Escherichia_coli [2018,April21]
- http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs125/en/ [2018,April21]
Updated 2018,April21