อีโคนาโซล (Econazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 พฤษภาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- อีโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- อีโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- อีโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีโคนาโซลอย่างไร?
- อีโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีโคนาโซลอย่างไร?
- อีโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ(Infectious disease)
- เชื้อรา(Fungal infection)
- เชื้อราช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- โรคกลาก(Tinea)
- โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- โรคน้ำกัดเท้า(Athlete’s foot)
บทนำ
ยาอีโคนาโซล (Econazole) เป็นยาต้านเชื้อรา จัดอยู่ในกลุ่มสารประเภท Azole ที่ถูกนำมารักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังอาทิเช่น โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot or Hong Kong foot) โรคกลาก (Tenea) โรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor) รวมถึงการติดเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณขาหนีบ ต้นขา หรือข้อพับ (Jock itch)
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่พบเห็นได้บ่อยจะเป็นยาครีมขนาดความเข้มข้น 1% ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่ติดเชื้อรา ด้วยเป็นยาใช้ภายนอกและมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายต่ำ แต่ก็ห้ามนำไปใช้กับตา โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยทายาบริเวณที่เป็นเชื้อราเท่านั้นไม่ควรทา ยาเป็นบริเวณกว้าง บางสูตรตำรับยาจะมีการผสมตัวยาสเตียรอยด์เช่น Triamcinolone 0.1% ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ลดอาการคันของผิวหนังในระหว่างการรักษาเชื้อรา นอกจากนี้ยาอีโคนาโซลยังถูกนำไปรักษาการติดเชื้อราบริเวณช่องคลอดอันมีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดแคนดิดา (Vaginal candidiasis, เชื้อราข่องคลอด) โดยใช้ในรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด
อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้รักษาโรคเชื้อราใดๆก็ตามควรต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อประสิทธิผลและประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ
อีโคนาโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอีโคนาโซลมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาเชื้อราที่ผิวหนังเช่น โรคน้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน
- การติดเชื้อราแคนดิดาที่ผิวหนัง (Cutaneous candidiasis)
- การติดเชื้อราแคนดิดาที่ช่องคลอด
อีโคนาโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีโคนาโซลคือ ตัวยาจะก่อกวนไม่ให้เชื้อราสังเคราะห์สาร Ergo sterol ซึ่งเป็นสาระสำคัญสำหรับการสร้างเซลล์เมมเบรน (Cell membrane, เยื่อหุ้มเซลล์) ของเชื้อ ราเป็นเหตุให้เกิดการรั่วของเยื่อหุ้มเซลล์ ส่งผลให้เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด
อีโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีโคนาโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น
- ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 1% (10 มิลลิกรัม/กรัม)
- ยาครีมที่ผสมร่วมกับยา Triamcinolone เช่น Econazole nitrate 1% + Triamcinolone acetonide 0.1%
- ยาเม็ดสำหรับเหน็บช่องคลอดขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
อีโคนาโซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอีโคนาโซลมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้เช่น
ก.ชนิดครีม:
ผู้ใหญ่และเด็ก: ทายาวันละ 1 - 2 ครั้งเป็นเวลา 2 - 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของเชื้อรา ความรุนแรงจากอาการโรค หากเป็นมากอาจต้องทายามากกว่า 1 เดือน โดยยึดถือตามคำสั่ง การใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ
ข.ชนิดเหน็บช่องคลอด:
- ผู้ใหญ่ (ผู้หญิง): เหน็บยาเข้าช่องคลอดวันละครั้งก่อนนอนเป็นเวลา 3 วัน
- เด็กหญิง: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยาเหน็บฯนี้ในเด็กหญิง ดังนั้นการใช้ยาเหน็บฯนี้ในเด็กหญิงจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีโคนาโซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอีโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทายา/ใช้ยาอีโคนาโซลสามารถทายา/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายา/ใช้ยาในเวลาถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายา/ใช้ยาเป็น 2 เท่า
อีโคนาโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีโคนาโซลอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการแสบ คัน ระคายเคือง และแดง ในบริเวณที่ใช้ยา สำหรับสูตรตำรับที่ผสมยา Triamci nolone อาจทำให้เกิดผิวแห้ง มีตุ่มคล้ายสิวเกิดขึ้น ปุ่มรากขนอักเสบ/ผิวหนังอักเสบ มีสีซีดจางของผิวหนังรวมถึงผิวบางในบริเวณที่ทายา
มีข้อควรระวังการใช้อีโคนาโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีโคนาโซลดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยากับตา
- ห้ามรับประทาน
- ห้ามและหลีกเลี่ยงการใช้ยาครีมทาภายในช่องคลอด
- ห้ามใช้ยาอีโคนาโซลครีมที่ผสมยา Triamcinolone กับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงฉีดวัคซีนรวมถึงผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคเริม วัณโรค
- การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากเกิดอาการแพ้ยาระหว่างการใช้ยานี้แล้วรีบไปโรงพยาบาล
- หากเผลอหรือกลืนยานี้ชนิดเหน็บช่องคลอดให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์อาจต้องทำการล้างท้อง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีโคนาโซลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อีโคนาโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากเป็นยาใช้ภายนอกมีการดูดซึมเข้าร่างกายต่ำ จึงยังไม่พบข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยา ของยาอีโคนาโซลกับยารับประทานชนิดใดๆ
ควรเก็บรักษาอีโคนาโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาอีโคนาโซลภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อีโคนาโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีโคนาโซลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Ecocort (อีโคคอร์ท) | HOE Pharmaceuticals |
Ecoderm (อีโคเดอร์ม) | Chew Brothers |
Econ (อีคอน) | General Drugs House |
Ecosone (อีโคโซน) | Qualimed |
Econazine (อีโคนาซีน) | YSP Industries |
Econate-VT (อีโคเนท-วีที) | Incepta |
Ecozol-VT (อีโคซอล-วีที) | Opsonin |
Tricozole (ไตรโคโซล) | Central Poly Trading |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Econazole[2015,April18]
2. http://www.drugs.com/mtm/econazole-topical.html [2015,April18]
3. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01127 [2015,April18]
4. http://reference.medscape.com/drug/ecoza-econazole-topical-343487 [2015,April18]
5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=econazole [2015,April18]
6. http://www.mims.com/USA/drug/info/econazole/?type=full&mtype=generic#Dosage[2015,April18]
7. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Ecocort/?type=brief [2015,April18]
8. http://www.bddrugs.com/product5.php?idn=820&prev=&prev1=&prev2=[2015,April18]