อีเอสอาร์ (ESR test)

บทความที่เกี่ยวข้อง
อีเอสอาร์

อีเอสอาร์ (ESR test หรือ Erythrocyte sedimentation rate ย่อว่า ESR/ อีเอสอาร์) คือ การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูอัตราตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง ซึ่งแพทย์ใช้เป็นตัวช่วยวินิจฉัยยืนยันอาการผู้ป่วยว่า เกิดจากมีการอักเสบของเซลล์/เนื้อเยื่อในร่างกาย และเป็นการตรวจที่สามารถบอกผลได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเกิดโรค

แต่ข้อจำกัดของ อีเอสอาร์ คือ เป็นการตรวจในเบื้องต้น ไม่สามารถบอกได้ว่า การอักเสบนั้นเกิดจากโรค/ภาวะ หรือ สาเหตุอะไร ต้องใช้การตรวจอื่นเข้ามาช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่น อาการผู้ป่วย, การตรวจร่างกาย , การตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน, หรือดูสารก่อภูมิต้านทาน, อาจร่วมกับ การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์ , อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ, และรวมไปถึง การตรวจเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา, และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

อนึ่ง ชื่ออื่นของการตรวจนี้ คือ Sed rate หรือ Sedimentation rate หรือ Westergren sedimentation rate (Alf Vilhelm Albertsson Westergren เป็นชื่อ อายุรแพทย์ชาวสวีเดน ที่คิดวิธีตรวจนี้ในการติดตามผลการรักษาวัณโรคปอด ในปีค.ศ. 1921)

วิธีตรวจ และค่าปกติ:

อีเอสอาร์ เป็นการตรวจที่ง่าย ได้ผลตรวจรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่ต้องมีการเตรียมตัว หรือ อดอาหารก่อนตรวจ *แต่ต้องแจ้งแพทย์ถึง ยา และอาหารเสริม ต่างๆที่กินอยู่ เพราะอาจมีผลทำให้ค่าอีเอสอาร์สูงผิดปกติได้

การตรวจอีเอสอาร์ ทั่วไปคือ เจาะเลือดจากหลอดเลือดดำประมาณ 2 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดทดลองที่ใส่สารป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วทิ้งไว้ให้เลือดตกตะกอน หลังจากนั้นจะอ่านผลที่ 1 ชั่วโมง โดยดูว่า เม็ดเลือดแดงตกตะกอนหนากี่มิลลิเมตร ดังนั้น หน่วยของการตรวจนี้จึงเป็น มิลลิเมตร/ชั่วโมง หรือ มม./ชม (mm/hr) ซึ่งค่าปกติ จะต่างกันเล็กน้อยในแต่ละวิธีการตรวจของแต่ละห้องปฏิบัติการ ทั่วไป ค่าอีเอสอาร์ปกติจะประมาณ

  • ค่าปกติในผู้ใหญ่ ผู้ชาย:
    • อายุต่ำกว่า 50 ปี: น้อยกว่า 15 mm/hr
    • อายุสูงกว่า 50 ปี: น้อยกว่า 20 mm/hr
  • ค่าปกติในผู้ใหญ่ ผู้หญิง:
    • อายุต่ำกว่า 50 ปี: น้อยกว่า 20 mm/hr
    • อายุสูงกว่า 50 ปี: น้อยกว่า 30 mm/hr
  • ค่าปกติในเด็ก:
    • เด็กแรกเกิดอายุไม่เกิน1ปี: 0-2 mm/hr
    • เด็กอายุมากกว่า 1ปีถึงวัยรุ่น : 3-13 mm/hr

ประโยชน์ของการตรวจอีเอสอาร์: แพทย์ใช้เพื่อ

  • วินิจฉัยว่า มีการอักเสบของเซลล์/เนื้อเยื่อในร่างกาย แต่บอกสาเหตุของการอักเสบไม่ได้
  • ใช้ติดตามโรคหลังการรักษาว่า แพทย์ควบคุมโรคได้หรือไม่
  • ใช้ประเมินผลการรักษาว่า ตอบสนองต่อวิธีรักษาหรือไม่

ภาวะปกติที่ทำให้ค่าอีเอสอาร์สูง:

ภาวะปกติที่ทำให้ค่าอีเอสอาร์สูง : แต่จะสูงขึ้นไม่มาก เช่น

  • เพศ: เพศหญิง ค่าฯสูงกว่าเพศชาย
  • อายุ: ค่าฯ สูงขึ้นตามอายุ คือ เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
  • การตั้งครรภ์
  • ช่วงมีประจำเดือน
  • ภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด
  • ยาบางชนิด เช่น
    • ยาฮอร์โมนเพศ ที่รวมถึง ยาเม็ดคุมกำเนิด
    • ยาสเตียรอยด์
    • วิตามินเอ
    • แอสไพริน
    • ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง บางชนิด
    • ยากันชักยาต้านชัก บางชนิด
    • ยาจิตเวชบางชนิด
    • ยาเสพติด

โรคที่ทำให้มีค่าอีเอสอาร์สูง:

โรคที่ทำให้ค่าอีเอสอาร์สูงกว่าปกติมาก: ทั่วไปสูงตั้งแต่ 100 mm/hr เช่น

  • โรคออโตอิมมูน
  • โรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งระบบโลหิตวิทย /มะเร็งโรคเลือด
  • ร่างกายมีภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบบเรื้อรัง เช่น วัณโรค

บรรณานุกรม

  1. https://www.healthline.com/health/esr#procedure [2019,Dec7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Erythrocyte_sedimentation_rate [2019,Dec7]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/2085201-overview#showall [2019,Dec7]
  4. https://www.labcompare.com/10-Featured-Articles/132632-Erythrocyte-Sedimentation-Rate-ESR-Automated-Analysis/ [2019,Dec7]