อีเทรทิเนต (Etretinate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 พฤศจิกายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- อีเทรทิเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีเทรทิเนตอย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีเทรทิเนตอย่างไร?
- อีเทรทิเนตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- เรตินอยด์ (Retinoid)
- Acitretin
บทนำ
ยาอีเทรทิเนต(Etretinate)จัดเป็นสารประเภทเรตินอยด์รุ่นที่ 2 (Second generation retinoids) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินในระยะรุนแรง(Severe psoriasis) ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน ยาอีเทรทิเนตสามารถสะสมอยู่ในชั้นไขมันของร่างกายได้นาน และต้องใช้เวลาถึงประมาณ 120 วันขึ้นไปเพื่อจะกำจัดตัวยาออกจากกระแสเลือดผ่านทางปัสสาวะและน้ำดี และห้ามใช้ยาอีเทรทิเนตกับสตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่มีแผนจะมีบุตร ด้วยตัวยานี้สามารถทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
ปัจจุบันยาอีเทรทิเนต ได้รับความนิยมในการนำมาใช้รักษาโรคน้อยกว่ายา Acitretin ทั้งนี้อาจเป็นเหตุผลที่ร่างกายใช้เวลาเพียงประมาณ 50 ชั่วโมงในการกำจัดยา Acitretin ออกจากกระแสเลือด ทำให้ลดระยะเวลาการสะสมในร่างกายลง ซึ่งดีกว่ายาอีเทรทิเนตนั่นเอง และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือยา Acitretin สามารถออกฤทธิ์ได้เลยด้วยตัวยาเอง ในขณะที่ยาอีเทรทิเนตต้องถูกร่างกายเปลี่ยนไปเป็นยา Acitretin ก่อน ตัวยาอีเทรทิเนตจึงจะออกฤทธิ์ได้
ข้อพึงระวังที่สำคัญๆของการใช้ยาอีเทรทิเนตที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยาในกลุ่ม Retinoid
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็ก ด้วยตัวยาสามารถส่งผลต่อการเจริญเติบโตของมวลกระดูก
- ขณะที่ได้รับยานี้ ห้ามบริจาคโลหิต และห้ามไปจนเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปนับจากหยุดการใช้ยานี้ ด้วยจะเป็นการกระจายตัวยานี้ไปยังผู้ที่รับเลือดได้
- ระหว่างใช้ยานี้ ควรต้องคุมกำเนิด และต้องคุมกำเนิดต่อไปจนหลังจากเสร็จสิ้นการรักษาด้วยยานี้นานอย่างน้อยตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของยาที่สะสมในร่างกายซึ่งสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้
- ระหว่างที่ได้รับยานี้ ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้น
- ควรระวังการใช้ยาอีเทรทิเนตในผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคตับ โรคกระดูก ด้วย ยาอีเทรทิเนตสามารถทำให้อาการโรคเหล่านั้นกำเริบรุนแรงมากขึ้น
- การใช้ยาอีเทรทิเนตสามารถ ทำให้ผิวหนังไว/ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย ขณะใช้ยานี้จึงควรเลี่ยงการออกแดดโดยไม่มีการป้องกันผิวหนังได้รับแสงแดดโดยตรง
- หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่ดูจะรุนแรงเนื่องจากการใช้ยานี้ อาทิเช่น มีแรงดันในสมองสูง(ความดันในกะโหลกศีรษะสูง)
- ถ้าพบอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้ ต้องรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เช่น ตาพร่า ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม ปวดท้อง อ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
ประเทศไทย ไม่พบเห็นการใช้ยานี้ แต่ในต่างประเทศมีการใช้ยาอีเทรทิเนตภายใต้ชื่อการค้าว่า Tigason
อีเทรทิเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีเทรทิเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาโรคสะเก็ดเงินในระยะรุนแรง
อีเทรทิเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีเทรทิเนตคือ หลังการดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหาร จะมีการสะสมยาอีเทรทิเนตในเนื้อเยื่อไขมันของร่างกาย และตัวยานี้จะค่อยๆถูกปลดปล่อยจากเนื้อเยื่อไขมันอย่างต่อเนื่อง และจะถูกร่างกายเปลี่ยนไปเป็นยา Acitretin ซึ่งจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวที่เร็วเกินปกติของเซลล์ผิวหนังในชั้นอิพิทีเรียล (Epithelial, เยื่อบุผิว) ส่งผลให้การขยายตัวของรอยโรคสะเก็ดเงินชะลอตัวลง และเกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
อีเทรทิเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีเทรทิเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม/แคปซูล
อีเทรทิเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีเทรทิเนต มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานวันละ 40 - 50 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทาน 2 – 3 ครั้ง/วัน(ทุก 8-12 ชั่วโมง)ตามแพทย์สั่ง เป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/วัน จากนั้น แพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานลงเป็น 10 – 30 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 1 – 3 ครั้งเช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- หากเผลอรับประทานยานี้เกินขนาด ควรรีบพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อแพทย์/พยาบาลเฝ้าสังเกตอาการ และเพื่อทำการรักษา
- ห้ามหยุดใช้ยานี้หรือปรับขนาดการใช้ยานี้เอง โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือนม ซึ่งมีไขมันเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ช่วยการดูดซึมตัวยานี้ได้ดีขึ้น แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากจนเกินไปเช่นกัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีเทรทิเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคกระดูก โรคตา รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอีเทรทิเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือวางแผนกำลังจะมีบุตร หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาอีเทรทิเนตสามารถส่งผ่านจากมารดาไปถึงทารก และทำให้ทารกได้รับผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีเทรทิเนต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า
แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาอีเทรทิเนต ตรงเวลา
อีเทรทิเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีเทรทิเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น.
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ ตัวเหลืองตาเหลือง และดีซ่าน
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก มือ-เท้ามีอาการบวม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังลอก ผมร่วง ผิวแห้ง เล็บผิดปกติ เช่น แตก/เปราะง่าย เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง ริมฝีปาก-ลิ้นเป็นแผล กระหายน้ำ ไม่สบายในช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อกล้ามเนื้อ : เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน
- ผลต่อตา: เช่น ระคายเคืองที่ตา ตาแห้ง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ
- ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม
*สำหรับผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด ให้สังเกตจาก มีอาการปวดศีรษะ และวิงเวียนอย่างมาก ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบมาโพรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
มีข้อควรระวังการใช้อีเทรทิเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีเทรทิเนต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ยากลุ่มเรตินอยด์
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือใช้ยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะผิวแห้ง/ผิวไหม้จากแสงแดด และระหว่างใช้ยานี้ต้องเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของตับ รวมถึงระดับไขมันในเลือด ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- ควรต้องคุมกำเนิดระหว่างใช้ยานี้ และคุมกำเนิดต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการใช้ยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 3 ปี และต้องงดบริจาคโลหิตระหว่างและหลังครบการใช้ยานี้เป็นเวลาตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีเทรทิเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีเทรทิเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีเทรทิเนต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอีเทรทิเนตร่วมกับยา Methotrexate ด้วยจะเพิ่มพิษต่อตับของผู้ป่วย
- ห้ามใช้ยาอีเทรทิเนตร่วมกับ Vitamin A ด้วยอาจเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากยา ทั้ง 2 ตัวสูงขึ้น
- ห้ามรับประทานยาอีเทรทิเนตร่วมกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีเทรทิเนตร่วมกับเครื่องสำอางที่มีฤทธิ์ขัดลอกผิวหนัง เช่น สบู่กรด ด้วยจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาอีเทรทิเนตอย่างไร?
ควรเก็บยาอีเทรทิเนตในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อีเทรทิเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีเทรทิเนต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tigason (ทิกาซัน) | Chugai Pharmaceutical |
บรรณานุกรม
- http://www.medicinenet.com/etretinate-oral/article.html [2016,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Etretinate [2016,Oct29]
- https://www.drugs.com/mmx/etretinate.html [2016,Oct29]
- http://www.drugbank.ca/drugs/DB00926 [2016,Oct29]
- http://chugai-pharm.jp/hc/ss/pr/drug/tig_cap0025/shiori/PDF/en/tig_s_en.pdf [2016,Oct29]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/2277127 [2016,Oct29]