อีวิงซาร์โคม่า (ตอนที่ 3)

อีวิงซาร์โคม่า-3

      

แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า โรคมะเร็งอีวิงซาโคม่าเกิดจากอะไร แต่เป็นที่ทราบว่า โรคนี้เกิดจากการที่ DNA เปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลต่อยีนที่ชื่อว่า EWSR1

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งอีวิงซาโคม่า ได้แก่

  • อายุ – แม้ว่าโรคมะเร็งอีวิงซาโคม่าจะเกิดได้ในทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กและวัยรุ่น
  • บรรพบุรุษ – ส่วนใหญ่มักเกิดในชาวยุโรป ส่วนน้อยพบในชาวแอฟริกันและเอเชียตะวันออก

สำหรับอาการแทรกซ้อนของโรคมะเร็งอีวิงซาโคม่า ได้แก่

  • มะเร็งแพร่กระจาย (Metastasizes) ไปยังบริเวณอื่นซึ่งทำให้การรักษาและการฟื้นตัวทำได้ยากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีการแพร่กระจายไปที่ปอดและกระดูกส่วนอื่น
  • ผลข้างเคียงระยะยาว - การรักษาโรคมะเร็งอีวิงซาโคม่าสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ทั้งหลายอย่างทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ส่วนการวินิจฉัยโรคมักเริ่มด้วยการตรวจร่างกายและอาศัยวิธีการตรวจ เช่น

  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC)
  • การตรวจสารเคมีในเลือด (Blood chemistry studies) เช่น Lactate dehydrogenase (LDH)
  • ภาพวินิจฉัย (Imaging tests) เช่น เอ็กซเรย์ ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ เพ็ทสแกน การสแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อดูว่ามะเร็งมีหน้าตาอย่างไร แพร่กระจายขนาดไหน
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) เช่น การเจาะชิ้นเนื้อ (Needle biopsy) การผ่าตัดชิ้นเนื้อ (Surgical biopsy) เพื่อดูว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ชนิดไหน ซึ่งมีทั้งการตัดชิ้นเนื้อบางส่วน (Incisional biopsy) และการตัดชิ้นเนื้อทั้งก้อน (Excisional biopsy) ไปตรวจ
  • ทดสอบเซลล์ว่ามีการกลายพันธุ์หรือไม่ (Gene mutations) โดยเฉพาะยีน EWSR1

ทั้งนี้ ชิ้นเนื้อที่ตัดออกอาจจะนำไปทดสอบด้วยวิธี

  • วิเคราะห์โครโมโซม (Cytogenetic analysis) ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่น แตกหัก สูญหาย มีการจัดตัวใหม่ หรือมีโครโมโซมพิเศษเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดมะเร็ง โดยวิธีนี้จะทำให้มีการวางแผนการรักษาได้ดี
  • การย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี (Immunohistochemistry) ซึ่งเป็นการศึกษาโดยการใช้ Antibody ที่มีความจำเพาะสำหรับ Antigen แต่ละชนิดเป็นตัวจับ Antigen นั้นๆ มีประโยชน์ช่วยวินิจฉัยโรคจากเนื้อเยื่อที่ตัดออกมาตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใด
  • Flow cytometry ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของเซลล์ โดยอาศัยหลักการกระเจิงของแสงเลเซอร์เมื่อตกกระทบเซลล์หรือโมเลกุลของสารเรืองแสงที่ติดกับสารภายในเซลล์ ทำให้สามารถวัดขนาดของเซลล์ ทราบถึงความซับซ้อนขององค์ประกอบภายในเซลล์ ทราบถึงชนิดของเซลล์ ทราบปริมาณสารภายในเซลล์

แหล่งข้อมูล:

  1. Ewing sarcoma. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ewing-sarcoma/symptoms-causes/syc-20351071 [2020, August 8].
  2. What Is Ewing’s Sarcoma ? https://www.healthline.com/health/ewings-sarcoma [2020, August 8].
  3. Ewing Sarcoma Treatment (PDQ®)–Patient Versio. https://www.cancer.gov/types/bone/patient/ewing-treatment-pdq [2020, August 8].