อีลีทริปแทน (Eletriptan)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- อีลีทริปแทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีลีทริปแทนอย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีลีทริปแทนอย่างไร?
- อีลีทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ทริปแทน (Triptans)
- ไมเกรน (Migraine)
- Selective serotonin (5-HT1) agonist
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาอีลีทริปแทน (Eletriptan หรือ Eletriptan hydrobromide)เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาทริปแทน(Triptan)รุ่นที่ 2 ทางคลินิกได้นำมาใช้บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรนทั้งชนิดที่ไม่มีออร่าหรือมีออร่า(Aura,เป็นอาการเห็นแสงเป็นเส้นคลื่นและเห็น เป็นจุดดำเกิดนำขึ้นก่อนมีอาการปวดศีรษะ) ยานี้ไม่ได้ใช้เป็นยาป้องกันการเกิดไมเกรน แต่ใช้บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ผู้ป่วยกำลังเป็นอยู่ โดยมีกลไกทำให้หลอดเลือดในสมองหดตัวแคบลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้อาการไมเกรนทุเลาลงได้
ประเทศในซีกโลกตะวันตกได้จดทะเบียนตำรับของยาอีลีทริปแทนตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) และอายุของสิทธิบัตรหมดลงที่เดือนธันวาคม ค.ศ.2016 (พ.ศ.2559) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของ Eletriptan HBr/Hydrobromide ขนาด 20, 40, และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาอีลีทริปแทนถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร แต่จะกระจายตัวเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 50% เท่านั้น ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีเงื่อนไขและข้อห้ามอยู่บางประการที่ทำให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ อาทิเช่น
- เป็นผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคหัวใจ และการไหลเวียนโลหิตไม่ดี อย่างเช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว รวมถึงผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- มียาอื่นบางกลุ่มที่ถูกห้ามใช้ร่วมกับยาอีลีทริปแทน ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)ได้อย่างรุนแรง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Ketoconazole, Itraconazole, Ritonavir, Nelfinavir, Clarithromycin, Troleandomycin, Nefazodone, เพื่อความปลอดภัย ควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาอีลีทริปแทนห่างจากยาเหล่านี้เป็นเวลาอย่างน้อย 72 ชั่วโมง ขึ้นไป
- ห้ามใช้ยาอีลีทริปแทนร่วมกับยารักษาไมเกรนชนิดอื่น อย่างเช่น Dihydroergotamine, Ergotamine รวมถึงยาในกลุ่มทริปแทน(Triptans) ด้วยกัน
- ห้ามใช้ยาอีลีทริปแทนมาบำบัดอาการไมเกรนบางประเภทที่รุนแรงที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น Hemiplegic migraine(อาการไมเกรน ร่วมกับกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่ง) หรือ Basilar migraine (อาการไมเกรน ร่วมกับมีปัญหาในการทรงตัว และมีการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันตามปกติของกล้ามเนื้อ)
- สำหรับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยานี้ที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
โดยทั่วไป การใช้ยาอีลีทริปแทน แพทย์มักให้เริ่มต้นที่ขนาดต่ำๆก่อน โดยรับประทานพร้อมอาหารหรือตอนท้องว่างก็ได้ กรณีที่มีอาการกลับมาปวดหัว/ปวดศีรษะไมเกรนอีกไม่แนะนำให้รับประทานยานี้ซ้ำทันที ในทางคลินิก ให้เว้นระยะห่างของการรับประทานยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป และขนาดรับประทานสูงสุดไม่ควรเกิน 80 มิลลิกรัม/วัน
*ในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาเอีลีทริปแทนเกินขนาด ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะควรได้รับการดูแลโดยใช้หัตถการทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และแพทย์จะเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วย 20 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ยาอีลีทริปแทนยังสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการ วิงเวียน ง่วงนอน อ่อนเพลีย หากพบอาการดังกล่าวหลังรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆหรือการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หรือกรณีที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติหลังใช้ยานี้ ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ยาอีลีทริปแทนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้เป็นยาประเภทยาควบคุมพิเศษ และการใช้ยานี้ต้องมีใบสั่งจากแพทย์มาประกอบการสั่งจ่าย ซึ่งหากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้โดยทั่วไป
อีลีทริปแทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีลีทริปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน ทั้งชนิดที่มีหรือไม่มีออร่า(Aura) ร่วมด้วย
อีลีทริปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยา/ยาอีลีทริปแทนเป็นยาประเภท Selective serotonin (5-HT1) agonist มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อเส้นเลือด/หลอดเลือดในสมอง โดยทำให้เส้นเลือดหดตัว ส่งผลให้การปวดศีรษะไมเกรนบรรเทาลง การรับประทานยานี้ที่ถูกขนาดพบว่า อาการปวดศีรษะไมเกรนจะลดและบรรเทาลงภายในเวลาประมาณ 30 นาทีหลังจากการรับประทานยานี้
อีลีทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีลีทริปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Eletriptan HBr ขนาด 20,40,และ 80 มิลลิกรัม/เม็ด
อีลีทริปแทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีลีทริปแทน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 20 หรือ 40 มิลลิกรัม และรอเวลาให้ยาออกฤทธิ์ หากยังมีอาการปวดไมเกรนอยู่ ให้เว้นระยะเวลาห่างจากการรับประทานยาครั้งแรก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แล้วจึงรับประทานยาครั้งที่ 2 โดยขนาดรับประทานยานี้สูงสุดรวมกันต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ สามารถรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือตอนท้องว่างก็ได้
- ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา: ห้ามใช้ยานี้ เพราะทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านขนาดยา และความปลอดภัยจากยานี้ที่แน่ชัด
อนึ่ง:
- ขนาดรับประทานเริ่มที่ครั้งละ 20 มิลลิกรัม หรือ 40 มิลลิกรัม หรือ 80 มิลลิกรัมตามคำสั่งแพทย์ กรณีที่รับประทานยาในขนาด 80 มิลลิกรัมในครั้งเดียว อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆตามมาได้ง่าย
- ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการไมเกรนประเภทรุนแรงที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น Hemiplegic migraines หรือ Basilar migraines
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา อีลีทริปแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาอีลีทริปแทน อาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่รับประทาน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีลีทริปแทน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อีลีทริปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีลีทริปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดจ้ำเขียว/ห้อเลือดบนผิวหนังจากภาวะเลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดต่ำ มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาเจียน ลำไส้ใหญ่อักเสบ ปวดฟัน ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ปากแห้ง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน ปวดศีรษะ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง พูดไม่ชัด มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก อาการชัก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิต สูงหรือต่ำ ตัวบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก/แน่นหน้าอก
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น เกิดคอพอก เจ็บเต้านม
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก ใบหน้าบวม เกิดผื่นคัน ลมพิษ สีผิวซีดจาง
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมาก
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กระหายน้ำ หิวบ่อย/รับประทานอาหารมากขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง การทรงตัวผิดปกติ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ ปวดตา ตาแพ้แพ้แสงสว่าง/ตากลัวแสง ตาแห้ง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ซึม ฝันแปลกๆ ประสาทหลอน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น คออักเสบ หอบหืด ระบบทางเดินหายใจอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบหายใจ ไซนัสอักเสบ อาจหยุดหายใจถ้ามีอาการแพ้ยานี้เสมหะมาก
- อื่นๆ: ในสตรี อาจพบมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ช่องคลอดอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้อีลีทริปแทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีลีทริปแทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้เป็นยาป้องกันการเกิดอาการไมเกรน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็น โรคหัวใจล้มเหลว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก หรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
- ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีลีทริปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑเสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
อีลีทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีลีทริปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาอีลีทริปแทนร่วมกับยา Ergotamine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือด แคบและตีบลง จนส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา
- การใช้ยาอีลีทริปแทน ร่วมกับยา Fluoxetine อาจก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาอีลีทริปแทน ร่วมกับ Nelfinavir และ Ketoconazole จะทำให้ระดับ ยาอีลีทริปแทนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูงขึ้นติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีลีทริปแทน ร่วมกับยา Amiodarone ด้วยจะทำให้ระดับยา อีลีทริปแทนในกระแสเลือดสูงขึ้นจนเกิดอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอีลีทริปแทนอย่างไร?
ควรเก็บยาอีลีทริปแทน ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อีลีทริปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีลีทริปแทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Relpax (เรลแพกซ์) | Pfizer Inc |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/eletriptan.html [2017,Feb4]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Eletriptan [2017,Feb4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/eletriptan/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/relpax/?type=brief [2017,Feb4]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/eletriptan-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb4]