อีนาลาพริล (Enalapril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอีนาลาพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาอีนาลาพริลอย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาอีนาลาพริลอย่างไร?
- ยาอีนาลาพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคไต (Kidney disease)
- แองจิโอเทนซิน (Angiotensin)
บทนำ
อีนาลาพริล (Enalapril) เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านการบีบตัวของหลอดเลือดแดง (An giotensin converting enzyme inhibitor) ที่วงการแพทย์นำมาใช้รักษา
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไตที่มีต้นเหตุจากโรคเบาหวาน
- และโรคหัวใจล้มเหลวชนิดเรื้อรังบางประเภท
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้อีนาลาพริลเป็นยาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในระบบสุขภาพขั้นพื้น ฐาน สำหรับประเทศไทยกำหนดให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีใช้ในสถานพยาบาลของรัฐทั่วไป เราจะพบเห็นในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทาน อีกทั้งราคาไม่แพงมากจึงรับกับระบบ สาธารณสุขมูลฐานของประเทศเรา
หลังจากร่างกายได้รับอีนาลาพริล ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะจับกับโปรตีนในเลือด 50 - 60% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่อวัยวะตับ ระยะเวลาการออกฤทธิ์ในร่างกายอยู่ในช่วงประมาณ 12 - 24 ชั่วโมง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดประมาณ 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาอีนาลาพริลจัดอยู่ในหมวดยาอันตรายต้องมีการบริหารยาที่จำเพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยานี้ แพทย์เท่านั้นที่จะเป็นผู้สั่งจ่ายยาได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสม
ยาอีนาลาพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาอีนาลาพริลมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยจะใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะ ไซด์ (Thiazide - type diuretics)
- รักษาโรคหัวใจล้มเหลว แพทย์มักจะใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ และยาในกลุ่มดิจิตัลลิส (Digitalis: ยาควบคุมการเต้นของหัวใจเช่น Digoxin)
ยาอีนาลาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอีนาลาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของ Angiotensincon verting enzyme (เอนไซม์ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดง) ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนสารตั้งต้นที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดง (Angiotensin I) ไปเป็นสาร Angiotensin II ที่ควบคุมการบีบตัวของหลอดเลือดแดงได้ ด้วยกลไกนี้จึงลดภาวะการหดตัว/บีบตัวของหลอดเลือดแดง และส่งผลให้ลดความดันโลหิตของร่างกายในที่สุด
ยาอีนาลาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีนาลาพริลจัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 2.5, 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/ เม็ด
ยาอีนาลาพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีนาลาพริลมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับความดันโลหิตสูง
- ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 5 มิลลิกรัม วันละครั้ง
- ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ในช่วง 10 - 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
- หากการควบคุมความดันโลหิตไม่ดีขึ้น อาจใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับอีนาลาพริล
ข. สำหรับโรคหัวใจล้มเหลว
- ขนาดรับประทานเริ่มต้นที่ 2.5 มิลลิกรัม
- ขนาดรับประทานทั่วไปอยู่ในช่วง 2.5 - 20 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง
- ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน
อนึ่ง:
- ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- ขนาดยาในเด็กจะขึ้นกับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก และต้องอยู่ในคำสั่งใช้ยาจากแพทย์เท่านั้น
- หากผู้ป่วยมีภาวะโรคอื่นแทรกซ้อน เช่น โรคไต แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีนาลาพริล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาอีนาลาพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทรวมถึงอีนาลาพริลสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีนาลาพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาอีนาลาพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีนาลาพริลมีผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
- มีอาการวิงเวียน ขณะนั่งหรือนอนเมื่อใช้ยาในช่วงแรก อาจหลีกเลี่ยงอาการวิงเวียนในระยะเริ่มต้นโดยรับประทานยาในช่วงเวลาก่อนนอน
- นอกจากนี้ยังพบอาการไอแห้งๆ และมักทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคหวัดหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน หากอาการไอไม่ดีขึ้น ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ช่วยเปลี่ยนยา
- นอกจากนี้ อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้จากยาอีนาลาพริล เช่น
- อาการผื่นคัน
- คลื่นไส้
- ปวดศีรษะ
- รู้สึกเหนื่อยล้า
*สำหรับอาการข้างเคียงบางอย่าง หากเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เกิดความเสี่ยงและมีอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที อาการดังกล่าว เช่น
- มือ ขา หน้า และปากมีอาการบวม
- หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นเร็ว
- หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีนาลาพริลอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาอีนาลาพริล เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยแพ้ยาอีนาลาพริล
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์เพราะยานี้อาจส่งผลให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ และกับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรเพราะยานี้ผ่านเข้าสู่น้ำนมได้
- หลีกเลี่ยงอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้การออกฤทธิ์ของอีนา ลาพริลลดน้อยลง
- หากมีอาการวิงเวียนหลังรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์หรืองานที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องจักร เพราะอาการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาอีนาลาพริลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาอีนาลาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีนาลาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยาขับปัสสาวะบางตัวอาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยอาจพบอาการ หัวใจเต้นช้า วิงเวียน เป็นลม หรือปวดศีรษะ หากมีอาการดังกล่าวควรต้อง ปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมโดยแพทย์ผู้รักษา ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่นยา Hydrochlorothiazide
- การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยารักษาโรคเกาต์ อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการแพ้ยาอย่าง รุนแรง หากพบเห็นอาการ หน้า ปาก ลิ้นบวม มีผื่นคัน มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง ให้หยุดยา แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ยารักษาโรคเกาต์ดังกล่าว เช่นยา Allopurinol
- การใช้ยาอีนาลาพริลร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs: Non steroidal antiinflam matory drugs) สามารถส่งผลต่อฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตของ อีนาลาพริล อีกทั้งมีความเสี่ยงของการเกิดอันตรายกับไตมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ดังกล่าว เช่นยา Fenoprofen, Ibuprofen, Naproxen
ควรเก็บรักษายาอีนาลาพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาอีนาลาพริล เช่น
- เก็บยาในที่เย็นหรือในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสวาง แสงแดด และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาอีนาลาพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีนาลาพริลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anapril (เอนาพริล) | Berlin Pharm |
Enace (อีแนส) | Unique |
Enam (อีนาม) | Dr Reddy’s Lab |
Enaril (อีนาริล) | Biolab |
Envas (เอ็นวาส) | Cadila |
Iecatec (ไอคาเทก) | Meiji |
Invoril (อินโวริล) | Ranbaxy |
Korandil (โคแรนดิล) | Remedica |
Lapril (ลาพริล) | Pharmasant Lab |
Myopril (มายโอพริล) | Unique |
Nalopril (นาโลพริล) | Siam Bheasach |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Enalapril [2020,Feb1]
2. http://www.rxlist.com/vasotec-drug/side-effects-interactions.htm [2020,Feb1]
3. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=enalapril [2020,Feb1]
4. http://www.mims.com/Thailand/patientmedicine/generic/Enalapril?mononame=Invoril%20tab&tabrecent=3 [2020,Feb1]