อีนอกซาพาริน (Enoxaparin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อีนอกซาพาริน (Enoxaparin) คือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดเป็นยาฉีด ทางการแพทย์นำมาใช้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ, บำบัดภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอดทั้งชนิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหรือไม่มีลิ่มเลือดร่วมด้วย, และช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้นในผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome: ACS), ตัวยาในเภสัชภัณฑ์ คือ อีนอกซาพาริน โซเดียม (Enoxaparin sodium) หรือยาเฮพาริน (Heparin) ที่มีน้ำหนักของโครงสร้างโมเลกุลต่ำนั่นเอง

บริษัทยาระดับโลก Sandoz ของยุโรปได้พัฒนายาอีนอกซาพารินมาจากเมือกที่เคลือบอยู่ในลำไส้เล็กของสุกร (Intestinal mucosa of pig) โดยมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีดที่สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนังและฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

ทั่วไป ตัวยาอีนอกซาพารินในกระแสเลือดจะถูกขับออกจากร่างกายภายในเวลาประมาณ 4.5 ชั่วโมง, ยาอีนอกซาพารินเป็นยาที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาอีนอกซาพาริน หรือต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้ยานี้ เช่น

  • เป็นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเฮพาริน (Heparin) หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาต่างๆ เช่น เบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzylalcohol) หรือเป็นผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากสุกร
  • เป็นผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงในระดับรุนแรง หรืออยู่ในช่วงที่ไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะตกเลือดก็อยู่ในขอบข่ายที่ห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาประเภท Aspirin ยากลุ่ม NSAIDs(เช่น Ibuprofen, Naproxen) ล้วนแล้วแต่เป็นยาที่ส่งเสริมฤทธิ์ของยาอีนอกซาพาริน จนอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายจนเป็นอันตรายติดตามมา
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาต่างๆแทบทุกประเภท รวมยาอีนอกซาพารินด้วย ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็จัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกันเมื่อใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมาเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ยังไม่มีข้อกำหนดขนาดการใช้ยานี้ที่เหมาะสม, ดังนั้นนั้นการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องให้ความระมัดระวัง และเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ เท่านั้น
  • ผู้ป่วยสูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สามารถเกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยานี้ได้ง่ายกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาอีนอกซาพาริน เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีไว้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย, คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และอยู่ในหมวดยาอันตราย โดยมีเงื่อนไขของการใช้ยานี้ ดังนี้

  1. ใช้สำหรับ Deep vein thrombosis และ Pulmonary embolism
  2. ใช้สำหรับ Venous stroke (เนื้อสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดดำในสมองอุดตันจากลิ่มเลือด) และ Cardioembolic stroke (เนื้อสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองอุดตันจากก้อนเลือดเล็กๆ/Emboli ที่หลุดจากหัวใจเข้าสู่หลอดเลือดสมอง)
  3. ใช้กับผู้ป่วย Acute coronary syndrome (ACS) ที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีใส่ท่อขยายหลอดเลือดหัวใจที่เรียกว่า Percutaneous Coronary Intervention

อนึ่ง: ยาอีนอกซาพารินจะมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้ทุกแห่ง

อีนอกซาพารินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

อีนอกซาพาริน

 

ยาอีนอกซาพารินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดรักษาและป้องกันอาการจากภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Treat & Prophylaxis deep vein thrombosis)
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
  • รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome)
  • ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัดช่องท้อง (Deep vein thrombosis prophylaxis after abdominal surgery)
  • ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (Deep vein thrombosis prophylaxis after knee replacement surgery)
  • ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำหลังการผ่าตัดข้อสะโพก (Deep vein thrombosis prophylaxis after hip replacement surgery)

อีนอกซาพารินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอีนอกซาพารินมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านการจับตัวและยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด (Antithrombotic) จึงไม่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด/ลิ่มเลือด จึงเป็นที่มาของฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

อีนอกซาพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอีนอกซาพารินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาฉีด ขนาด 40 มิลลิกรัม/0.4 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 60 มิลลิกรัม/0.6 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 80 มิลลิกรัม/0.8 มิลลิลิตร

อีนอกซาพารินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาอีนอกซาพารินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

ก. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 40 มิลลิกรัมเข้าใต้ผิวหนังวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 - 11 วัน, หรือ 14 วันขึ้นไป

ข. รักษาอาการจากการเกิดลิ่มเลือด: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าใต้ผิวหนังทุกๆ 12 ชั่วโมง, ระยะเวลาการใช้ยาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 วัน, หรืออาจใช้เวลา 7 วันไปจนถึง 17 วัน

ค. บำบัดอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 ชั่วโมง, โดยอาจใช้ร่วมกับยา Aspirin ชนิดรับประทานขนาด 100 - 325 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง, ระยะ เวลาการใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ง. ป้องกันลิ่มเลือดหลังการผ่าตัดเข่าและสะโพก: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 30 มิลลิกรัมทุก 12 ชั่วโมง, ระยะเวลาการใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

จ. ป้องกันลิ่มเลือดหลังการผ่าตัดช่องท้อง: เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 40 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง, ระยะเวลาการใช้ยานี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง:

  • การใช้ยานี้ในแต่ละอาการโรค แพทย์อาจปรับขนาดการให้ยาที่แตกต่างกันออกไปซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • ในเด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป โดยแพทย์จะใช้น้ำหนักตัว, และเกณฑ์ของอายุของผู้ป่วยมาเป็นปัจจัยร่วมในการคำนวณขนาดการใช้ยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีนอกซาพาริน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่โดยเฉพาะแอสไพริน หรือ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด เพราะยาอีนอกซาพารินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

อีนอกซาพารินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอีนอกซาพารินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อระบบโลหิตวิทยา: เช่น อาจมีภาวะโลหิตจาง มีภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ รวมถึงมีภาวะตกเลือด
  • ผลต่ออวัยวะตับ: เช่น เกิดมะเร็งตับ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน หลอดเลือดบริเวณผิวหนังอักเสบ มีภาวะหัวล้าน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะปอดบวม และหายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ และท้องเสีย
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกสับสน และปวดหัว

มีข้อควรระวังการใช้อีนอกซาพารินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอีนอกซาพาริน: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบอื่นในสูตรตำรับยานี้
  • ห้ามฉีดยานี้เข้ากล้ามเนื้อ ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง หรือเข้าหลอดเลือดดำตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะมีเลือดออกหรือตกเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • *หากเกิดภาวะเลือดออกง่าย หรือพบเลือดปนมากับ อุจจาระ ปัสสาวะ, ต้องหยุดการใช้ยานี้ทัน ทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน หรือถ้าผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาลต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที
  • หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลต่างๆ ด้วยอาจเกิดภาวะเลือดไหลออกเป็นปริมาณมาก
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอีนอกซาพารินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อีนอกซาพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอีนอกซาพารินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น:  เช่น

  • การใช้ยาอีนอกซาพาริน ร่วมกับยา Aspirin, Ibuprofen อาจเพิ่มความเสี่ยงด้วยอาการเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอีนอกซาพาริน ร่วมกับยา Quinapril อาจเพิ่มระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น และส่งผลต่อการทำงานของไต,  หัวใจเต้นผิดจังหวะ, มีอาการคล้ายกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต, หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาอีนอกซาพาริน ร่วมกับยา Celecoxib อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร (เลือดออกในทางเดินอาหาร) หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอีนอกซาพารินอย่างไร?

ควรเก็บยาอีนอกซาพาริน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius), อนุโลมให้เก็บยาใน ช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียสได้
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

อีนอกซาพารินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอีนอกซาพาริน  มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Clexane (เคลกเซน) sanofi-aventis

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยาอีนอกซาพาริน  เช่น Lovenox, Xaparin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Enoxaparin_sodium  [2023,March4]
  2. https://www.drugs.com/dosage/enoxaparin.html  [2023,March4]
  3. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=3&rctype=1A&rcno=6100025&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=   [2023,March4]
  4. https://ns.mahidol.ac.th/english/th/departments/MN/th/doc/km54/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%B2%C2%A0Enoxaparin.pdf  [2023,March4]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Clexane/?type=full  [2023,March4]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/enoxaparin-index.html?filter=3&generic_only=  [2023,March4]