อีทิโซแลม (Etizolam)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 มกราคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- อีทิโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีทิโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีทิโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีทิโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีทิโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีทิโซแลมอย่างไร?
- อีทิโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีทิโซแลมอย่างไร?
- อีทิโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
บทนำ
ยาอีทิโซแลม(Etizolam) เป็นยาสังเคราะห์ที่มีกลไกการออกฤทธิ์เลียนแบบกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine) ในต่างประเทศถือเป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการนอนไม่หลับ ลดความวิตกกังวล และภาวะตื่นตระหนก โดยแพทย์จะให้ใช้ยานี้เพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการติดยา หากนำเอายาอีทิโซแลมมาเปรียบเทียบกับยา Alprazolam และ Bromazepam เพื่อรักษาอาการวิตกกังวลภายใน 2–4 สัปดาห์ ยา อีทิโซแลมจะออกฤทธิ์ได้ดีกว่ามาก หรือจะเปรียบเทียบกับยาDiazepam เพื่อรักษาอาการวิตกกังวล พบว่ายาอีทิโซแลมจะมีความแรงกว่ายาDiazepamถึง 6 เท่า
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีทิโซแลม มีทั้งยารับประทาน ยาอม และยาเหน็บทวารหนัก ตัวยาสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 93% และตับจะคอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6.2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ทั้งนี้ยังมีข้อห้ามและข้อควรระวังของยาอีทิโซแลมที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบดังต่อไปนี้
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีภาวะหายใจขัด/หายใจลำบากหรือมีปัญหาทางการหายใจแบบเฉียบพลัน ผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคจิตแบบเรื้อรัง ผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายตนเอง ด้วยตัวยาอีทิโซแลม จะทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนชนิดอื่นโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร รวมถึงกับเด็ก
- เพิ่มความระวังเมื่อต้องใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ติดสุรา หรือมีประวัติติดยาเสพติด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ
- ระวังการติดยา หรือผู้ที่มีพฤติกรรมใช้ยาที่ผิด(Drug abuse) เช่น ปรับขนาดรับประทานเอง หรือใช้ชอบใช้ยาต่างๆนานเกินจากคำสั่งแพทย์ อาจได้รับพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยาอีทิโซแลม อาทิ ง่วงนอนอย่างรุนแรงจนไม่รู้สึกตัว และกล้ามเนื้ออ่อนแรง บางกรณีก็ทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดไม่ชัด ตัวสั่น ตาพร่า ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนกระทั่งสูญเสียความทรงจำ หากพบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
ปัจจุบันยาอีทิโซแลม ยังไม่มีจำหน่ายในไทย แต่มีใช้ในประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างแพร่หลาย ทั้งนี้อาจมีความเกี่ยวพันกับสภาพของเศรษฐกิจและความกดดันจากการทำงาน อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้เป็นเรื่องปลายเหตุ และอาจเกิดอันตรายได้หากใช้แบบผิดวิธี การรักษาและบริหารความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะนอนไม่หลับ โดยไม่ต้องอาศัยยาเป็นทางเลือกต้นๆที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรหันมาใส่ใจ ทั้งนี้มีหลายบทความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเว็บไซด์ หาหมอ.com ที่นำเสนอความเข้าใจและสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
อีทิโซแลมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีทิโซแลมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น ใช้เป็นยาคลายความวิตกกังวล/ ยาคลายเครียด และช่วยให้นอนหลับ
อีทิโซแลมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาอีทิโซแลม มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมอง ที่เรียกกันว่า Benzodiazepine receptor โดยมีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง และทำให้มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารสื่อประสาทต่างๆในสมอง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับยานี้มีอาการ ง่วงนอน คลายความวิตกกังวล และลดความตื่นตระหนก ได้ตามสรรพคุณ โดยยานี้มักออกฤทธิ์ประมาณ 30-50 นาทีหลังการบริโภค
อีทิโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีทิโซแลมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Etizolam 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/เม็ด
อีทิโซแลมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอีทิโซแลมมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: สามารถรับประทานยาได้ถึง 3 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานหรือรับประทานเพียงครั้งเดียวก่อนนอน ซึ่งขนาดการใช้ยานี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยที่แตกต่างกันออกไป
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- ห้ามรับประทานยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ นอกจากจะทำให้เกิดการติดยาตามมาแล้ว ยังมีรายงานว่าผู้ที่ใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดอาการทางใบหน้า คือ หนังตาตก หรือหนังตากระตุก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีทิโซแลม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีทิโซแลม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอีทิโซแลม สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อีทิโซแลมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีทิโซแลมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดสมอง ทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด ตัวสั่น จำอะไรไม่ได้
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง เดินเซ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ซึม
มีข้อควรระวังการใช้อีทิโซแลมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีทิโซแลม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับยาเบนโซไดอะซีปีนชนิดใดๆ นอกจากมีคำสั่งแพทย์
- การใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีทิโซแลมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีทิโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีทิโซแลมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง อาทิ ยารักษาอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ยาต้านฮีสตามีน/ยาแก้แพ้ และยารักษาโรคทางจิตเวชชนิดต่างๆ ด้วยจะก่อให้เกิดฤทธิ์กดการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ตัวยานี้ได้รับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็ว จนเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เกิดอาการวิงเวียนอย่างรุนแรง นอนหลับลึกจนไม่ได้สติ ตามมา
- ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับยา Itraconazole และ Fluvoxamine เพราะจะทำให้ร่างกายกำจัดยาอีทิโซแลมได้น้อยลงจนเกิดการสะสมยาอีทิโซแลมเพิ่มมากขึ้นในร่างกายจนกระทั่งทำให้ได้รับอาการข้างเคียงจากอีทิโซแลมสูงมากขึ้นตามมา
- ห้ามใช้ยาอีทิโซแลมร่วมกับ ยาCarbamazepine เพราะจะเร่งให้ร่างกายทำลายยาอีทิโซแลมได้เร็วมากขึ้นจนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาอีทิโซแลมด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาอีทิโซแลมอย่างไร?
ควรเก็บยาอีทิโซแลมภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
อีทิโซแลมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีทิโซแลม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Arophalm (อะโรฟาล์ม) | Nichi-Iko Pharmaceutical |
Capsafe (แคปเซฟ) | Ohara Yakuhin |
Depas (ดีพาส) | Abbott |
Dezolam (ดีโซแลม) | Taisho Yakuhin |
E1 (อี1) | Aarpik |
Eticalm (อีทิคาล์ม) | Towa Yakuhin |
Etisedan (อีทิซีดาน) | Kyowa Yakuhin |
ETIZOLA (อีทิโซลา) | Macleods |
Etizolam Amel (อีทิโซแลม เอเมล) | Kyowa Yakuhin |
Etizolam EMEC (อีทิโซแลม อีเอ็มอีซี) | Sannova |
Etizolam KN (อีทิโซแลม เคเอ็น) | Kobayashi Kako |
Etizolam Nichi-iko (อีทิโซแลม นิชิ-อิโค) | Nichi-Iko Pharmaceutical |
Etizolam Ohara (อีทิโซแลม โอฮารา) | Ohara Yakuhin |
Etizolam SW (อีทิโซแลม เอสดับเบิลยู) | Medisa Shinyaku |
Etizolam TCK (อีทิโซแลม ทีซีเค) | Tatsumi Kagaku |
Etizolam Towa (อีทิโซแลม โทวา) | Towa Yakuhin |
Etizolan (อีทิโซแลน) | Kobayashi Kako |
Mozun (โมซัน) | Tatsumi Kagaku |
New Zomnia (นิว ซอมเนีย) | Molekule |
Nonnerv (นอนเนอร์บ) | Nisshin Pharmaceutical |
Palgin (พัลจิน) | Fujinaga Seiyaku |
Pasaden (พาซาเดน) | Bayer |
Sedekopan (เซเดโคปัน) | Choseido Pharmaceutical |
Sedekopan 1% (เซเดโคปัน 1%) | Choseido Pharmaceutical |
Sylkam (ซิลคาม) | Dr. Reddy's |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Etizolam[2017,Dec16]
- http://www.mims.com/india/drug/info/etizolam/?type=full&mtype=generic#Indications[2017,Dec16]
- http://www.mims.com/india/drug/info/etizola[2017,Dec16]
- https://www.drugs.com/international/etizolam.html[2017,Dec16]
- https://www.deadiversion.usdoj.gov/drug_chem_info/etizolam.pdf[2017,Dec16]
- http://www.who.int/medicines/access/controlled-substances/CriticalReview_Etizolam.pdf?ua=1[2017,Dec16]