อีด็อกซาแบน (Edoxaban)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 พฤษภาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- อีด็อกซาแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อีด็อกซาแบนอย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอีด็อกซาแบนอย่างไร?
- อีด็อกซาแบนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug)
- น้ำแร่รังสีไอโอดีน (Radioiodine)
บทนำ
ยาอีด็อกซาแบน(Edoxaban) เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant/blood thinner) ทางคลินิกใช้ยานี้เพื่อป้องกัน
- ภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน/ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ(Deep vein thrombosis)
- โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
- ลดความเสี่ยงการเป็นอัมพาตด้วยสมองขาดเลือดในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ไม่มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ (Nonvalvular atrial fibrillation)
- รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาอีด็อกซาแบน เป็นชนิดรับประทาน ร่างกายจะใช้เวลา 1–2 ชั่วโมงเพื่อดูดซึมตัวยานี้จากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด การรับประทานยานี้วันละ1ครั้ งก็สามารถป้องกันและควบคุมการแข็งตัวของเลือดได้แล้ว ยาอีด็อกซาแบนมีการออกฤทธิ์ได้ยาวนาน ร่างกายอาจต้องใช้เวลา 10–14 ชั่วโมงเพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือดและผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดการใช้ยาอีด็อกซาแบนบางประการที่บุคลากรทางการแพทย์จะให้ความสำคัญและเฝ้าระวังระหว่างใช้ยานี้กับผู้ป่วย อาทิ
- ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตโดยวัดจากค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ (Creatinine clearance) มากกว่า 95 มิลลิลิตร/นาที จะทำให้ระดับยาอีด็อกซาแบนในกระแสเลือดลดต่ำลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเป็นอัมพาตด้วยเหตุขาดเลือด(Ischemic stroke) ดังนั้นยานี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์ตั้งแต่ 95 มิลลิลิตร/นาทีลงมา
- การใช้ยานี้ให้เกิดประสิทธิผลทางคลินิก ต้องอาศัยความต่อเนื่องของการใช้ยานี้ กรณีผู้ป่วยหยุดหรือเลิกการใช้ยานี้กะทันหัน(Premature discontinuation) ก็จะเป็นเหตุให้เกิดอัมพาตด้วยสมองขาดเลือดได้เช่นกัน
- กรณีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการให้ยาชาโดยฉีดเข้าน้ำไขสันหลัง จะต้องหยุดการใช้ยา อีด็อกซาแบนเป็นเวลาอย่างต่ำ 12 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเลือดออกในเนื้อเยื่อของไขสันหลังซึ่งอาจส่งผลเป็นอัมพาตในระยะยาว และการจะกลับมาใช้ยาอีด็อกซาแบนได้ใหม่ ต้องกระทำหลังจากการให้ยาชาทางน้ำไขสันหลังไปแล้ว 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ยาอีด็อกซาแบนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาอันตราย และมีขนาดความแรงของยาที่แตกต่างออกไป ผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้จะต้องปฏิบัติตัวตามแนวทางที่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น รับประทานยานี้ตรงขนาดและตรงเวลาในแต่ละวัน ห้ามหยุดรับประทานหรือปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และเราจะพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้/ยานี้ในสถานพยาบาลหลายแห่ง และสามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่ทั่วไป
อีด็อกซาแบนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาอีด็อกซาแบนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ป้องกันภาวะอัมพาตด้วยสมองขาดเลือดจากเหตุหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด Nonvalvular atrial fibrillation
- ใช้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ(Deep vein thrombosis)
- ใช้ป้องกันภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
อีด็อกซาแบนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีด็อกซาแบนคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งเอนไซม์ที่มีชื่อว่า แฟคเตอร์ เทนเอ (Factor Xa) เอนไซม์ดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือด การยับยั้ง แฟคเตอร์ เทนเอ จะทำให้กระบวนการรวมตัวของลิ่มเลือดถูกปิดกั้น ส่งผลป้องกันการอุดตันตามหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดในสมอง หลอดเลือดในปอด ด้วยกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ
อีด็อกซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอีด็อกซาแบนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Edoxaban ขนาด 15, 30, และ 60 มิลลิกรัม/เม็ด
อีด็อกซาแบนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาอีด็อกซาแบนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในสมองของผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
ข. บำบัดภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด และภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 60 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง แต่กรณีผู้ป่วยมีน้ำหนักต่ำกว่า 60 กิโลกรัมลงมา แพทย์จะให้รับประทานยาเพียง 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง และแพทย์อาจพิจารณาใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นที่เป็นยาฉีด
อนึ่ง:
- กรณีค่าครีอะตินีนเคลียรานซ์(Creatinine clearance)อยู่ระหว่าง 15–50 มิลลิลิตร/นาที แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 30 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- การเปลี่ยนจากยาอีด็อกซาแบนเพื่อไปรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ตัวใหม่ แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาอีด็อกซาแบนลงมาเป็น 30 มิลลิกรัม/ วัน หรือถ้าผู้ป่วยใช้ยาอีด็อกซาแบน 30 มิลลิกรัม/วันอยู่แล้ว แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยาลงมาเป็น 15 มิลลิกรัม/วัน โดยใช้ร่วมกับยา Vitamin K antagonist
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดของการใช้ยานี้ในเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีด็อกซาแบน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ โดยเฉพาะ ยาแอสไพริน หรือยาต้านเกล็ดเลือด เพราะการใช้ยาอีด็อกซาแบนร่วมกับยาอื่นๆ อาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาอีด็อกซาแบน สามารถรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับยาอีด็อกซาแบนต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา
อีด็อกซาแบนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาอีด็อกซาแบนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบโลหิตวิทยา: เช่น อาจมีภาวะโลหิตจาง เลือดออกง่าย มีเลือดออกในสมอง เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดเลือดออกใต้ผิวหนัง อาจพบผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- อื่นๆ: เกิดเลือดประจำเดือนมาผิดปกติในผู้ป่วยสตรี
*อนึ่ง: การได้รับยาอีด็อกซาแบนเกินขนาด จะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายตามมา แพทย์อาจใช้ยา Protamine sulfate, Vitamin k และ Tranexamic acid เพื่อบรรเทาและป้องกันภาวะเลือดออกง่ายดังกล่าว
มีข้อควรระวังการใช้อีด็อกซาแบนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอีด็อกซาแบน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบอื่นในสูตรตำรับยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจาก มีคำสั่งแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้อย่างกะทันหัน
- หากเกิดภาวะเลือดออกง่ายหรือพบเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลต่างๆ ด้วยอาจเกิดภาวะเลือดไหลออกเป็นปริมาณมาก
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอีด็อกซาแบนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อีด็อกซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอีด็อกซาแบนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาอีด็อกซาแบนร่วมกับยา Aspirin , Ibuprofen อาจเพิ่มความเสี่ยง ด้วยอาการเลือดออกง่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีด็อกซาแบนร่วมกับยา Phenytoin , Dexamethasone เพราะจะทำให้ระดับยาอีด็อกซาแบนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลให้ยาอีด็อกซาแบนด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันการรวมตัวของก้อนลิ่มเลือด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีด็อกซาแบนร่วมกับยาน้ำแร่รังสีไอโอดีน(Sodium iodide-I -131)ด้วยจะทำให้ผลการวินิจฉัยของ Sodium iodide-i-131 ผิดเพี้ยนไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาอีด็อกซาแบนร่วมกับ ยาSugammadex(ยาต้านฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ) เพราะอาจทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาในการยับยั้งภาวะเลือดออกนานกว่าปกติ
ควรเก็บรักษาอีด็อกซาแบนอย่างไร?
ควรเก็บยาอีด็อกซาแบนภายใต้อุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
อีด็อกซาแบนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีด็อกซาแบน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Savaysa (สเวย์ซา) | Daiichi Sankyo |
Lixiana (ลิซิอะนา) | Daiichi Sankyo |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/206316lbl.pdf [2018,May5]
- https://www.drugs.com/dosage/edoxaban.html [2018,May5]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/lixiana/?type=brief [2018,May5]
- https://www.youtube.com/watch?v=cy3a__OOa2M [2018,May5]
- https://www.drugs.com/sfx/edoxaban-side-effects.html [2018,May5]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/edoxaban-index.html?filter=2#P [2018,May5]