อิโนโทรปิกเอเจนต์/อิโนโทรป (Inotropic agent /Inotropes)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้อิโนโทรปิกเอเจนต์อย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาอิโนโทรปิกเอเจนต์อย่างไร?
- อิโนโทรปิกเอเจนต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
บทนำ
ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์(Inotropic agent) หรือจะเรียกอีกชื่อว่า ยาอิโนโทรป (Inotropes) เป็นกลุ่มยาที่ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท/กลุ่ม ดังนี้
ก. โพสิทีฟ อิโนโทรป (Positive inotropes): เป็นหมวดยาที่ทำให้หัวใจมีแรงบีบตัวมากขึ้น ส่งผลเพิ่มปริมาณเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ถึงแม้จะมีจังหวะการเต้นของหัวใจต่ำๆ ทางคลินิกได้นำยากลุ่มนี้มาใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย หรือ ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ในบางกรณีก็นำไปใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจแล้วเกิดอาการช็อก (Cardiogenic shock)ตามมา ตัวอย่างยากลุ่มนี้ที่เด่นชัด คือยา Digitalis โดยตัวยานี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นเพิ่มปริมาณแคลเซียมเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่มขึ้น
ข.เนกาทีฟ อิโนโทรป (Negative inotropes): เป็นหมวดยาที่มีฤทธิ์ตรงกันข้ามกับกลุ่มยาโพสิทีฟ อิโนโทรป คือทำให้แรงบีบตัวของหัวใจลดน้อย จนทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทางคลินิกจึงนำมาใช้รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางครั้งยากลุ่มนี้ยังถูกนำไปช่วยลดอาการและป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอีกด้วย ตัวอย่างยากลุ่มเนกาทีฟ อิโนโทรป ได้แก่ยากลุ่ม Beta-blockers, Calcium channel blockers, รวมถึงยากลุ่มรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยยาทั้ง 3 กลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันออกไป
ด้วยฤทธิ์และความแตกต่างของยาอิโนโทรปิกเอเจนต์แต่ละกลุ่ม ส่งผลให้การใช้ยาแต่ละตัว มีความแตกต่างกันออกไป แพทย์เท่านั้นที่จะใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆซึ่งมักจะมียารักษาโรคประจำตัวดังกล่าวด้วย ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง ด้วยยาต่างๆเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน/ ปฏิกิริยาระหว่างยากับกลุ่มยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ได้
ทั้งนี้ อาจจะจำแนกยาต่างๆที่เสี่ยงต่อการใช้ร่วมกับยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ได้ดังนี้ เช่น
- กลุ่มยาลดไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol-lowering medicines)
- ยาลดน้ำหนัก (Diet pills)
- ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก (Laxative drug)
- ยารักษาอาการท้องเสีย/ยาแก้ท้องเสีย (Anti-diarrhea medicines)
- ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม(Aluminium) เช่น Aluminium hydroxide หรือ แมกนีเซียม(Magnesium) เช่น Magnesium hydroxide
- ยาแก้ไอ
- ยาแก้หวัด
- ยาแก้แพ้ อย่างเช่น ในการบรรเทาอาการในโรค ไข้ละอองฟาง ไซนัสอักเสบ และ ยาหยอดตาเพื่อรักษาอาการตาแดงจากอาการแพ้
แพทย์/เภสัชกร สามารถให้คำอธิบายการใช้ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ร่วมกับยากลุ่มดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยากลุ่มอิโนโทรปิกเอเจนต์ควรหลีกเลี่ยงและจำกัดการดื่มสุรา ชา กาแฟ และรวมถึงน้ำผลไม้ อย่างเช่น Grapefruit juice เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ได้
ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการของโรคหัวใจก็จริง แต่ผู้ป่วยจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยละเอียดถึงอาการโรคหัวใจที่เป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติหรือมีโรคลิ้นหัวใจ เช่น ภาวะลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic stenosis)
- ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นช้า ซึ่งถือเป็นข้อที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาDigitalis นอกเสียจากผู้ป่วยมีการใช้ตัวคุมจังหวะการเต้นของหัวใจที่เรียกว่า Peacemakers
ยังมีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ เช่น สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ การใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ด้วยตัวยาอิโนโทรปิกเอเจนต์สามารถส่งผลต่อทารกรวมถึงการทำงานของอวัยวะ ตับ ไต ต่อมไทรอยด์ และอาจก่อให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงร้ายแรงต่ออวัยวะต่างๆดังกล่าวตามมา
ผู้ที่ได้รับยากลุ่มอิโนโทรปิกเอเจนต์ จะต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยยากลุ่มนี้ยังทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้หลายประการ เช่นผลต่อ การทำงานของหัวใจ ผลต่อความดันโลหิต ผลต่อการทำงานของระบบประสาท ผลต่อการทำงานของฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย รวมถึงการมองเห็นภาพของตา
กรณีพบเห็นอาการข้างเคียงที่ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้เกิดปัญหา ผู้ป่วยควรต้องรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ช่วยแก้ไขและปรับแนวทางการรักษา
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ทั้งนี้ จำแนกสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ตามประเภทของยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ดังนี้
ก. Positive inotropes: รักษาภาวะหัวใจวาย อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ป้องกันภาวะช็อกระหว่างผ่าตัดหัวใจ
ข. Negative inotropes: รักษาโรคความดันโลหิตสูง อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สามารถจำแนกกลไกการออกฤทธิ์ตามประเภทยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ดังนี้
ก. Positive inotropes: เช่นยา Digitalis จะกระตุ้นการเพิ่มปริมาณแคลเซียม(ที่ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ)เข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น ส่งผลให้หัวใจมีแรงบีบตัวและช่วยลดอาการหัวใจวายได้ตามสรรพคุณ
ข. Negative inotropes: เช่นยา
- Beta-blockers: ตัวยามีการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ Beta receptor ในเนื้อเยื่อหัวใจ จึงก่อให้เกิดการปิดกั้นการทำงานของสาร Adrenaline ส่งผลให้การนำกระแสประสาทบริเวณหัวใจช้าลง ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจโดยทำให้หัวใจทำงานเบาลง
- Calcium channel blockers: ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ทำให้การส่งผ่านแคลเซียมเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจและผนังหลอดเลือดช้าลง ทำให้เกิดการคลายตัวของหลอดเลือด จนเป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ด้วยกลไกนี้จึงทำให้ความดันโลหิตลดลงกลับมาเป็นปกติ
- Antiarrhythmic medicines(ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ): กลุ่มยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ จะทำให้การนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจช้าลง ซึ่งมีผลทำให้การเต้นและการบีบตัวของหัวใจกลับมาเป็นปกติดังเดิม
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น
- ยาฉีด
- ยารับประทานทั้งรูปแบบชนิด เม็ด แคปซูล และน้ำ
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การบริหารยา/ใช้ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาการโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งอาจมีความรุนแรงแตกต่างกัน การใช้ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะรักษา หรือเพื่อป้องกันอาการป่วย ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ย่าแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิโนโทรปิกเอเจนต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ สามารถทำให้อาการป่วยของหัวใจทรุดลง
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อิโนโทรปิกเอเจนต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสีย เลือดออกที่เหงือก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน เป็นลม ปวดศีรษะ สมรรถภาพทางเพศถดถอย
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเหงื่อออกมาก เกิดผื่นคัน
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น หน้าอกโตในบุรุษ/ผู้ชายมีเต้านม
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ตาแพ้แสงสว่างง่าย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก เลือดกำเดาออกง่าย
อนึ่ง อาการข้างเคียงเหล่านี้ อาจเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ด้วยการตอบสนองของร่างกายของผู้ป่วยมีความแตกต่างกันออกไป หากพบอาการข้างเคียงต่างๆที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถกลับมาปรึกษาแพท/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้อิโนโทรปิกเอเจนต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดการรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สียาเปลี่ยน ยามีตะกอนกรณีเป็นยาน้ำหรือยาฉีด
- ห้ามรับประทานยานี้กับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ผู้ป่วย โรคไต โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ โรคไขมันในเลือดสูง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับ น้ำชา กาแฟ น้ำผลไม้เช่น Grapefruit juice
- หลีกเลี่ยงการเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้ ตื่นตระหนก ตกใจ เสียใจ การทำจิตใจให้ผ่องใส-สบาย สามารถช่วยให้อาการป่วยทุเลาได้เร็วขึ้น
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยา เช่น ใบหน้าและริมฝีปากบวม หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Digitoxin, Adenosine, และ/หรือ Calcium gluconate, ร่วมกัน อาจก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การรับประทานยากลุ่ม Beta-blockers ร่วมกับ ยากันชัก เช่น Phenobarbital อาจลดประสิทธิภาพในการทำงานของยา Beta-blockers ลง หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การรับประทานยากลุ่ม Calcium channel blockers อย่าง Nifedipine หรือ Diltiazem ร่วมกับยาลดกรดบางตัว เช่น Cimetidine อาจเพิ่มความเป็นพิษกับหัวใจมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic medicines) ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Coumadin หรือ Warfarin อาจทำให้มีภาวะเลือดออกได้ง่าย กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาอิโนโทรปิกเอเจนต์อย่างไร?
ควรเก็บยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ตามเงื่อนไขหรือคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์
อิโนโทรปิกเอเจนต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอิโนโทรปิกเอเจนต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Crystodigin (คริสโทดิจิน) | Lilly |
Cardial (คาร์ดิออล) | T. Man Pharma |
Grexin (เกรกซิน) | Pharmasant Lab |
Lanoxin (ลาน็อกซิน) | Aspen Pharmacare |
Toloxin (โทล็อกซิน) | T.O. Chemicals |
Brevibloc (เบรวิบล็อก) | Baxter Healthcare |
Caraten (คาราเทน) | Berlin Pharm |
Dilatrend (ไดลาเทรน) | Roche |
Tocarlol 25 (โทคาร์ลอล 25) | T. O. Chemicals |
Cardoxone R (คาร์ดอซอน อาร์) | Remedica |
Meloc (เมล็อก) | T. Man Pharma |
Melol (เมลอล) | Pharmasant Lab |
Metoblock (เมโทบล็อก) | Silom Medical |
Metoprolol (เมโทโพรลอล) | Stada |
Metprolol (เมทโพรลอล) | Pharmaland |
Sefloc (เซฟล็อก) | Unison |
Bisloc (บิสล็อก) | Unison |
Concor (คอนคอร์) | Merck |
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) | Sriprasit Pharma |
Novacor (โนวาคอร์) | Tri Medical |
Nebilet (เนบิเลท) | Menarini |
Ambes (แอมเบส) | GPO |
Amcardia (แอมคาร์เดีย) | Unique |
Amlod (แอมลอด) | Unison |
Amlodac (แอมโลแดค) | Zydus Cadila |
Amlopine (แอมโลปีน) | Berlin Pharm |
Amvas (แอมวาส) | Millimed |
Deten (ดีเทน) | Siam Bheasach |
Lovas (โลวาส) | Millimed |
Narvin (นาร์วิน) | T.O. Chemicals |
Norvasc (นอร์วาส) | Pfizer |
Fedil SR (เฟดิล เอสอาร์) | Standard Chem & Pharm |
Felim (เฟลิม) | Sandoz |
Felodipin Stada (เฟโลดิปิน สตาดา) | Stada |
Felodipine Sandoz (เฟโลดิปีน แซนดอซ) | Sandoz |
Felopine 5 (เฟโลปีน 5) | Berlin Pharm |
Feloten (เฟโลเทน) | Biolab |
Plendil (เพลนดิล) | AstraZeneca |
Topidil (ทอพิดิล) | T.O. Chemicals |
Lercadip (เลอร์คาดิพ) | Abbott |
บรรณานุกรม
- http://www.texasheart.org/HIC/Topics/Meds/inotropic.cfm [2017,Feb18]
- https://www.drugs.com/drug-class/inotropic-agents.html [2017,Feb18]
- http://www.texasheart.org/HIC/Topics/Meds/digimeds.cfm [2017,Feb18]
- http://www.texasheart.org/HIC/Topics/Meds/betameds.cfm [2017,Feb18]
- http://www.texasheart.org/HIC/Topics/Meds/calcmeds.cfm [2017,Feb18]
- http://www.texasheart.org/HIC/Topics/Meds/antiarrh.cfm [2017,Feb18]