อิมิพรามีน (Imipramine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาอิมิพรามีน (Imipramine) จัดเป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มยา Tricyclic antidepressant (TCA) และอีกวัตถุประสงค์หนึ่งได้นำยานี้ไปรักษาอาการปัสสาวะรดที่นอน (Nocturnal enuresis) ซึ่งเกิดได้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี

รูปแบบของยาอิมิพรามีน ยาแผนปัจจุบัน จะผลิตเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน สำหรับยาฉีดอาจพบเห็นการใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้น

จากการศึกษาการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายมนุษย์พบว่า ยาอิมิพรามีนสามารถดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 94 - 96% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 86% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ และร่างกายต้องใช้เวลา 9 - 20 ชั่วโมงเป็นอย่าง ต่ำในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก และบางส่วนถูกขับออกไปกับอุจจาระ นอกจากนี้ยาอิมิพรามีนยังขับผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้อีกด้วย

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุวัตถุประ สงค์ใช้รักษาอาการซึมเศร้า

สำหรับการใช้ยานี้ มีข้อจำกัดและข้อห้ามใช้ปลีกย่อย ที่ต้องนำมาประกอบในการพิจารณาการสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยเช่น ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับยากลุ่ม MAOI ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและห้ามปรับขนาดรับประทานยาเอง

อิมิพรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

อิมิพรามีน

ยาอิมิพรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการซึมเศร้า
  • รักษาอาการปัสสาวะรดที่นอนในเด็กช่วงอายุ 6 - 12 ปี
  • รักษาอาการปวดจากโรคมะเร็งในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

อิมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมิพรามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับหรือการหลั่ง สารสื่อประสาทชนิดต่างๆในสมองของผู้ป่วย เช่น ยับยั้งการดูดกลับของสาร Noradrenaline และ Serotoninในเซลล์ประสาท, มีการดูดกลับของสาร Dopamine แต่นำไปปลดปล่อยให้ตัวรับ/ หน่วยรับความรู้สึก (Receptor) ที่เรียกว่า D1 และ D2 receptor และยังปิดกั้นการทำงานของสารสื่อประสาทจำพวก Acetylcholine ในสมองและที่ประสาทส่วนปลาย ซึ่งด้วยกลไกที่กล่าวมาข้างต้นจึงส่งผลให้ยาอิมิพรามีนมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

อิมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาอิมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10, 25 และ 50 มิลลิ กรัม/เม็ด

อิมิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอิมิพรามีนมีขนาดรับประทานแตกต่างกันตามชนิดของโรค ซึ่งต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยเท่านั้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะกรณี ใช้ยานี้เพื่อควบคุมรักษาอาการซึมเศร้า เช่น

สำหรับอาการโรคซึมเศร้า:

  • ผู้ใหญ่:
    • ผู้ป่วยที่ต้องบำบัดรักษาในสถานพยาบาล เริ่มต้นรับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
    • ผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้บำบัดอาการในสถานพยาบาล รับประทาน 75 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 3 - 4 ครั้ง/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป: รับประทาน 30 - 40 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นแพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้แต่ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 1 - 12 ปี: เริ่มต้นรับประทาน 1.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับ ประทาน 3 ครั้ง/วัน และทุกๆ 3 - 4 วัน แพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดการใช้ยาอีก 1 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 13 - 18 ปี: รับประทาน 30 - 40 มิลลิกรัม/วัน หากจำเป็นแพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดรับประทาน แต่ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/วัน

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอิมิพรามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอิมิพรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอิมิพรามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อิมิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาอิมิพรามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปากคอแห้ง
  • หงุดหงิด
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ฝันร้าย
  • รูม่านตาขยาย
  • ผิวแพ้แสงแดด (ผิวหนังอักเสบ ผื่น แดง คัน)
  • เหงื่อออกมาก
  • รู้สึกปั่นป่วนในกระเพาะอาหาร
  • อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดก็ได้
  • สับสน
  • ท้องผูก
  • เป็นลม
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • มีไข้
  • ปัสสาวะขัด
  • จิตหลอน/ประสาทหลอน
  • อารมณ์แปรปรวน
  • คิดฆ่าตัวตาย
  • การควบคุมกล้ามเนื้อแขน - ขาไม่ปกติ
  • นอนไม่หลับ

*อนึ่ง: หากแพ้ยานี้สามารถพบอาการ

  • ผื่นคัน
  • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • แน่นหน้าอก
  • ใบหน้า –ปาก - ลิ้นบวม
  • เจ็บหน้าอก

***ซึ่งหากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที

มีข้อควรระวังการใช้อิมิพรามีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการยาใช้อิมิพรามีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยจะทำให้มีไข้สูงหรือเสี่ยงต่อการเกิดการชัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้มีอาการข้างเคียง/ผลข้าง เคียงที่รุนแรงติดตามมา
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเองเด็ดขาด การได้รับยานี้เกินขนาดสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต (ตาย) ได้โดยเฉพาะในเด็กจะมีความเสี่ยงมากกว่าในผู้ใหญ่
  • การใช้ยานี้กับผู้สูงอายุต้องคอยตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG/ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี) อย่างสม่ำเสมอ
  • ขณะใช้ยานี้ให้ระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจากอาการง่วงนอนเพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยต้อหินชนิด Angle-clasure glaucoma ผู้ป่วยที่ขับถ่ายปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด ผู้ป่วยเนื้องอกของต่อมหมวกไต ชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma)
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอิมิพรามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

อิมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอิมิพรามีน ร่วมกับ ยาแก้แพ้ เช่นยา Chlorpheniramine จะทำให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยาอิมิพรามีนเพิ่มมากขึ้น เช่น มีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เหงื่อออกน้อย ใบหน้าแดง ปัสสาวะขัด ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว สับสน ความจำเสื่อม จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาอิมิพรามีน ร่วมกับ ยาบรรเทาอาการโรคหวัด เช่นยา Phenylpropanolamine อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง มีไข้ ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาอิมิพรามีน ร่วมกับ ยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา Cisapride อาจทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ การจะใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เป็นผู้พิจารณาในการสั่งจ่ายเท่านั้น
  • การใช้อิมิพรามีน ร่วมกับ ยาที่ใช้รักษาภาวะช็อก หรือรักษาอาการความดันโลหิตต่ำ เช่นยา Dopamine จะต้องคอยควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่เสมอ การใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาอิมิพรามีนอย่างไร?

ควรเก็บยาอิมิพรามีน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อิมิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอิมิพรามีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Celamine (เซลามีน) Central Poly Trading
Inpramine (อินพรามีน) Inpac Pharma
Minapine (มินาปีน) Medicpharma
Mipramine (มิพรามีน) Inpac Pharma
Sermonil (เซอร์โมนิล) Pharmaland
Topramine (โทพรามีน) Condrugs
TOFRANIL (โทฟรานิล) Mallinckrodt, Inc.

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=imipramine [2020,Sept12]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fimipramine%3fmtype%3dgeneric [2020,Sept12]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Imipramine [2020,Sept12]
  4. https://www.drugs.com/cdi/imipramine-tablets.html [2020,Sept12]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/imipramine-index.html?filter=3&generic_only= [2020,Sept12]
  6. https://www.drugs.com/pro/imipramine.html [2020,Sept12]
  7. https://www.rxmed.com/b.main/b2.pharmaceutical/b2.1.monographs/CPS-_Monographs/CPS-_(General_Monographs-_T)/TOFRANIL.html [2020,Sept12]