อินโดเมธาซิน (Indomethacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 4 เมษายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาอินโดเมธาซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาอินโดเมธาซินออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาอินโดเมธาซินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาอินโดเมธาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาอินโดเมธาซินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาอินโดเมธาซินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวัง หรือ ข้อห้าม ในการใช้ยาอินโดเมธาซินไหม?
- ควรเก็บรักษายาอินโดเมธาซิน อย่างไร?
- ยาอินโดเมธาซินมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กลุ่มยาแก้ปวด และยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคข้อ (Joint disease)
- เกาต์ (Gout)
- โรคกล้ามเนื้อ โรคระบบกล้ามเนื้อ (Muscle disease)
- กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS / Premenstrual syndrome)
บทนำ
ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) เป็นยาอีกชนิดที่อยู่ในกลุ่มยาแก้ปวดซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับยาเอนเสดหรือยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs ย่อมาจาก non- steroidal anti inflammatory disease)
ยาอินโดเมธาซินมีสรรพคุณอย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ของยาอินโดเมธาซิน เช่น
- บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อกระดูกชนิดเรื้อรังติดต่อกันนานเป็นเดือน
- บรรเทาอาการ ปวดประจำเดือน ที่ปวดน้อยๆไปจน ถึงระดับปานกลาง และ
- บรรเทาอาการปวดจากโรคเกาต์ (Gout)
ยาอินโดเมธาซินออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอินโดเมธาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglan din) ในร่างกายซึ่งเป็นสารก่ออาการปวด
ยาอินโดเมธาซินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาอินโดเมธาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้
- ยาเม็ด และ แคปซูล ขนาด 25 มิลลิกรัม และ ขนาด 50 มิลลิกรัม
- ยาสเปรย์
- ยาเจลสำหรับการทา
- ยาฉีด ขนาด 8 มิลลิกรัมในน้ำยา 1 มิลลิลิตร
- ยาเหน็บ ขนาด 50 มิลลิกรัม และขนาด 100 มิลลิกรัม
ยาอินโดเมธาซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาอินโดเมธาซินสำหรับผู้ใหญ่: ขนาดสูงสุดที่รับประทานไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัม/วัน ควรรับประทานยาพร้อมหรือหลังอาหารทันทีเพื่อลดการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร
ยา อินโดเมธาซิน จัดเป็นยาอันตราย และมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียงสูง) จึงไม่ควรซื้อยากินเอง ควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น โดยเฉพาะในเด็กการใช้ยานี้ควรเป็นการแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาอินโดเมธาซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น /หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ เพราะยานี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ / มีครรภ์ หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยามักผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาอินโดเมธาซิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า และสามารถหยุดยาได้เมื่อหายจากอาการปวด แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
ยาอินโดเมธาซินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง ) ของยาอินโดเมธาซิน เช่น
- ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารและลำไส้
- ปวดหัว
- หูอื้อ
- นอนไม่หลับ
- อาจทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน และ
- อาจเป็นสาเหตุให้ไตวาย
ยาอินโดเมธาซิน มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ปฏิกิริยาระหว่างยา อินโดเมธาซินเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น
- การกินยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์จะเพิ่มความเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ (เลือดออกในทางเดินอาหาร)
- การกินยานี้ร่วมกับยาลดความดันโลหิต(ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง)จะทำให้ประสิทธิภาพการลดความดันโลหิตน้อยลง และอาจก่อให้เกิดภาวะไตวาย กลุ่มยาลดความดันโลหิต เช่นยา อะลาซีพริล (Alacepril) และ แอลพรีโนลอล (Alprenolol)
- การกินยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด จะเสริมฤทธิ์กันและก่อให้เกิดภาวะเลือด ออกในกระเพาะอาหารได้ง่าย ซึ่งกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) และ วอร์ฟาริน (Warfarin sodium)
- การกินยานี้ร่วมกับยาจิตเวช อาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาของยาจิตเวชให้มากขึ้น เช่นยา กลุ่มยาลิเทียม (Lithium Sulphate) เป็นต้น
มีข้อควรระวังหรือข้อห้ามในการใช้ยาอินโดเมธาซินไหม?
ข้อควรระวังการใช้ยาอินโดเมธาซิน เช่น
- ห้ามช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังหลังกินยานี้แล้วอาจทำเกิด ความดันโลหิตสูง, ภาวะหัวใจล้มเหลว ,
บวมน้ำ, ชัก, ตัวสั่น (Parkinson) และ
- ถ้าต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง ควรต้องตรวจสอบการทำงานของไตร่วมด้วยเพราะอาจส่งผลให้ไตวายได้ในหญิงมีครรภ์โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก เพราะอาจส่งผลให้เกิดความพิการของทารกได้
- ในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้ อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร) ได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
*****อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาอินโดเมธาซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาอินโดเมธาซินอย่างไร?
การเก็บรักษายาอินโดเมธาซิน เช่น
- ควรเก็บยาให้พ้นแสงแดด
- เก็บยาในที่แห้งไม่มีความชื้น
- ถ้ายาเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม (เช่น สีเปลี่ยน เม็ดหรือแคปซูลแตกหัก) ให้ทำลายทิ้ง
- ควรต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
ยาอินโดเมธาซิน มีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อทางการค้าและบริษัทผู้ผลิต ยาอินโดเมธาซิน เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
M-Cin (เอ็มซิน) | Macro Phar |
Docin (โดซิน) | Pharmasant Lab |
Elmetacin (เอลมีทาซิน) | Medinova |
Elmego (เอลมีโก) | Chinta |